สวนกระแสค่าไฟแพง ต้องพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน

สาเหตุค่าไฟฟ้าแพงเกิดมาจากนโยบายพลังงานที่ล้มเหลว พึ่งพาพลังงานนำเข้ามากเกินไป จนไม่สามารถกำหนดราคาพลังงานในประเทศได้ ถึงเวลาต้องพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนในประเทศให้ได้โดยเร็ว โดยตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และสภาอุตสาหกรรมเห็นพ้องรัฐควรเร่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนทดแทนพลังงานฟอสซิล รวมทั้งลดอุปสรรคการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของประชาชน ด้านเวทีเสวนาชี้ ความล้มเหลวด้านนโยบายพลังงานอาจสะท้อนให้เห็นได้จากข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของไทย ที่ปัจจุบันคนไทยเสียค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยคนละ 10,000 บาทต่อปี แต่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของไทยในช่วง 12 ปี กลับลดลงจาก 46% เหลือแค่ 25% เท่านั้น

ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สอบ. ชี้แจงว่า การพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะไทยต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา ไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้ารวมมูลค่าสูงถึง 3.2 แสนล้านบาท ในขณะที่ สหรัฐอเมริกาส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากที่สุดในโลก แต่กลับใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น สลับกับไทยที่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ แต่กลับใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 64 เรียกว่า ใช้ของที่ไม่มี และนำเข้ามาก แต่ของที่มีไม่ใช้

จะเห็นได้ว่า ประเทศเยอรมนีถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าศึกษาด้านนโยบายการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน เพราะใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ ชีวมวล พลังงานลม และพลังงานน้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้า ส่วนรัฐบาลอินเดียส่งเสริมโดยให้เงินสนับสนุนประชาชนเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ถึงร้อยละ 40 และรับซื้อไฟที่เหลือแบบมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อประดับครัวเรือน (Net Metering) ขณะที่ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาวางแผนว่า 14 ปี ต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์ 1 ล้านหลังคาเรือนให้สำเร็จ โดยปัจจุบันสามารถติดตั้งได้ถึง 1.4 ล้านหลังคาเรือน นี่คือความต่อเนื่องทางด้านนโยบายและการเอาจริงเอาจัง ดังนั้น การพึ่งตนเองด้านพลังงาน ก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกัน

แม้รัฐบาลยังไม่มีการส่งเสริมการพึ่งตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ก็ได้มีความพยายามที่จะหาทางเลือกด้านพลังงานในกลุ่มประชาชน อย่างเช่น พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม และผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่นำพลังงานจากโซลาร์เซลล์มาใช้ตั้งแต่ปี 2548 ทำให้ค่าไฟของโรงเรียนศรีแสงธรรมเหลือแค่ 40 บาทต่อเดือน พระปัญญาวชิรโมลี เล่าว่า ปัจจุบันวัดมีการถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงโรงเรียนมีหอพัก มีเครื่องปรับอากาศ ค่าไฟก็อยู่ที่หลักพันกว่าบาท ถือว่าช่วยประหยัดไปได้มาก สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังขยายความรู้ ฝึกอบรมการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ไปยังชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย พร้อมประกาศตั้งเป้าเดินหน้าติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาลให้ครบ 77 จังหวัดในอนาคต พร้อมนำเสนอมุมมองเพิ่มเติมว่า หากประเทศไทยติดโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น จนทำให้มีพลังงานไฟฟ้าเกินความต้องการ ก็ควรมีโรงไฟฟ้าแบตเตอรี่กระจายไปทุกท้องที่ เหมือนที่โรงเรียนศรีแสงธรรมทำโครงการโซลาร์แชร์ริ่ง เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ขาดแคลน

ขณะที่ภาคิน เพชรสง ผู้มีประสบการณ์ในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน จากจังหวัดพัทลุง เล่าว่า ในอดีตประสบปัญหาค่าไฟแพงจากธุรกิจขายพิซซ่า ที่ต้องใช้เตาอบ และจ่ายค่าไฟไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,500 บาท แม้จะปรับเปลี่ยนหลอดไฟ ก็ลดค่าไฟฟ้าได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงได้เริ่มเข้าไปศึกษาอบรมการติดตั้งโซลาร์เซลล์

“วันนี้ที่บ้านเสียค่าไฟฟ้าเพียงแค่ 198 บาทต่อเดือน หลังจากติดตั้งโซลาร์เซลล์ประมาณ 30 แผงแบบคละระบบ หากระบบใดระบบหนึ่งล่ม ของเราจะไม่ล่ม จุดที่ต้องระวังของระบบโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่คือแบตเตอรี่ แต่ปัจจุบันพัฒนาไปมาก ปรับเปลี่ยนมาเป็นแบตเตอรี่ลิเธียม ทำให้อายุการใช้งานนานมากขึ้น” ภาคิน กล่าว

ส่วน นที สิทธิประศาสน์ ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงทางออกของประเทศไทยด้านพลังงานว่า ต้องเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจังจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียนให้ได้ ซึ่งแผนพลังงานชาติของกระทรวงพลังงาน ภาครัฐตระหนักดี มีการกำหนดชัดเจนว่าพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าจะต้องมีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

นที กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถคุมราคาพลังงานโลกได้ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อย่างเดียวส่งผลให้ค่าไฟมีราคาสูงถึง 6 – 7 บาทต่อหน่วย แต่ราคาค่าไฟเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 4 บาท เพราะมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานน้ำ ฟอสซิล

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ไทยไม่มีโอกาสควบคุมต้นทุนราคาพลังงานโลกเลย ดังนั้น การพึ่งพาตนเองระดับประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง จึงต้องหาศักยภาพในประเทศให้เจอ เพราะต่อไปอีก 30 ปีข้างหน้า พลังงานแสงอาทิตย์จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ แม้ราคาแผงโซลาร์เซลล์จะถูกลงแล้ว แต่ก็ติดปัญหาที่การกักเก็บ ทำอย่างไรให้ตัวแบตเตอรี่ถูกลงเหมือนโทรศัพท์มือถือ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าไม่เกิน 5 – 8 ปี จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติจะลดลง ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะมากขึ้น และราคาแบตเตอรี่จะถูกลง

การที่ไทยยังนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ดร.นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า สะท้อนภาพใหญ่ของประเทศว่า เราเริ่มไม่มีความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มกลับมาพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด 

“แม้ปัจจุบัน ระบบการกักเก็บพลังงานจะมีราคาสูง แต่มั่นใจว่าช่วงเปลี่ยนผ่านในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า น่าจะมีความเป็นไปได้ว่าเราจะสามารถลดการนำเข้าพลังงานได้ ยิ่งเราพึ่งพาตนเองได้มากเท่าไร ค่าไฟก็จะลดลงมากเท่านั้น แต่สิ่งที่เราต้องดำเนินการต่อไป คือ การนำระบบพลังงานหมุนเวียนหลาย ๆ ชนิดเข้ามาในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย” ดร.นิทัศน์ กล่าว

รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงต้นเหตุค่าไฟแพงว่า หลายคนอาจคิดเรื่องราคาเชื้อเพลิงอย่างเดียว แต่นั่นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ต้นเหตุยังมาจากโรงไฟฟ้าสำรองไฟฟ้ามากเกินจำเป็น การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าสูงเกินไป และการวางแผนการใช้พลังงานอย่างเป็นระบบ (Power Development Plan : PDP) ไม่ดีพอ ไม่สามารถทำนายอนาคตได้ดีพอ ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าที่ล้นเกินจำเป็นนั้น พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของโรงไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producer : IPP)  ไม่ได้เดินเครื่องเลยตลอดทั้งปี บางแห่งเดินเครื่องน้อยมาก ทำให้มีปัญหาโรงไฟฟ้าสำรองที่มากเกินไปในปัจจุบัน 

“ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้ามาก หมายความว่าเราต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายที่มากตามไปด้วยเช่นกัน ที่สำคัญ ค่าเสื่อมของโรงไฟฟ้าก็ยังถูกนำเข้าไปอยู่ในค่าไฟฟ้าตลอดเวลา นอกจากนี้ ปัญหาของการวางแผนพลังงานไฟฟ้าของไทย เรามักพยากรณ์ไฟฟ้าที่มากเกินความจริง ไม่สอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งการวางแผนพลังงานก็เน้นไปที่ก๊าซ และพลังงานฟอสซิล เพราะเชื่อว่าพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่มั่นคงอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเปลี่ยนความคิดนั้นไปแล้ว ดังนั้น การออกจากวงจรนี้ คือ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้มากยิ่งขึ้น เป็นการพึ่งพาตนเอง ลดความผันผวนด้านพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ” รศ.ชาลี กล่าว

บุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ.แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาราคาค่าไฟฟ้าแพงที่วันนี้ต้องร่วมกันหาทางออก ประชาชนต้องพึ่งตนเองด้านพลังงานให้มากขึ้น แต่เน้นย้ำว่านโยบายพลังงานที่ดี ต้องไม่ใช่การโยนภาระทั้งหมดไปที่ผู้บริโภค

สรุปสุดท้ายของการเสวนา หลายฝ่ายให้ข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐต้องปรับกระบวนการวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้องกับแนวโน้มใหม่ของโลก ลดการใช้ฟอสซิล เพื่อลดความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ด้วยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ และลดอุปสรรคการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา โดยเริ่มนำร่องจากหน่วยงานภาครัฐ และตามต่อด้วยการส่งเสริมให้ภาคประชาชน และภาคธุรกิจดำเนินการตาม เพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องการให้พิจารณาการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาเป็นสำคัญ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค