สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดทาง สปน.ตรวจสอบองค์กรสมาชิก ยันทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดทางให้ สปน. ตรวจสอบองค์กรสมาชิก 16 องค์กร ที่ถูกร้องเรียนว่าไม่มีตัวตน ไม่มีผลงาน พร้อมยืนยัน เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ

จากการที่มีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ว่าองค์กรของผู้บริโภค จำนวน 16 องค์กร ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกของ สอบ. ไม่มีตัวตน ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการได้มาซึ่ง สอบ.ในปัจจุบันนั้น

8 สิงหาคม 2564 สอบ.ส่งหนังสือตอบกลับ สปน. โดยระบุว่า สภาฯ ชะลอการดำเนินการของ 16 องค์กรสมาชิกตามที่ สปน. เสนอมา และเพื่อให้ สปน. ได้ดำเนินการเรื่องการตรวจสอบและวินิจฉัย พร้อมขอให้กำหนดกรอบเวลาตรวจสอบให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรที่ถูกกล่าวหา เนื่องจาก สปน. มีข้อมูล และหลักฐานขององค์กร ทำให้สามารถตรวจสอบได้ทันที

ในหนังสือตอบกลับดังกล่าว ระบุสาระสำคัญว่า ปัจจุบัน สอบ.ยังไม่มีการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งได้ชะลอการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของผู้บริโภค จำนวน 16 องค์กร จนกว่า สปน. จะวินิจฉัยเสร็จ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายและสำนักงาน สอบ.ชี้แจงถึงกระบวนการการจัดตั้ง สอบ.ต่อ สปนว่า เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนี้

1. การจัดตั้ง สอบ.เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ครบถ้วนทุกขั้นตอน

2. ผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้ง สอบ. ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นการประชุมตามมาตรา 11 ตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วัน ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล โดยมีองค์กรของผู้บริโภค ที่เป็นผู้ร่วมก่อการเข้าร่วมประชุมจำนวน 148 องค์กร จากจำนวน 151 องค์กร และที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบข้อบังคับ เลือกตั้งประธานและรองประธานจำนวน 2 คน และเลือกตั้งคณะกรรมการนโยบาย รวมทั้งได้กำหนดนโยบาย แนวทางและแผนงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคของ สอบ. พร้อมจัดทำข้อเสนองบประมาณเสนอปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

3. การยื่นจดแจ้งความเป็นองค์กรของผู้บริโภคต่อนายทะเบียนตามมาตรา 6 จะเป็นไปตามแบบและวิธีการที่นายทะเบียนกลางเป็นผู้กำหนดเท่านั้น ซึ่งองค์กรของผู้บริโภคที่ยื่นจดแจ้งความเป็นองค์กรของผู้บริโภคทุกองค์กรผ่านการการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัดตามคุณลักษณะต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 5 และมาตรา 6 โดยละเอียดถี่ถ้วน ดังนั้น องค์กรของผู้บริโภคทั้ง 16 องค์กรที่ถูกตรวจสอบก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ผ่านการจดแจ้งจากนายทะเบียนกลางด้วยเช่นเดียวกัน จึงแสดงว่า องค์กรของผู้บริโภคทั้ง 16 องค์กรต่างผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากนายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกลาง มีความเป็นองค์กร มีผลงานคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กฎหมายกำหนดไว้

4. จากการตรวจสอบเบื้องต้นของสำนักงาน สอบ. พบว่า 16 องค์กรของผู้บริโภคที่ถูกตรวจสอบในครั้งนี้ มีคุณลักษณะความเป็นองค์กรครบถ้วนตามมาตรา 3 มาตรา 5 และเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นที่ประจักษ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนวันยื่นจดแจ้งตามมาตรา 6 ซึ่งยังคงมีการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

– กลุ่มองค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จำนวน 7 องค์กร ได้แก่ (1) กลุ่มเอ็มลี้รักสุขภาพ จ.ลำพูน (2) ฮ่วมใจ๋หล่ายดอย จ.ลำพูน (3) กลุ่มช่วยเพื่อนชาวลี้ จ.ลำพูน (4) กลุ่มฟ้าหลังฝน จ.ลำพูน (5) กลุ่มฮักภูซาง จ.พะเยา (6) กลุ่มแสงตะวัน จ.ลำปาง (ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกต้องแล้ว ไม่ใช่กลุ่มทานตะวัน) (7) ชมรมพลังใหม่ 2001 จ.ลำปาง

– กลุ่มองค์กรที่มีประสบการณ์งานคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่าง ๆ จำนวน 4 องค์กร ได้แก่ (1) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคอำเภอเวียงเก่า จ.ขอนแก่น (2) กลุ่มผู้เสียหายเสาสัญญาณโทรศัพท์ตำบลน้ำแวน จ.พะเยา (3) ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ต.แม่กัวะ จ.ลำปาง (4) ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ต.เสริมซ้าย จ.ลำปาง

– กลุ่มองค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จำนวน 3 องค์กร ได้แก่ (1) ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ต.หนองใหญ่ จ.ร้อยเอ็ด (2) ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ต.โคกล่าม จ.ร้อยเอ็ด (3) ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ต.เมืองบัว จ.ร้อยเอ็ด

– กลุ่มองค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคกับประชาชนกลุ่มเฉพาะ คือ กลุ่มคนพิการและกลุ่มเกษตรกร จำนวน 2 องค์กร ได้แก่ (1) กลุ่มพึ่งตนเองบ้านแม่ป๊อก จ.ลำพูน (2) ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคคนพิการ ต.แม่กัวะ จ.ลำปาง

จากที่กล่าวไปข้างต้น องค์กรของผู้บริโภคที่จะผ่านการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคจะต้องผ่านการตรวจสอบจากนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัดตามคุณลักษณะต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น สอบ. เห็นว่า การตรวจสอบและวินิจฉัยของ สปน. สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ไม่ควรสร้างขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและควรมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการตรวจสอบ ท้ายสุด สอบ. ขอให้ สปน. เร่งกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการตรวจสอบสถานะ 16 องค์กรของผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับองค์กรของผู้บริโภคที่ถูกร้องเรียน รวมทั้งการดำเนินงานของสภาฯ นอกจากนี้ จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายนัดพิเศษ เมื่อ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สอบ.มีมติให้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อประสานงานและสนับสนุนการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณี 16 องค์กรของผู้บริโภคด้วยเช่นเดียวกัน