รู้เท่าทันขบวนการ “หลอกลงทุนออนไลน์ ”

จากสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าได้มีความเสียหายกรณีการฝากเงินเพื่อเทรดหุ้นออนไลน์อยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งแต่ละเคสมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านบาท โดยการเทรดหุ้นออนไลน์นั้นนับว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงแต่ถ้าหากเป็นการลงทุนโดยที่เจ้าของเงินไม่ได้เทรดหุ้นด้วยตนเองแต่เป็นการนำเงินไปฝากให้บุคคลอื่นๆทำการเทรดหุ้น โดยเปอเซ็นของความเสี่ยงที่จะถูกโกงก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้นำกลวิธีการรู้เท่าทันขบวนการหลอกลงทุนออนไลน์เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้แก่ผู้บริโภค

วิธีการสังเกตมิจฉาชีพหลอกลงทุนออนไลน์

  1. การแอบอ้างชื่อผู้มีชื่อเสียง บริษัทเอกชนหรือใช้ภาพหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อชักชวนให้ลงทุน โดยมิจฉาชีพจะมีการแอบอ้างนำชื่อหรือรูปภาพของศิลปิน ดารา นักธุรกิจชื่อดังต่างๆมาแอบอ้างเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้คนร่วมลงทุนผ่านระบบไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) เพจเฟซบุ๊ก และช่องทางอื่นๆ
  2. การชักชวนลงทุนโดยโฆษณาว่าได้รับผลตอบแทนสูง ส่วนมากเพจเหล่านี้มักมีการโฆษณาชักชวนโดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงเป็นอีกรูปแบบที่ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมากเพราะคาดหวังในผลตอบแทนดังกล่าว เช่น เงินลงทุน 5,000 บาท ได้รับผลกำไรกว่าร้อยละ 30 เป็นต้น
  3. ให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว โดยส่วนใหญ่แล้วมิจฉาชีพจะใช้ ” บัญชีม้า ” ซึ่งเป็นบัญชีที่ถูกซื้อมาจากคนที่รับเปิดบัญชีขาย
  4. ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทได้ การลงทุนหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ต้องใช้เงินในการลงทุน ควรจะลงทุนผ่านบริษัทที่ ก.ล.ต. กำกับและตรวจสอบได้และมีตัวตนจริง ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองผ่าน โดยตรวจสอบได้ที่ www.sec.or.th/licensecheck ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน SEC Check First ที่จะรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

การป้องกันการถูกลวงลงทุนออนไลน์

  1. อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจลงทุน หากมีความสนใจควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
  2. ตรวจสอบก่อนลงทุน โดยต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบริษัทที่มีตัวตนจริงและไม่มีเจตนาหลอกลวง โดยสามารถตรวจสอบได้ผ่านโดยตรวจสอบได้ที่ www.sec.or.th/licensecheck หรือผ่านแอปพลิเคชัน SEC Check First 
  3. ห้ามฝากเงินหรือโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะบุคคลที่มาชักชวนลงทุน หรืออ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทลงทุน
  4. สังเกตสัญญาณเตือนภัยกลโกงจากข้อเสนอการลงทุน เช่น ลักษณะผลตอบแทนที่ดูดีเกินไป รับประกันผลตอบแทน เร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุน ดึงดูดใจด้วยสินทรัพย์ใหม่ ๆ เป็นต้น

สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อร้องเรียนหากหลงกลมิจฉาชีพ

  1. สำเนาบัตรประชาชนพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง
  2. หลักฐานแสดงความเสียหาย เช่น สลิปการโอนฝากเงินลงทุน บัญชีของมิจฉาชีพ เป็นต้น
  3. หลักฐานประกอบอื่นๆ เช่น เขียนรายงานอธิบายเหตุการณ์ที่เกิด ภาพแคปช่องแชทบทสนทนากับมิจฉาชีพและข้อมูลอื่นๆที่ผู้ร้องเห็นว่าสามารถใช้เป็นหลักฐานแนบได้ เป็นต้น

หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากกรณีลวงลงทุนออนไลน์ ผู้บริโภคสามารถแจ้งดำเนินคดีได้กับสถานีตำรวจในพื้นที่และแจ้งตำรวจไซเบอร์ได้ทางเว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com/ หรือโทร 1441

หรือร้องเรียนเข้ามายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่าง เพื่อที่ทาง สภาฯ จะดำเนินการประสานเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคต่อไป

ร้องเรียนออนไลน์ผ่าน ระบบ TCC Online Center สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)

อีเมล : [email protected]    

โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1

ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U       

เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค