ใส่อาหารร้อนใน กล่องโฟม เสี่ยงโรคร้ายแบบไม่รู้ตัว

ใส่อาหารร้อนใน กล่องโฟม เสี่ยงโรคร้ายแบบไม่รู้ตัว

แม้ว่า กล่องโฟม จะเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่ถูกรณรงค์ให้เลิกใช้ เนื่องจากประเด็นเรื่องความไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน ยังมีร้านค้าจำนวนไม่น้อยที่ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากกล่องโฟม เนื่องจากความสะดวกในการใช้งานรวมถึงราคาที่ไม่สูงมาก อย่างไรก็ตาม การใช้งานกล่องโฟมอย่างผิดวิธี หรือการใช้กล่องโฟมที่ผลิตจากวัสดุคุณภาพต่ำ อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายสู่ร่างกาย

ที่ผ่านมาเคยมีหลายกรณีที่ผู้บริโภคพบปัญหาจากการซื้ออาหารที่ใส่ภาชนะที่ทำจากโฟมโดยเฉพาะกรณีกล่องโฟมละลาย (ตัวอย่างเช่นกรณีนี้ อวสานอาหารมื้อดึก)

ถึงแม้กล่องโฟมผลิตจากพลาสติกชนิดโพลิสไตรีน (Polystyrene) ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคืออากาศถึง 95% ส่วนอีก 5% เป็นสารโพลิสไตรีน ทำให้มีคุณสมบัติน้ำหนักเบาและเก็บความร้อนได้ดี จึงนิยมใช้สำหรับบรรจุอาหารทั่วโลก แต่เมื่อสัมผัสกับความร้อนสูง ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว เช่น ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และอาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง สภาผู้บริโภค จึงมี วิธีเลือกใช้กล่องโฟมอย่างปลอดภัย มาฝากกัน

6 วิธีเลือกใช้ กล่องโฟม อย่างปลอดภัย

  1. ไม่ควรใช้กล่องโฟมอุ่นอาหารในไมโครเวฟ
  2. อย่าเก็บอาหารไว้ในกล่องโฟมนานเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส
  3. ใช้ครั้งเดียว ไม่ควรใช้ซ้ำ บางคนอาจล้างกล่องโฟมที่ไม่เปื้อนแล้วนำกลับมาใช้ในการเก็บอาหารอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากกล่องโฟมไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการใช้งานซ้ำ ดังนั้นถ้าเรานำกล่องโฟมกลับมาใช้ซ้ำโดยเฉพาะการใส่อาหารร้อน อาจทำให้เสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีที่ออกมาจากกล่องโฟม ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพเราได้
  4. เลือกใช้เฉพาะกล่องโฟมที่มีแหล่งผลิตชัดเจน ได้มาตรฐานความปลอดภัย โดยต้องมีสัญลักษณ์ มอก. เพราะกล่องโฟมเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตทำหรือนำเข้า
  5. หลีกเลี่ยงการใส่อาหารร้อนจัด น้ำมันเยอะ หรือมีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว
  6. ควรเลือกกล่องโฟมที่มีฉลากระบุวิธีใช้ที่ชัดเจน เช่น อุณหภูมิที่เหมาะสมหรือประเภทอาหารที่ไม่ควรใส่