ฟ้องหยุด “ตึกสูงซอยแคบ” และ จนท.รัฐ ละเลยหน้าที่

สภาผู้บริโภคสนับสนุนทนายความยื่นฟ้องคดีปกครองปัญหาตึกสูงในซอยแคบ ร่วมแก้ปัญหาที่ต้นเหตุละเมิดสิทธิชุมชนเดิม และเพื่อป้องกันปัญหาผู้บริโภคที่อาจได้รับความเสียหายจากการซื้อโครงการในอนาคต

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้บริโภค พร้อมด้วยทนายความและผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างโครงการ “เอส-ประดิพัทธ์” ในซอยประดิพัทธ์ 23 ของบริษัท แสนสิริ โฮลดิ้ง ซิกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนใบอนุญาตต่าง ๆ ของการก่อสร้างโครงการดังกล่าว รวมถึงการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้อยู่อาศัยเดิม ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพญาไท และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รวมถึงจะมียื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวร่วมด้วย โดยสภาผู้บริโภคได้สนับสนุนทนายความสำหรับยื่นฟ้องคดีในครั้งนี้

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความของผู้เสียหาย เปิดเผยว่า สาเหตุการฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนซอยประดิพัทธ์ 21 เขตพญาไท กรุงเทพฯ พบว่า โครงการดังกล่าวมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายตั้งแต่ต้น ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่าอีไอเอ (EIA) ตลอดจนถึงกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน คือ การยื่นแจ้งก่อสร้างอาคาร ตามมาตรา 39 ทวิ แทนการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้น มีความมิชอบต่อกฎหมายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2544 ได้ระบุขนาดความกว้างของถนนสาธารณะในการก่อสร้างอาคารไว้ว่า ‘อาคารขนาดใหญ่ขนาดไม่เกิน 9,999 ตารางเมตร ต้องมีความกว้างถนนสาธารณะตั้งแต่ 6 – 10 เมตรตลอดสาย’ แต่โครงการดังกล่าวกลับมีความกว้างถนนสาธารณะไม่ถึง 6 เมตรตลอดสาย ซึ่งเข้าข่ายผิดข้อบัญญัติ รวมทั้งโครงการฯ มีระยะห่างจากแนวอาคาร ที่ประชิดกับตัวบ้านของผู้อยู่อาศัยเดิมมากเกินไป

“ชุมชนได้ท้วงติงเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก เนื่องจากมองว่าถนนสาธารณะมีความกว้างไม่พอที่จะก่อสร้างโครงการฯ ได้ การพิจารณารายงานอีไอเอก็ไม่ได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยการลงไปดูในพื้นที่โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ซึ่งในความเป็นจริงหากตรวจสอบพื้นที่อันเป็นส่วนประกอบสำคัญ และทำให้รายงานอีไอเอต้องไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่ปรากฏว่ารายงานอีไอเอกลับผ่านแล้ว โดยที่หน่วยงานไม่ได้ทบทวน และยังยอมให้โครงการก่อสร้างไปได้ โดยอ้างการยื่นแจ้งก่อสร้าง มาตรา 39 ทวิ อีกทั้ง ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการฯ ยังส่งผลกระทบกับประชาชนที่ถึงแม้จะมีการร้องเรียนไปแล้ว แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการผู้พิจารณารายงาน สำนักงานเขต สำนักการโยธา รวมทั้งสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมหรือ สผ. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ต้องกำกับดูแล ก็ไม่ได้เข้ามาดูแลหรือนำเรื่องไปพิจารณาต่อเพื่อให้มีการระงับโครงการแต่อย่างใด จึงได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลปกครอง” นางสาว ส.รัตนมณี ระบุ

ทั้งนี้ หากโครงการฯ เดินหน้าก่อสร้างต่อไป ไม่เพียงส่งผลกระทบกับประชาชนที่อยู่อาศัยเดิมเพียงกลุ่มเดียว แต่จะส่งผลกระทบกับผู้ที่จะซื้อห้องชุดในโครงการฯ ด้วย ทั้งปัญหาการจราจรติดขัดหรือหากมีภัยพิบัติขึ้นมาจะยากต่อการปฏิบัติงานและการอพยพประชาชนในอาคารสูงและในชุมชน อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตศาลมีคำพิพากษาออกมาว่า โครงการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและจะต้องเพิกถอนใบอนุญาตจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อห้องชุดในโครงการฯ รวมถึงส่งผลกระทบในภาพรวมด้วย

“การฟ้องร้องข้างต้น นอกจากจะคุ้มครองคนอยู่อาศัยในชุมชนเดิมแล้ว ยังจะคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ รวมถึงผู้บริโภคที่อาจมาซื้อโครงการฯ โดยไม่ทราบข้อเท็จจริง คดีดังกล่าวจึงจะเป็นทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และยังเป็นคดีที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคในอนาคตด้วย ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาเหมือนกับกรณีแอชตัน อโศก ที่ศาลมีคำพิพากษาถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูง” นางสาว ส.รัตนมณี ระบุเพิ่ม


ด้าน นายทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ผู้ฟ้องคดีและผู้เสียหายจากโครงการเอส – ประดิพัทธ์ ระบุถึง ผลกระทบที่ได้รับจากการก่อสร้าง แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะก่อนที่จะเริ่มก่อสร้าง ต้องมีกระบวนการในการทำอีไอเอ ซึ่งมีหลายจุดที่คนในชุมชนแจ้งว่าจะเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั้งทางด้านอากาศ เสียง และการบังแดดบังลมต่อชมชุน แต่ผลที่ตอบกลับมาในรายงานอีไอเอกลับไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาเหล่านั้นที่ได้ชี้แจงไป สุดท้ายจึงเกิดการอนุมัติมาตรา 39 ทวิ ให้มีการก่อสร้างได้

2. ระยะก่อสร้าง โครงการดังกล่าวเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน คนในชุมชนเริ่มได้รับผลกระทบ เป็นบ้านที่อยู่ใกล้กับการก่อสร้างโครงการและถนนฟุตปาธเริ่มเกิดรอยร้าว ซึ่งเกิดจากแรงสั่นสะเทือนในการตอกเสาเข็มของอาคารที่มีขนาดใหญ่ และสำคัญที่สุด คือ สุขภาพคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองสร้างปัญหาให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชน แต่บริษัทเจ้าของโครงการฯ กลับไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเสียงและฝุ่นไม่เพียงพอมาปิดกั้นเขตก่อสร้าง รวมถึงยังเกิดมลภาวะทางเสียงที่ดังรบกวนผู้อยู่อาศัยในช่วงกลางวัน ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ที่ได้เจอทุกวันกลายเป็นความเครียดสะสม  

และ 3. ผลกระทบหลังก่อสร้าง การที่ในชุมชนมีอาคารสูงจะทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป จากกระแสลมที่เคยพัดผ่านและแสงแดดส่องตลอดทั้งวัน กลับกลายเป็นว่าอาคารสูงบดบังแสง รวมทั้งทิศทางลมและแสงสะท้อนจากตัวอาคารตึกสูงยังมีผลทำให้บ้านเรือนชุมชนดั้งเดิมมีอุณหภูมิสูงขึ้นร้อนขึ้นด้วย

นายทิววัฒน์ ให้ความคิดเห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ผิดกฎหมายได้ คือ การที่หน่วยงานรัฐเข้ามาให้ความรู้กับประชาชน และป้องกันประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานกลับละเลยหน้าที่ในส่วนนี้ โดยเมื่อร้องเรียนหรือสอบถามไปกลับได้คำตอบที่ไม่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ ต้องขอบคุณสภาผู้บริโภคที่ช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอาคารสูงในซอยแคบมาโดยตลอด หากกรณีสำเร็จจะเป็นกรณีตัวอย่างที่สามารถป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ดีกว่าการรอให้เกิดปัญหาแล้วต้องแก้ไขในภายหลัง

บ้านที่อยู่ใกล้กับการก่อสร้างเกิดรอยร้าว
ถนนฟุตปาธเริ่มเกิดรอยร้าว
คนงานกลบรอยร้าวที่เกิดขึ้น

ด้าน นายชนนทร์ จิตต์โกมุท ผู้ฟ้องคดีและผู้เสียหายจากการก่อสร้างโครงการเอส – ประดิพัทธ์ อีกหนึ่งราย เปิดเผยว่า ผลกระทบที่ได้รับจากการก่อสร้างโครงการข้างต้น คือ การไม่ทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการก่อสร้าง อีกทั้ง การติดต่อสอบถามต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของโครงการฯ ยังไม่ได้รับคําตอบที่ชัดเจน นอกจากนี้เมื่อเวลาผ่านไปยังไม่ได้รับการปฏิบัติหรือเยียวยาตรงตามวัตถุประสงค์ของการทำรายงานอีไอเอ เช่น แนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในโครงการนั้น เพราะขณะนี้คนในชุมชนยังไม่ได้รับการเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่โครงการฯ ยังคงก่อสร้างต่อไปในปัจจุบัน

“ช่วงแรกที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง เราได้ติดต่อตัวแทนของโครงการฯ และพยายามพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ว่าสิ่งที่ได้รับเป็นเพียงคําตอบที่สัญญาไปแล้วให้มันผ่านไปโดยไม่ได้รับการแก้ไขจริง ๆ จนเราได้ติดต่อไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่หน่วยงานเขต หน่วยงานที่อนุมัติอีไอเอ หรือแม้แต่รัฐสภา ซึ่งคําตอบที่ได้ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างแท้จริงให้กับชุมชนหรือผู้อยู่อาศัยเดิม” นายชนนทร์ ระบุ


ขณะที่ นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้สนับสนุนทนายความยื่นฟ้องคดีปกครองปัญหาอาคารสูงในซอยแคบดังกล่าว เนื่องจากมีความคิดเห็นว่า คดีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับสาธารณะและหากมีคำตัดสินออกมาจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การที่หน่วยงานรัฐไม่บังคับใช้กฎหมายจนทำให้โครงการดังกล่าวก่อสร้างได้ต่อไปจะทำให้ผู้บริโภคที่ทำสัญญาซื้อห้องชุดของโครงการดังกล่าวอาจได้รับปัญหาภายหลังได้ เช่น หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และมีคำสั่งให้ทุบทิ้งภายหลัง ผู้ที่ซื้อห้องชุดดังกล่าวต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ และฟ้องบริษัทเพื่อขอเงินชดเชยเยียวยาต่อไป

นอกจากนี้ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองฯ ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อคอนโดที่อยู่อาศัยว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อคอนโดที่มีการก่อสร้างเสร็จแล้ว เพราะคอนโดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาจเกิดปัญหาจนไม่สามารถก่อสร้างให้เสร็จได้ อาทิ โครงสร้างหรือระบบสาธารณูปโภคไม่เป็นไปตามแบบที่ระบุไว้ และหากถูกร้องเรียนและดำเนินคดีอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม นอกจากการฟ้องร้องโครงการเอส – ประดิพัทธ์ แล้ว นางสาว ส.รัตนมณี ทนายความยังได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 67 ที่ผ่านมา ก็ได้ฟ้องคดีในลักษณะเดียวกัน ต่อกรณี โครงการอัพเพอร์ สวีท สุขุมวิท 53 ซึ่งเป็นโครงการอาคารขนาดใหญ่ ที่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพฯ กำหนดว่า ถ้าเป็นอาคารขนาดใหญ่ต่ำกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีความกว้างถนนสาธารณะไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ตลอดสาย แต่โครงการดังกล่าวมีความกว้างถนนสาธารณะไม่ถึง 10 เมตรตลอดสาย ซึ่งโครงการนี้รายงานอีไอเอผ่านแล้ว แต่ยังไม่มีการยื่นมาตรา 39 ทวิ จึงได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมาเรื่องจากรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้ว และยื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เพราะหากเจ้าของโครงการยื่นตามมาตรา 39 ทวิ แล้วเกิดมีการก่อสร้าง ก็จะก่อความเสียหายเช่นเดียวกัน ถือว่าโครงการนี้สามารถป้องกันได้เร็วกว่าโครงการเอส – ประดิพัทธ์ เพราะยังไม่เริ่มการก่อสร้าง

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค