ระวัง! อย่ากดผิด โจรปลอมไลน์สภาผู้บริโภค หลอกเก็บ 3 หมื่นบาท ค่าทนายความ

พบมิจฉาชีพแอบอ้างไลน์สภาผู้บริโภค ใช้ชื่อ “TCC” หลอกขอข้อมูลส่วนตัว เรียกเก็บค่าทนาย 3 หมื่นบาท ด้าน สภาผู้บริโภคย้ำไม่มีนโยบายเรียกเก็บเงิน แนะผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ผู้บริโภครายหนึ่ง ได้เข้ามาร้องเรียนต่อสภาผู้บริโภคในกรณีที่ถูกมิจฉาชีพหลอกขอข้อมูลผ่านระบบไลน์ที่ปลอมชื่อสภาผู้บริโภค และเรียกเก็บเงินค่าปรึกษาทนายถึงสามหมื่นบาทนั้น ได้เล่ารายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตัวเองต้องการความช่วยเหลือและคำปรึกษาเกี่ยวกับคดีความ จึงค้นหาทนายความในเว็บไซต์กูเกิลและพบเว็บไซต์ที่ได้รับการสนับสนุนหน้า (โฆษณา) เมื่อกดเข้าไปเป็นหน้าสำหรับเพิ่มเพื่อนกับไลน์ของมิจฉาชีพที่อ้างตัวเป็นสภาผู้บริโภค

หลังจากแอดไลน์ไปได้ปรึกษาเล่าปัญหาให้ฟัง และส่งเอกสารหลักฐานตามที่มิจฉาชีพแจ้ง ซึ่งมีทั้งบัตรประชาชน รายละเอียดต่าง ๆ ของปัญหาซึ่งมีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ด้วย หลังจากนั้นได้แจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความ และได้ส่งเลขบัญชีเพื่อให้โอนเงินค่าจ้างทนายความ จำนวน 30,000 บาท หากยังไม่สามารถจ่ายเงินเต็มจำนวนได้ สามารถวางจำได้ก่อน 10,000 บาท และผ่อนจ่ายอีก 20,000 บาทหลังจบคดี

“เราเริ่มรู้สึกผิดสังเกตว่าทำไมชื่อบัญชีกับชื่อทนายความไม่ตรงกัน และอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เอะใจคือไลน์ดังกล่าวผู้ติดตามน้อย จึงนำชื่อบัญชีไปค้นหาในกูเกิล และพบว่าเป็นบัญชีของมิจฉาชีพ จึงไม่ได้โอนเงินให้มิจฉาชีพไป แต่อยากเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้บริโภคคนอื่น ๆ รวมทั้งอยากให้สภาผู้บริโภคระวังกลุ่มที่เอาชื่อไปหลอกลวงประชาชนที่เขากำลังเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ” อิสิริยาพรรณกล่าวทิ้งท้าย


จากกรณีดังกล่าว สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องและตรวจสอบจึงพบว่า มีมิจฉาชีพสร้างบัญชีไลน์ปลอม แอบอ้างเป็นไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official Account : LineOA) ของสภาผู้บริโภค เพื่อหลอกขอข้อมูลจากผู้บริโภคที่ต้องการเข้ามาใช้บริการของสภาผู้บริโภค และโดนเรียกเก็บเงิน นั้น

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ได้ชี้แจงว่าพฤติการณ์ของคนร้ายคือ สร้างบัญชีไลน์ใช้ชื่อ “TCC” แอบอ้างเป็นไลน์ออฟิเชียล (Line Official Account : LineOA) ของสภาผู้บริโภค และซื้อโฆษณาบนกูเกิลโดยใช้ข้อความว่า “รับปรึกษาให้คำแนะนำและแก้ปัญหาออนไลน์ หยุดเป็นเหยื่อ! โดนโกงออนไลน์ แจ้งความทันได้เงินคืน” เมื่อผู้บริโภคทักไปขอคำปรึกษา ไลน์ดังกล่าวจะให้คำปรึกษาเบื้องต้นและทำทีขอหลักฐานและข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ หลังจากนั้นจะหลอกล่อให้คุยกับทนายความชื่อ “สุพจน์” เพื่อเรียกเก็บค่าดำเนินคดี ให้โอนเข้าบัญชีธนาคารชื่อ “นายณัฐพล สายสุดใจ”

ทั้งนี้ โสภณแนะนำผู้บริโภคให้หลีกเลี่ยงการเข้าหน้าเว็บไซต์ที่ขึ้นว่า “ได้รับการสนับสนุน” เพราะอาจเป็นมิจฉาชีพซื้อโฆษณาเพื่อให้แสดงผลในหน้าแรกของการค้นหาในกูเกิล และระมัดระวังลิงก์เว็บไซต์ที่มีนามสกุลเว็บไซต์ที่ไม่ใช่ .com .co.th .or.th หรือ .go.th เพราะอาจเป็นเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ และมีความเสี่ยงที่จะเป็นลิงก์ปลอมของมิจฉาชีพ

หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวอีกว่า สำหรับผู้บริโภคที่พบมิจฉาชีพหลอกขอข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ และส่งข้อมูลหลักฐานหรือข้อมูลส่วนตัวให้มิจฉาชีพไปแล้ว แนะนำให้แจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจใกล้บ้านเพื่อป้องกัน หากเกิดกรณีมิจฉาชีพนำข้อมูลที่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ

โดยสภาผู้บริโภคยืนยันว่าไม่มีนโยบายเรียกเก็บค่าบริการในการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากผู้บริโภค และปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้แจ้งความดำเนินคดีกับมิจฉาชีพที่สร้างไลน์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคแล้ว หากผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือพบเห็นผู้ไม่หวังดีแอบอ้างชื่อสภาผู้บริโภค สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสมาที่สภาผู้บริโภคได้ที่ช่องทางต่อไปนี้

เว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
อีเมล : [email protected]
โทรศัพท์ : 02 2391839 กด 1
ไลน์ออฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) สภาองค์กรของผู้บริโภค

วิธีสังเกต LINE Official Account สภาผู้บริโภค
ไลน์ทางการของสภาผู้บริโภค จะใช้ชื่อว่า “สภาองค์กรผู้บริโภค” ซึ่งไม่มีคำว่า ‘ของ’ เนื่องจากข้อจำกัดของไลน์ในการตั้งชื่อ ที่กำหนดให้มีความยาวไม่เกิน 20 ตัวอักษรเท่านั้น ดังนั้น ชื่อไลน์ทางการจึงใช้ชื่อว่า “สภาองค์กรผู้บริโภค“ หรือพิมพ์ค้นหาโดยใช้คำว่า @tccthailand (มี @ ด้านหน้า) และสังเกตโล่สีน้ำเงินหน้าชื่อบัญชี เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าบัญชีดังกล่าวผ่านการรับรอง (Verified Account)