ค่าไฟฟ้า ปลายปี 2568 ผู้บริโภคเลือกแบบไหน?

ทุก 4 เดือน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีการปรับสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2568 นี้ กกพ. เสนอ 3 ทางเลือก นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคได้เสนอเพิ่มอีก 1 ทางเลือก ซึ่งส่งผลต่อค่าไฟที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ดังนี้

ทางเลือกที่ 1: จ่ายหนี้ทั้งหมด

  • ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 5.10 บาท/หน่วย
  • ค่า Ft อยู่ที่ 131.94 สตางค์/หน่วย
  • ใช้เพื่อชำระหนี้คงค้างของ กฟผ. ทั้ง 66,072 ล้านบาท และต้นทุนก๊าซธรรมชาติของ กฟผ.-ปตท. อีก 15,084 ล้านบาท
    ข้อดี: กฟผ. ได้รับเงินคืนทั้งหมด สถานะการเงินกลับสู่ภาวะปกติ
    ข้อเสีย: ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น

ทางเลือกที่ 2: จ่ายคืนหนี้ กฟผ. อย่างเดียว

  • ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 4.87 บาท/หน่วย
  • ค่า Ft อยู่ที่ 109.09 สตางค์/หน่วย
  • ชำระหนี้ กฟผ. 66,072 ล้านบาท แต่ยังไม่รวมต้นทุนก๊าซฯ 15,084 ล้านบาท
    ข้อดี: กฟผ. ได้รับเงินคืนทั้งหมด
    ข้อเสีย: ค่าไฟยังคงเพิ่มขึ้น และยังมีภาระหนี้ต้นทุนก๊าซที่ค้างอยู่

ทางเลือกที่ 3: ตรึงค่าไฟเท่าเดิม

  • ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 3.98 บาท/หน่วย
  • ค่า Ft คงที่ที่ 19.72 สตางค์/หน่วย
  • ทยอยชำระคืนภาระต้นทุน AF คงค้างสะสมได้จำนวน 7,072 ล้านบาท เพื่อนำไปพิจารณาทยอยคืนภาระต้นทุนการจัดหาไฟฟ้าคงค้างของ กฟผ. และภาระต้นทุนการจัดหาก๊าซคงค้างของ กฟผ. และ ปตท. ต่อไป
    ข้อดี: ไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพในระยะสั้น
    ข้อเสีย: หนี้ของ กฟผ. ส่วนใหญ่ยังคงค้างอยู่

ทางเลือกที่ 4 : ลดค่า Ft

  • ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟ ประมาณ 3.81 บาท/หน่วย
  • ค่า Ft ประมาณ 2.72  สต./หน่วย (ลดลงประมาณ 0.17 บาท )
  • ยกเลิกค่า Adder และ FiT ซึ่งเป็นเงินที่รัฐจ่ายของผู้ผลิตไฟฟ้าอกชนส่วนน้อย โดยยังคงทยอยชำระหนี้ไฟฟ้าคงค้าง
    ข้อดี: ประชาชนจ่ายค่าไฟถูกลง เนื่องจากมีการตัดต้นทุนส่วนที่ไม่จำเป็นออก
    ข้อเสีย: หนี้ส่วนใหญ่ยังค้างอยู่

ทั้งนี้ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดกันยายน – ธันวาคม 2568 ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2568 ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่: แบบฟอร์มแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดกันยายน – ธันวาคม 2568


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนุน กกพ. ลดค่า Ft 0.17 บาท ดัน โซลาร์ภาคประชาชน