ทำไมต้องใช้ ‘คาร์ซีท’

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ในช่วงปี 2546 – 2556 เยาวชนอายุน้อยกว่า 15 ปี มียอดเสียชีวิตสะสมจากการโดยสารรถยนต์ ถึง 14,669 คน เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะมีลักษณะการเคลื่อนตัวคล้ายลูกแบดมินตันคือ ‘พุ่งแรง’ ทะลุออกนอกรถได้ง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่ระบบยึดเหนี่ยวในรถนั้นออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่และอาจไม่เหมาะกับเด็ก

ดังนั้น ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท (Car Seat) เป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นในการเดินทางด้วยรถยนต์ ที่ช่วยลดการตายในเด็กปฐมวัยได้กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดการตายในเด็กวัยเรียนกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันในหลาย ๆ ประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็ก คาร์ซีทจึงเป็นอุปกรณ์ภาคบังคับที่รถยนต์ส่วนบุคคลทุกคันต้องติดตั้ง

ในประเทศไทยเองคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายคาร์ซีทหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในปี 2566 โดยใน พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ของไทยได้ระบุหลักเกณฑ์ในการใช้คาร์ซีทว่า มาตรา 123 (2) (ข) กำหนดให้ผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และในมาตรา 123 (2) (ค) คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใดก็ตาม

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ปกครองหรือผู้ที่ขับรถส่วนบุคคลหากกฎหมายคาร์ซีทจะบังคับใช้ภายในปี 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงเสนอวิธีดูฉลากมาตรฐานยูเอ็น ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน คือ UN ECC R44 เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ดังนั้นก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อจะต้องดูป้ายหรือ ฉลากที่ระบุว่า ‘ที่นั่งนิรภัยนั้นได้รับมาตรฐาน UN ECC R44’ อย่างไรก็ตาม รูปแบบของฉลากบนคาร์ซีทอาจจะแตกต่างกันตามแบรนด์และรุ่นสินค้า แต่การระบุข้อความสำคัญที่จำเป็นว่าเป็นไปตามมาตรฐานยูเอ็น (UN Standard) ควรมีการระบุรายละเอียด (ดูภาพตัวอย่างประกอบ) ดังนี้

  • สัญลักษณ์ที่นั่งนิรภัยตามมาตรฐานยูเอ็น (UN Standard ECE R44-04) ระบุในฉลากว่า ‘ECC R44-04’
  • ประเภทของที่นั่งนิรภัย เพื่อระบุขอบเขต ในตัวอย่างคือ ใช้งานทั่วไป เช่น ระบุว่า ‘UNIVERSAL’
  • น้ำหนักของตัวเด็กที่เหมาะสม เช่น 0-13 kg
  • หมายเลขระบุประเทศที่อนุญาตให้ใช้ (E1 = เยอรมัน, E2 = ฝรั่งเศส, E3 = อิตาลี และ E4 = เนเธอร์แลนด์)
  • หมายเลขทดสอบผลิตภัณฑ์ โดยที่รหัส 2 ตัวแรกหมายถึงผ่านเกณฑ์มาตรฐานยูเอ็น ECE R44-04 เช่น 04443517
ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ใช้ที่นั่งเสริมที่ไม่มีพนักพิงหลัง และลำคอ เพราะจากผลการทดสอบการกระแทกด้านข้าง (Side Crash Test) ที่นั่งเสริมไม่สามารถป้องกันการบาดเจ็บได้

ที่มา :
bit.ly/3a5yAGE, bit.ly/3FhhnHm และ bit.ly/3udU7DM

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค