รวมข่าวเตือนภัย, ข่าวปลอม, ข้อมูลเท็จ, จับโกง : ตุลาคม


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 23 ตุลาคม 2565

โฆษณาเกินจริง : อย. เตือนอย่าเชื่อ ยาสีฟัน 3 แบรนด์ โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง เสี่ยงอันตรายในช่องปาก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอมของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการเผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดีย พบผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน 3 ยี่ห้อ โฆษณาโอ้อวดเกินจริง ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์ ทรีดี พรีเมี่ยม พลัส ทูธเพสท์ (3D PREMIUM PLUS TOOTHPASTE) ชื่อการค้า เอทีเค (ATK) เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400019767 อวดอ้างจัดการหินปูน… ฟันเหลือง กลิ่นปาก ร้อนใน และคราบบุหรี่ชากาแฟ

2. ผลิตภัณฑ์ ลิควิด ทูธเพสท์ (LIQUID TOOTHPASTE) ชื่อการค้า โอเค เคลียร์ (OK CLEAR) เลขที่ใบรับจดแจ้ง 40-1-6300038347 อวดอ้างรักษาฟันผุ… ฟันโยก คลอน เห็นผลใน 2 นาที

3. ผลิตภัณฑ์ ฟันทน ยาสีฟันสมุนไพรสูตรเข้มข้น (รสดั้งเดิม) (FUNTON CONCENTRATED HERBAL TOOTHPASTE (ORIGINAL) เลขที่ใบรับจดแจ้ง 76-1-6400037025 อวดอ้างรักษาเหงือกอักเสบ… ปวดฟัน ฟันโยก และฟันผุ

การโฆษณาดังกล่าวเป็นการโฆษณาเกินจากความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค เนื่องจากยาสีฟันเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปากเพื่อทำความสะอาดเท่านั้น ดังนั้น การอวดอ้างว่าสามารถแก้ปัญหาร้อนใน รักษาฟันผุ เหงือกอักเสบ ปวดฟัน ฟันโยก จึงเป็นข้อความที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริงและทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง

ขอแนะนำผู้บริโภคควรแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความสะอาดซอกฟัน เลือกใช้ยาสีฟันผสมสารฟลูออไรด์ เพราะจะสามารถช่วยป้องกันฟันผุได้ และควรไปพบทันตแพทย์ตามนัด หรือทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาวะที่ดีของช่องปากและฟัน หากผู้บริโภคที่มีอาการผิดปกติทางช่องปากและฟัน ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา

อย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ นอกจากจะเสียเงินแล้วยังเสียโอกาสในการรักษาอย่างถูกต้อง หากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected]

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

เตือนภัย : พบไซบูทรามีน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรา พิชชี่ พลัส

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารจากโรงพยาบาลชลบุรี ฉลากระบุ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ตรา พิชชี่ พลัส) เลขสารบบอาหาร 13-1-12560-5-0090 ผลิตโดย บริษัท พีเอ็ม แลบบอราทอรี่ จำกัด 52/14 หมู่ 2 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี จัดจำหน่ายโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด พลอยพิชชา ซัพพลีเม้นท์ 525/292 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ล็อตผลิต 0070721 วันผลิต 01/07/2021 วันหมดอายุ 01/07/2023”

โดยสงสัยว่ามีส่วนประกอบที่เป็นยาอันตราย จึงส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ผลการตรวจวิเคราะห์พบไซบูทรามีน ซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ผลิตภัณฑ์นี้จึงจัดเป็นอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรืออนามัยของประชาชน เป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด

จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังอย่าซื้อ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ตรา พิชชี่ พลัส)” ที่ฉลากระบุวันผลิตและวันหมดอายุดังกล่าวมารับประทาน เนื่องจากสารไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่มีผลข้างเคียง โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

โดยจะมีอาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected]

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ข่าวจริง : อย.ยัน ยาแก้หวัดอินเดียที่พบสารปนเปื้อน ไม่มีจำหน่ายในไทย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบแล้ว ยาแก้หวัดอินเดียที่ตรวจพบสารปนเปื้อนวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวในประเทศไทย และไม่พบข้อมูลการขายบนอินเทอร์เน็ต พร้อมมีมาตรการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด และดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายแพทย์สรุโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวเด็กในอินโดนีเซียเกิดไตวายเฉียบพลัน หลังรับประทานยาน้ำเชื่อมพาราเซตามอลที่ผลิตในอินเดีย

เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเตือนให้ถอดผลิตภัณฑ์ยาแก้หวัด 4 ตัวของบริษัท เมเดน ฟาร์มาซูติคอลส์ ที่ผลิตในประเทศอินเดีย ได้แก่ 1. Promethazine oral solution BP 2. Kofexmalin baby cough syrup 3. Makoff baby cough syrup และ 4. Magrip N cold syrup โดยตรวจพบการปนเปื้อนสารไดเอทิลินไกลคอล (diethylene glycol) และเอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol) ซึ่งอาจส่งผลต่อไตจนมีเด็กในประเทศแกมเบียเสียชีวิต 70 ราย

ทั้งนี้ สารปนเปื้อนดังกล่าวจัดเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะไม่ออก ปวดศีรษะ สภาพจิตใจผิดปกติ ไตวายและอาจเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม อย. มีมาตรการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด และจะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

รอบรู้ : อย. แนะนำให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเลข อย.

ตามที่มีการแชร์ข้อมูลทาง Facebook แจ้งข่าวเตือนผู้บริโภคว่า พบ “พลาสเตอร์ปิดแผลใช้แล้ว”ปนอยู่ในถุงบ๊วยปรุงรสที่ไม่มีฉลาก ที่ซื้อมาบริโภคเองนั้น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แนะนำให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก ภายใต้เครื่องหมาย อย.

และขอแจ้งเตือนผู้บริโภคว่า บ๊วยปรุงรสในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย ต้องผลิตตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และต้องแสดงรายละเอียดบนฉลาก เช่น ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญ เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือแบ่งบรรจุ น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน เป็นต้น ซึ่งบ๊วยปรุงรสจากข่าวดังกล่าวเป็นอาหารที่แบ่งบรรจุและไม่แสดงฉลาก ไม่มีเลข อย. ไม่ทราบว่าผู้ผลิตมีหลักแหล่งอยู่แห่งใด จึงขอให้ผู้บริโภคโปรดระมัดระวัง อย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีเลข อย. และไม่แสดงฉลากเหล่านี้มารับประทาน เพราะอาจผลิตหรือแบ่งบรรจุอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือหากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

รอบรู้ : สารเซซามินจากงาดำช่วยทำลายเกราะเซลล์มะเร็ง โดยให้เม็ดเลือดขาวเข้าไปทำลายตัวเซลล์มะเร็งได้

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสารเซซามินจากงาดำช่วยทำลายเกราะเซลล์มะเร็ง โดยให้เม็ดเลือดขาวเข้าไปทำลายตัวเซลล์มะเร็งได้ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

เซซามิน (Sesamin) เป็นสารสำคัญที่พบได้จากงาดำ จัดอยู่ในกลุ่มสารลิกแนนที่สามารถละลายได้ในไขมัน

ข้อมูลงานวิจัยด้านการใช้สารสกัดเซซามินในการทำลายเซลล์มะเร็งนั้นส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในระดับเซลล์และสัตว์ทดลอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าสารดังกล่าวส่งผลในการทำลายเซลล์มะเร็งในมนุษย์

การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารเซซามินในด้านที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง พบว่าสารนี้ทำให้เกิดกลไกการยับยั้งการเจริญและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นการศึกษาวิจัยในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น และปัจจุบันยังไม่พบรายงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดถึงประสิทธิภาพของสารเซซามินในการทำลายเซลล์มะเร็งที่ศึกษาในมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ควรศึกษารายละเอียดด้านสรรพคุณ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 17 ตุลาคม 2565

อย่าหลงเชื่อ : เสพกัญชาทำให้เชื้อโควิด 19 ฝังตัวไม่ได้

จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อความโดยระบุว่า เสพกัญชาทำให้เชื้อโควิด 19 ฝังตัวไม่ได้ เรื่องนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่ยืนยันว่ากัญชาจะทำให้เชื้อโควิด 19 ฝังตัวไม่ได้

ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

โฆษณาเกินจริง : อาหารเสริมสมุนไพร BALANCE BLP ยับยั้ง ฟื้นฟู อาการของโรคพาร์กินสัน จบทุกอาการไม่กลับมาเป็นซ้ำ ได้รับการรับรองจาก อย.

จากกรณีที่มีโพสต์คำแนะนำชวนเชื่อโดยระบุว่าอาหารเสริมสมุนไพร BALANCE BLP ยับยั้ง ฟื้นฟู อาการของโรคพาร์กินสัน จบทุกอาการไม่กลับมาเป็นซ้ำ ได้รับการรับรองจาก อย. นั้น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ในการยื่นขออนุญาตของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผลในการยับยั้ง ฟื้นฟู อาการของโรคพาร์กินสัน และไม่มีการรับรองประสิทธิผลดังกล่าวจาก อย. ตามที่กล่าวอ้าง

แต่มีการขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บีแอลพี (ตรา บาลานซ์) Dietary Supplement Product BLP (Balance Brand) เลข อย. 13-1-07458-5-0267 ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และต้องแสดงคำเตือนดังกล่าวบนฉลาก หากผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน เพื่อหวังผลในการยับยั้ง และฟื้นฟูอาการของโรคพาร์กินสัน จะเสียเงินเปล่า และเสียโอกาสในการรักษา และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

ที่มา : อย. และ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ข่าวปลอม : กดรหัส ##002# สามารถลดค่าใช้จ่ายโทรศัพท์ได้ทั้งหมด

กรณีที่มีคำแนะนำว่ากดรหัส ##002# สามารถลดค่าใช้จ่ายโทรศัพท์ได้ทั้งหมด ไม่ใช่รหัสเพื่อการยกเว้นค่าบริการหรือยกเว้นค่าใช้จ่ายโทรศัพท์

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่ารหัส ##002# เป็นรหัสมาตรฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ใช้บริการกดส่งออกเพื่อยกเลิกบริการโอนสายทุกประเภท (Divert All) ทั้งการโอนสายเข้าสู่บริการ Voice Mail Box หรือการโอนสายไปยังเลขหมายอื่นที่ผู้ใช้ได้ตั้งค่าไว้

ที่มา : กสทช. และ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

รอบรู้ : โฆษณาเกินจริง..เสี่ยงติดคุก!

การโฆษณาขายสินค้าทางออนไลน์ที่มีการระบุข้อมูลสรรพคุณกล่าวอ้างอันเป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินจริง เข้าข่ายเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ทั้งในส่วนของเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่รับงานรีวิวสินค้า และจะถือว่ามีความผิด ดังนี้

  • พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ม.22 ประกอบ ม.47 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 ฐาน “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์” มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากเป็นสินค้าจำพวกอาหารเสริม หรือเครื่องสำอาง มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

ฝากเตือนภัยประชาชนทั่วไป อย่าหลงเชื่อโฆษณาหรือรีวิวที่กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง และกรณีของดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ต้องการจะรับงานรีวิวสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดสินค้า ก่อนรับรีวิวทุกครั้ง

ที่มา : ตำรวจสอบสวนกลาง และ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 15 ตุลาคม 2565

โฆษณาเกินจริง : น้ำมันปลาช่วยต้านปอดอักเสบ

จากกรณีที่มีผู้โพสต์บทความโดยระบุว่าน้ำมันปลาช่วยต้านปอดอักเสบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า น้ำมันปลาเป็นน้ำมันที่สกัดจากปลาทะเล มีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้า 3 ซึ่งยังไม่มีการศึกษาประสิทธิผลที่ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาสามารถต้านการติดเชื้อที่ปอดและต้านไวรัสได้ตามที่กล่าวอ้าง

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลา “ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ปลาทะเลหรือน้ำมันปลา” และ “ควรระวังในผู้ที่เลือดแข็งตัวช้า หรือผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือแอสไพริน” ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจรับประทาน

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันปลามารับประทาน เพื่อหวังผลในการรักษาปอดอักเสบอาจเสียเงินเปล่า และเสียโอกาสในการรักษา แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับผู้บริโภค สามารถรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง ตามธรรมชาติ เช่น ปลาทู ปลาสวาย ไข่แดง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลา ผักโขม วอลนัท เมล็ดแฟล็กซ์ นมและผลิตภัณฑ์นม แทนได้

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ข่าวจริง : ป้ายทะเบียนรถซีดจาง เคลือบสีใหม่ฟรี ที่กรมการขนส่งทางบก ไม่มีค่าใช้จ่าย ถึง 29 ธ.ค.65 นี้

กรมการขนส่งทางบก ขยายระยะเวลาให้บริการเคลือบสีแผ่นทะเบียนฟรีเพิ่มเติมจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาสิทธิให้แก่เจ้าของรถในวันและเวลาราชการ โดยสามารถตรวจสอบหมวดแผ่นป้ายทะเบียนสีหลุดลอกง่าย ซีดจางได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก หรือ https://bit.ly/3Fjon3B โดยแผ่นป้ายทะเบียนที่ตรงกับเงื่อนไข จะไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเคลือบสีใหม่

หลักฐานที่ต้องใช้ ได้แก่ ใบคู่มือจดทะเบียนรถ ฉบับจริงหรือสำเนา และหลักฐานประจำตัวเจ้าของรถ ได้แก่ บัตรประจำตัวเจ้าของรถ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล แล้วแต่กรณี

ส่วนเจ้าของรถที่ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนได้ โดยมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ แล้วนำแผ่นป้ายทะเบียนพร้อมหลักฐานมาติดต่อได้ที่งานแผ่นป้ายทะเบียนรถ อาคาร 7 กรมการขนส่งทางบกโดยตรง ซึ่งสามารถรอรับได้ภายในวันที่ติดต่อทันที หรือยื่นความประสงค์ได้ที่สำนักงานขนส่งที่รถนั้นจดทะเบียนหรืออยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อให้สำนักงานขนส่งที่รับแจ้งจัดส่งแผ่นป้ายทะเบียนเข้ามาเคลือบสีที่กรมการขนส่งทางบก โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการรวมจัดส่งไม่เกิน 7 วันทำการ

สอบถามข้อเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.dlt.go.th/th/ หรือโทรศัพท์ 0 2271 8888

ที่มา : กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

รอบรู้ : จุดสังเกตก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ปัจจุบันการซื้อขายออนไลน์เป็นช่องทางการซื้อขายที่ง่ายและสะดวกที่สุด เพราะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง แต่ในข้อดีก็มีข้อเสียเนื่องจากทำให้หลายคนขาดความรอบคอบ ขาดการตรวจสอบสินค้าจึงทำให้ถูกหลอกได้ง่าย ชวนไปดูเคล็ดลับจุดสังเกตก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

1. ประเภทอาหาร : ต้องมีเลขสารบบอาหารอยู่ในกรอบเครื่องหมาย อย.
2. ประเภทเครื่องสำอาง : ต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง
3. ประเภทยา : ต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา 
4. ประเภทเครื่องมือแพทย์ : ที่ต้องมีใบอนุญาต ต้องมีเครื่องหมาย อย.
5. ประเภทวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน : ถ้าเป็นชนิดที่ 1(อาหาร) ต้องมีเลขที่รับแจ้ง และถ้าเป็นชนิดที่ 2 (เครื่องสำอาง), 3 (ยา) ต้องมีเครื่องหมาย อย. ระบุอยู่ด้วย

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

เตือนภัย : ห้ามใช้น้ำเกลือ Normal Saline แช่คอนแทคเลนส์

จากที่มีการแนะนำว่าสามารถใช้น้ำเกลือในการแช่คอนแทคเลนส์ได้นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่าน้ำเกลือ Normal Saline ใช้แช่คอนแทคเลนส์ไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ หากนำมาแช่คอนแทคเลนส์จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย แต่ใช้ล้างคอนแทคเลนส์ก่อนใช้งานเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรีย และลดการระคายเคืองตาได้

ส่วนน้ำเกลือ Normal Saline ชนิดใช้ภายนอกร่างกาย คือ เกลือโซเดียมคลอไรด์ละลายในน้ำบริสุทธิ์ปราศจากเชื้อ ไม่ผสมวัตถุกันเสีย และไม่ผสมสารฆ่าเชื้อ

หากนำมาแช่คอนแทคเลนส์จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เพื่อความปลอดภัย อย. แนะนำให้แช่คอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาสำหรับแช่คอนแทคเลนส์นาน 4 – 6 ชั่วโมง (แล้วแต่ชนิดของน้ำยา) และหลังจากแช่น้ำยาจนครบเวลาแล้ว ก่อนใช้คอนแทคเลนส์ควรล้างด้วยน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ หรือน้ำเกลือ Normal Saline อีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรียได้

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 9 ตุลาคม 2565

เตือนภัย : ระวัง SMS แจ้งว่าได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล และหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว

ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในหลาย ๆ โครงการ ทำให้มิจฉาชีพเล็งเห็นช่องทางในการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวจากประชาชนไปใช้ในทางที่เสียหาย หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบได้

หนึ่งในวิธีการล่าสุดคือการส่ง SMS แจ้งว่าท่านได้รับเงินช่วยเหลือ จำนวน xxx บาท พร้อมกับแนบลิงก์ให้คลิกเพื่อเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว ผู้ที่ได้รับ SMS ดังกล่าวควรตรวจสอบแหล่งที่มาและลิงก์ให้มั่นใจก่อนกดเข้าไป ซึ่งหาก SMS ที่ได้รับมีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะเป็น SMS หลอกลวง

  • ไม่ทราบผู้ส่ง
  • ข้อความมีพิรุธ
  • แนบลิงก์ต้องสงสัย

และไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวงเกินจริง หากตรวจสอบจนมั่นใจแล้วว่าเป็น SMS หลอกลวง ให้รายงานสแปม หรือกดบล็อกหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องสงสัย

ที่มา : กองบังคับการปราบปราม และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

เตือนภัย : กองอาหาร อย. แจ้งเตือนระงับจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตราหมี่ซีดาพ (Mie Sedaap) หลังสำนักงานอาหารสิงคโปร์พบปนเปื้อนสารที่เป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง

จากที่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานอาหารสิงคโปร์ได้เรียกคืนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจำนวน 2 รายการ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ภาคใต้ตราสินค้า Mie Sedaap ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากพบสารเอทิลีนออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่ ได้แก่

  1. Mi Sedan Korean Spicy Chicken instant noodles หมี่ซีดาพ โคเรียน สไปซี่ ชิคเค่น (บะหมี่แห้งกึ่งสำเร็จรูปรสไก่เผ็ดเกาหลี) (ตราหมี่ซีดาพ) รุ่นหมดอายุวันที่ 21 พฤษภาคม 2023
  2. Mie Sedan Korean Spicy Soup instant noodles หมี่ซีดาพ โคเรียน สไปซี่ ซุป (ตราหมี่ซีดาพ) รุ่นหมดอายุวันที่ 17 มีนาคม 2023

ทั้งนี้ ขอเตือนให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อดังกล่าว จนกว่าจะปรากฏข้อเท็จจริงต่อไป

ที่มา : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก

โฆษณาเกินจริง : ผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน Funton อ้างรักษาฟันโยก ปวดฟัน เหงือกบวม ไม่ต้องถอน

จากกรณีที่มีการบอกต่อสรรพคุณด้านสุขภาพว่าผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน Funton ว่า ฟันโยก ปวดฟัน เหงือกบวม ไม่ต้องถอน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าการโฆษณาตามที่ปรากฏตรวจสอบพบข้อมูลการจดแจ้งเครื่องสำอางไว้ว่าชื่อการค้า ฟันทน (Funton) ชื่อเครื่องสำอาง ฟันทน ยาสีฟันสมุนไพรสูตรเข้มข้น (รสดั้งเดิม) (FUNTON CONCENTRATED HERBAL TOOTHPASTE (ORIGINAL) เลขที่ใบรับจดแจ้ง 76-1-6400037025 ประเภทยาสีฟัน

ยาสีฟันจัดเป็นเครื่องสำอางที่ใช้เพื่อทำความสะอาดฟันและช่องปากในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการอวดอ้างว่าสามารถรักษาฟันโยก ปวดฟัน เหงือกบวม ไม่ต้องถอน เป็นข้อความที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริงและทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง

หากผู้บริโภคที่มีอาการผิดปกติทางช่องปากและฟันหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ อาจทำให้เสียโอกาสในการรักษา มีอาการของโรครุนแรงขึ้นและเสียเงินเปล่า แนะนำผู้บริโภคแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความสะอาดซอกฟัน รวมทั้งให้ไปพบทันตแพทย์ตามนัด หรือทุก 6 เดือน หากมีอาการปวดฟัน ฟันโยก โรคเหงือก หรือมีความผิดปกติในช่องปากควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 8 ตุลาคม 2565

ระวัง : กรุงไทยไม่ได้ส่ง SMS แจ้งสินเชื่อเงินด่วนมั่นคงให้ลูกค้า

จากกรณีที่มีข้อความเกี่ยวกับการเงินระบุว่ากรุงไทยส่ง SMS แจ้งสินเชื่อเงินด่วนมั่นคง ยื่นกู้สูงสุด 3,000,000 บาท เป็นข้อมูลเท็จ

ธนาคารกรุงไทย ระบุอีกว่า ธนาคารไม่มีนโยบายในการส่ง SMS เพื่อเชิญชวนกู้เงิน และไม่มีการส่งลิงก์เพื่อให้ประชาชนกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์แต่อย่างใด

ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และหากพบ SMS อีเมล หรือ LINE ที่มีลิงก์แอบอ้างเป็นธนาคาร หรือพบเหตุผิดปกติ สามารถแจ้งผ่าน Facebook Fanpage Krungthai Care และ Krungthai Contact Center โทร 02-111-1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ข่าวปลอม : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและ ปตท. เปิดลงทุนหุ้นยักษ์ใหญ่ด้วยการสร้างพอร์ตในตลาดหลักทรัพย์ ให้กำไรมากถึง 70%

จากกรณีที่มีโฆษณาระบุว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและ ปตท. เปิดลงทุนหุ้นยักษ์ใหญ่ด้วยการสร้างพอร์ตในตลาดหลักทรัพย์ ให้กำไรมากถึง 70% นั้น ทั้งสององค์กรไม่มีการดำเนินการดังกล่าวตามที่แอบอ้าง และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าวแต่อย่างใด รวมทั้งเป็นการแอบอ้างชื่อและโลโก้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

หากผู้บริโภคพบโฆษณาดังกล่าวอีก สามารถแจ้งไปที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน เว็บไซต์ https://www.pttplc.com/th/Home.aspx หรือโทร 1365 และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.set.or.th/th/home หรือโทร 02-009 9999

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

รอบรู้ : ไฟรั่วในพื้นที่ฝนตกหรือท่วมขังสังเกตได้

ตำรวจสอบสวนกลาง แนะวิธีสังเกตและป้องกันเบื้องต้นในกรณีที่จำเป็นจะต้องเดินลุยน้ำไปในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อไม่ให้ถูกไฟดูด ดังนี้

  • ระหว่างเดินอยู่ในน้ำอย่าจับโลหะ เช่น เสาไฟ ราวสะพาน ตู้โทรศัพท์
  • หากสังเกตเห็นว่าในน้ำบริเวณมีลักษณะเป็นฟองปุด ๆ ขึ้นมาเหมือนฟองของน้ำโซดา ให้สันนิษฐานว่าบริเวณดังกล่าวอาจจะมีไฟรั่ว
  • หากเดินไปถึงบริเวณที่น่าจะมีไฟรั่วในน้ำ ร่างกายจะเริ่มสัมผัสสนามไฟฟ้าได้ ซึ่งจะทำให้มีความรู้สึกคล้ายอาการเหน็บชา แต่ยังสามารถขยับอวัยวะได้อยู่
  • เมื่อเกิดอาการคล้ายเหน็บชาให้หยุดเดิน และไม่ควรสัมผัสกับวัตถุใด ๆ โดยเด็ดขาด สิ่งที่ควรทำ คือ เดินกลับไปยังเส้นทางเดิมเท่านั้น

หากพบว่าบริเวณใดมีไฟฟ้ารั่วให้รีบแจ้งเจ้าของพื้นที่ให้มาหาแหล่งที่เกิดไฟฟ้ารั่วและหาทางตัดวงจรไฟฟ้าทันที และในกรณีที่พบผู้ประสบเหตุจากการถูกไฟดูดให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที

ที่มา : ตำรวจสอบสวนกลาง และ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 7 ตุลาคม 2565

เตือนภัย : มุกใหม่ เนียนเป็นแอปฯ Streaming ดัง ส่งเมลแจ้งชำระค่าบริการ

ตำรวจไซเบอร์แจ้งเตือนภัยประชาชน มุกใหม่มิจฉาชีพจะส่งอีเมลปลอมแจ้งเตือนให้ชำระค่าบริการ จากแอปพลิเคชันสตรีมมิงดังค่ายหนึ่ง ตอนนี้มิจฉาชีพเปลี่ยนวิธีการแล้ว จะส่งอีเมลมาบอกเราว่า ตัดค่าบริการ Netflix, Disney Plus, YouTube หรือ Premium

จากนั้นให้เรากรอกเลขบัตรเครดิตใหม่ พร้อมกับส่ง OTP มาที่มือถือ ถ้าเราเผลอกดเลข OTP ยืนยัน เราอาจจะสูญเงินทั้งบัตร

ที่มา : ตำรวจไซเบอร์ PCT POLICE

ระวัง : เพจลวง Government Savings Bank เป็นเพจทางการของ ธ. ออมสิน

ตามที่มีข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพจ Government Savings Bank เป็นเพจทางการของธนาคารออมสิน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ

ธนาคารออมสิน ได้ชี้แจงว่าเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ใช่เพจเฟซบุ๊กทางการของธนาคารออมสิน การแอบอ้างตัวตนเป็นธนาคารแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันไม่สุจริต เป็นอันตรายต่อผู้ที่ค้นหาข้อมูลในสื่อโซเชียล จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนโปรดระมัดระวัง ไม่ไปกดไลค์ กดแชร์ ไม่สมัครเป็นสมาชิกและร่วมกิจกรรมใด ๆ กับเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นอันขาด เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อการถูกเข้าถึงข้อมูลสำคัญส่วนบุคคล หรือถูกแฮกเฟซบุ๊กได้

หากประชาชนพบเห็นเฟซบุ๊กหรือไลน์แอปพลิเคชันที่ใช้ชื่อธนาคารออมสินไม่ว่าจะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ และมีพฤติกรรมที่เป็นที่น่าสงสัยโพสต์เชิญชวนใช้บริการเงินกู้หรือเชิญชวนให้ทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ โปรดสอบถามหรือแจ้ง GSB Contact Center โทร. 1115

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ข่าวปลอม : นอนตะแคงเล่นมือถือ จะทำให้สายตาเอียง

ตามที่มีข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เรื่องหากนอนตะแคงเล่นมือถือ จะทำให้สายตาเอียง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าการนอนตะแคงเล่นโทรศัพท์มือถือ หรืออ่านหนังสือ ไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสายตาเอียง ซึ่งสายตาเอียงเกิดจากค่ากำลังการหักเหของลูกตาในแต่ละแนวไม่เท่ากัน โดยสาเหตุหลักเกิดจากค่าความโค้งของกระจกตา เช่น ความโค้งของกระจกตาในแนวตั้งไม่เท่ากับความโค้งในแนวนอน ทำให้เมื่อแสงเข้าสู่ดวงตา แสงจะเกิดการหักเหและโฟกัสมากกว่า 1 ตำแหน่งที่จอรับภาพ ซึ่งอาการของสายตาเอียง คือ เห็นภาพไม่ชัด เกิดเงาซ้อน มักมีการเข้าใจผิดว่าผู้ที่มีสายตาเอียงจะเห็นภาพบิดเอียง เช่น เห็นไม้บรรทัดเอียงเบี้ยว ซึ่งอาการนี้ไม่ใช่อาการของสายตาเอียง

อย่างไรก็ตาม การนอนตะแคงเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือมีผลเสีย คือ เมื่ออยู่ในท่าทางลักษณะนี้นาน ๆ จะเกิดการเกร็งกล้ามเนื้อคอ หลัง แขน ส่งผลให้เกิดการอักเสบของกระดูกคอ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ซึ่งการใช้โทรศัพท์มือถือนาน ๆ ไม่ว่าในท่าทางใดก็ตามจะทำให้เกิดอาการล้าตา เมื่อยตา ตาพร่า เนื่องจากการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นการใช้สายตาในระยะใกล้เป็นเวลานาน อาจมีอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา ตาแดง ปวดรอบกระบอกตา ตาพร่ามัว ดังนั้นวิธีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อต้องใช้โทรศัพท์มือถือ คือ ใช้เท่าที่จำเป็น อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม พักสายตาทุก 15 – 20 นาที หากมีอาการทางตาที่ผิดปกติควรปรึกษาจักษุแพทย์

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 6 ตุลาคม 2565

ข่าวปลอม : ผลิตภัณฑ์ Keru ผักในรูปแบบแคปซูล อ้างสรรพคุณเกินจริง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบกรณีที่มีการโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ Keru ผักในรูปแบบแคปซูล อ้างสรรพคุณช่วยชะลอการเสื่อมของสมอง กำจัดไขมัน ล้างหลอดเลือด ลดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และชี้แจงว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในชื่อ เคอีรุ (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) (ตรา เก็นคิ) /KERU (DIETARY SUPPLEMENT PRODUCT) (KENKI BRAND) เลขอย. 72-122461-5-0149 ซึ่งในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผลในการช่วยชะลอการเสื่อมของสมอง กำจัดไขมัน ล้างหลอดเลือด ลดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตามที่กล่าวอ้าง

ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และหากพบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริง สามารถแจ้งไปยัง อย. เบอร์สายด่วน 1556 หรือร้องเรียนมาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่เบอร์ 02 239 2839 กด 1

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ข่าวปลอม : ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร IMUPLUS+ อ้างสรรพคุณแก้ภูมิแพ้ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นโฆษณาเกินจริง

จากที่มีเพจเฟซบุ๊กโพสต์ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม IMUPLUS+ แก้ภูมิแพ้ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และ บำรุง 5 องค์รวมในร่างกาย (ปอด หัวใจ ตับ ม้าม ไต) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบและชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในชื่อ ไอมูพลัส ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรา คิลินเนส/Imu Plus Dietary Supplement Product Kiliness Brand เลข อย. 13-1-11163-5-0086

โดยในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผลในการบรรเทา หรือรักษาอาการภูมิแพ้ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และบำรุงปอด หัวใจ ตับ ม้าม ไต ตามที่อ้าง

อย. ย้ำว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และต้องแสดงคำเตือนดังกล่าวบนฉลาก และหากพบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริง สามารถแจ้งไปยัง อย. เบอร์สายด่วน 1556 หรือร้องเรียนมาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่เบอร์ 02 239 2839 กด 1

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

เตือนภัย : ออมสินและกรุงไทยร่วมกับบริษัทเอกชน ไม่ได้เปิดให้กู้ยืมผ่านไลน์

จากการส่งต่อข้อมูลเชิญชวนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยในเนื้อหาระบุว่า ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยร่วมกับบริษัทเอกชน เปิดให้กู้ยืมผ่านไลน์จำนวน 5,000 – 300,000 บาทนั้น

ทั้งสองธนาคารได้ตรวจออกมาชี้แจงว่าไม่ได้มีนโยบายให้บริการเงินกู้ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ และไม่มีบริการให้สินเชื่อร่วมกับบริษัทเอกชน โดยบริษัทเอกชนนั้นได้แอบอ้างนำชื่อและตราสัญลักษณ์ของทั้ง 2 ธนาคารไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของทั้ง 2 ธนาคาร

จึงฝากเตือนประชาชนไม่หลงเชื่อและแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนคนอื่น ๆ

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ระวัง : อย่าซื้อ “ผลิตภัณฑ์ปลาหมึกกล้วยทั้งตัวแช่แข็ง” โดย JINSHENG AQUATIC PRODUCT ตรวจพบปริมาณแคดเมียมเกินมาตรฐาน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร บริเวณด่านอาหารและยาท่าเรือแหลมฉบัง นำเข้าโดย บริษัท ไทยมารีน่าพาร์ทเนอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 และพบ “ผลิตภัณฑ์ปลาหมึกกล้วยทั้งตัวแช่แข็ง” ผลิตโดย JINSHENG AQUATIC PRODUCT CO., LTD. สาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ระบุรุ่นการผลิต วันที่ผลิต 2021.12.23 วันหมดอายุ 2023.12.22

โดยผลการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบแคดเมียม 6.29 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และอาหารผิดมาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นอาหารไม่ปลอดภัยในการบริโภค และ อย. อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด

ที่มา : เพจ FDA Thai


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 4 ตุลาคม 2565


เตือนภัย : ผลิตภัณฑ์ E-Lutein อ้างสรรพคุณเกินจริง ในการปกป้อง ฟื้นฟู ดูแลดวงตา

จากกรณีที่มีการโพสต์แนะนำเกี่ยวกับสุขภาพโดยระบุว่าผลิตภัณฑ์ E-Lutein ปกป้อง ฟื้นฟู ดูแลดวงตา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในชื่อ อี-ลูทีน (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) E-LUTEIN (Dietary Supplement Product) เลข อย. 10-1-28662-5-0095 ซึ่งในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผลในการปกป้อง ฟื้นฟู ดูแลดวงตาตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

หากผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน เพื่อหวังผลในการฟื้นฟู ดูแลดวงตา อาจเสียเงินเปล่า และเสียโอกาสในการรักษา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ข่าวปลอม : ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อไทรทอง วงเงิน 100,000 บาท ผ่อน 700 บาท ผ่านไลน์

กรณีที่มีผู้โพสต์ โดยระบุว่า ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อไทรทอง วงเงิน 100,000 บาท ผ่อน 700 บาท ผ่านไลน์ ทางธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าธนาคารไม่มีนโยบายให้บริการเงินกู้ผ่านแอปพลิเคชันไลน์แต่อย่างใด

ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ข่าวปลอม : ขมิ้นชันช่วยรักษาโรคฟันผุ

จากสูตรที่บอกว่าให้นำขมิ้นชัน และเบกกิ้งโซดามาขัด หรือพอกที่ฟัน เพื่อรักษาฟันผุนั้น เป็นข้อมูลเท็จ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากขมิ้นชันไม่สามารถรักษาโรคฟันผุได้ โรคฟันผุ เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษา และป้องกันได้โดยวิธีการใช้สมุนไพร ต้องรักษาด้วยการอุดฟัน รักษารากฟันหรือถอนฟันเท่านั้น โดยสาเหตุการเกิดโรคฟันผุ มีดังนี้

  • สภาพฟัน และสภาพช่องปากของแต่ละคน
  • เชื้อแบคทีเรียในช่องปาก
  • อาหาร โดยเฉพาะอาหารหวาน ๆ อาหารที่มีน้ำตาล
  • พฤติกรรมการบริโภค เวลาและความถี่ในการบริโภค

ทั้งนี้ การป้องกันการเกิดโรคฟันผุ มีวิธีปฏิบัติอย่างง่าย ๆ คือ แปรงฟันด้วยสูตร 2-2-2 ได้แก่ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและก่อนนอน, แปรงฟันนานครั้งละ 2 นาที และไม่รับประทานอาหาร และน้ำหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง ใช้ไหมขัดฟันร่วมกับการแปรงฟัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อกำจัดเศษอาหารบริเวณซอกฟัน และหมั่นตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

เตือนภัย : หลุมบนถนนพระราม 2 ทำรถยางแตกเพียบ

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กแฟนเพจเตือนภัยผู้ใช้รถใช้ถนนให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยระบุว่า บนช่องทางหลักถนนพระราม 2 เกิดอุบัติเหตุรถตกหลุมทำให้ยางแตกจำนวนหลายคัน

โดยตรงจุดที่พบพื้นผิวจราจรทรุดตัวหลุมติด ๆ กันหลายหลุมจนทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นบริเวณกลางถนนช่องทางหลัก (กม.ที่ 37) ฝั่งขาเข้า กทม. ตรงหน้าปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ตำบลบางกะเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พบหลุมหลายหลุมไม่ต่ำกว่า 4-5 หลุม แต่ละหลุมลึกเกือบ 20-30 เซนติเมตร ขนาดกว้างพอดีกับล้อรถ และพบรถผู้เสียหายหลายคันจอดอยู่ข้างทาง

ดังนั้น จึงเตือนผู้ขับขี่ให้ระมัดระวังหลุมบนถนนพระราม 2 หลังทำรถยางแตกหลายคัน

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 3 ตุลาคม 2565

เตือนภัย : สาวก NETFLIX ระวัง!! อีเมลปลอม ให้ชำระค่าบริการ

ผู้ใช้แอปพลิเคชันดูหนัง หรือซีรี่ย์ออนไลน์ ที่ต้องชำระค่าบริการรายเดือนหรือรายปี ต้องระวัง!!! ตำรวจสอบสวนเตือนเตือน หลังพบมิจฉาชีพสร้างอีเมลปลอมส่งข้อมูลแจ้งว่าท่านยังไม่ได้ชำระค่าบริการ หรืออ้างว่าไม่สามารถตัดเงินค่าบริการจากบัตรเครดิตของท่านได้

โดยมิจฉาชีพจะให้ท่านดำเนินการกดลิงก์ผ่านอีเมลที่ส่งมา และให้กรอกข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวใหม่ พร้อมกับหลอกให้ใส่รหัส OTP เพื่อยืนยันข้อมูล ซึ่งเมื่อท่านหลงเชื่อดำเนินการไปแล้ว เงินจากบัตรเครดิตของท่านอาจจะถูกดูดไปจนหมดบัญชี

ดังนั้น หากได้รับอีเมลแจ้งให้ชำระเงินค่าบริการต่างๆ ขอให้ตรวจสอบสอบชื่ออีเมลผู้ส่งว่าเป็นอีเมลที่ส่งมาจากผู้ให้บริการแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการหรือไม่ และในการกรอกข้อมูลต่างๆ ควรกรอกผ่านเว็บไซต์ทางการของผู้ที่ให้บริการแอปพลิเคชันนั้นโดยตรง หรือติดต่อสอบถามไปยังฝ่ายบริการลูกค้าของแอปพลิเคชัน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ที่มา : เพจตำรวจสอบสวนกลาง CIB

ข่าวปลอม : เขื่อนอีสานเต็ม 10 วันปล่อยน้ำท่วมกทม.

ตามที่ได้มีข้อความบนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องภาคอีสานน้ำเต็มเขื่อนอีก 10 วัน น้ำเหนืออาจถึงกทม. ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

โดยสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ชี้แจงว่ากรมชลประทานได้สนับสนุนบุคลากรเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปร่วมปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อเร่งช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านการระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงยังสามารถระบายได้ดีเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำมูลเกือบ 2 เมตร กรมชลประทานโดยสำนักเครื่องจักรกลและสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมบริเวณสะพานโขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี จากเดิมที่ติดตั้งไว้แล้วก่อนหน้านี้ที่บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อเสริมการระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขง

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการรับน้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเหนือ โดยการใช้เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในการควบคุมการระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ข่าวปลอม : รักษากระดูกทับเส้นประสาทโดยไม่ผ่าตัด

ตามที่มีการแชร์วิดีโอในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องวิธีการรักษากระดูกทับเส้นประสาทโดยไม่ต้องผ่าตัดโดยสถาบันประสาทวิทยา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

โดยสถาบันประสาทวิทยา ชี้แจงว่าโรคกระดูกทับเส้นที่คนเข้าใจกัน ชื่อที่ถูกต้อง คือ โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ซึ่งมีความรุนแรงหลายระดับ ในรายที่เป็นน้อย การรับประทานยาและพักผ่อนร่วมกับการทำกายภาพบำบัด สามารถทำให้หายได้ แต่ในผู้ป่วยบางราย มีความรุนแรงของอาการมากขึ้น แม้จะได้รับ การรับประทาน ยาแก้ปวด กายภาพบำบัด หรือกายบริหารแล้ว ยังไม่สามารถบรรเทาอาการได้ หรืออาจมีความเสี่ยง ต่อการที่เส้นประสาทเสียการทำงานอย่างถาวร จากการถูกกดทับเป็นเวลานาน จึงอาจมีความจำเป็นที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ถ้าความรุนแรงของโรคเป็นมากถึงขั้นที่ต้องผ่าตัดแล้วผู้ป่วยยังเลือกการรักษาด้วยวิธีทางเลือกดังกล่าว อาจจะเป็นการทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสที่จะรักษาหายได้โดย ไม่มีความผิดปกติของเส้นประสาท กล่าวคืออาจจะมีการปวดเรื้อรัง หรือมีขาอ่อนแรงตามมาได้ การแนะนำวิธีดังกล่าว นอกจากทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดแล้วว่าโรคดังกล่าวไม่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัด อาจทำให้ผู้ป่วย กลับแย่ลงได้จากการทำกายบริหาร ที่ผิดท่าผิดวิธี โดยไม่มีนักกายภาพบำบัดแนะนำอย่างถูกวิธี

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

เตือนภัย : ขับรถฝ่ากระแสน้ำที่ไหลหลากข้ามถนน อันตรายถึงชีวิต


เตือนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่าน หากท่านต้องเผชิญกับสถานการณ์ “น้ำไหลหลากท่วมถนน” แม้ว่าระดับน้ำจะไม่สูงมาก ก็ไม่ควรขับรถฝ่ากระแสน้ำไป เพราะกระแสน้ำอาจแรงกว่าที่คิด อาจทำให้รถเสียหลัก พัดเอาทั้งคนทั้งรถตกถนน จนอาจทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้ ดังนั้น ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอแนะนำวิธีรับมือหากท่านต้องเผชิญกับเหตุน้ำหลากท่วมถนน ดังนี้

ขอให้ทุกคนคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตเป็นอันดับเเรก ไม่ควรขับผ่านถนนที่มีน้ำไหลหลาก ถึงแม้จะมีระดับน้ำไม่สูงมาก ก็อาจเสี่ยงทำให้รถเสียหลัก ถูกพัดไปกับกระเเสน้ำได้ และอาจจมน้ำเสียชีวิตได้

แต่หากกำลังขับรถฝ่ากระแสน้ำ และเริ่มรู้สึกว่ารถเริ่มเสียการควบคุม แนะนำให้จอดรถทันที ให้พิจารณาว่าสามารถขับรถย้อนกลับทางเดิมได้หรือไม่ อย่าพยายามขับรถฝ่าไป เพราะกระแสน้ำอาจเเรงขึ้น จนทำให้เกิดอันตรายได้

ทั้งนี้ สามารถติดต่อสายด่วนเพื่อขอข้อมูล และขอความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้ดังนี้

  • 1193 ตำรวจทางหลวง
  • 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)
  • 1182 กรมอุตุนิยมวิทยา
  • 1199 ศูนย์ปลอดภัยทางน้ำ

ที่มา : เพจตำรวจสอบสวนกลาง CIB


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 2 ตุลาคม 2565

อย่าหลงเชื่อ : โฆษณาผลิตภัณฑ์ Jasmine อ้างสรรพคุณเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์ Jasmine เลข อย. 13-1-09459-5-0090 ทางเว็บไซต์ เป็นโฆษณาหลอกลวง โดยโฆษณาชวนเชื่อนี้ แนะนำว่า ช่วยลดน้ำหนัก ระบุสรรพคุณ กระตุ้นการเผาผลาญได้อย่างดีเยี่ยม… ส่งเสริมการกำจัดไขมันขั้นสุด… กระตุ้นเนื้อเยื่อไขมันสีน้ำตาล… ช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเลือด… ช่วยสลายและใช้งานไขมัน กำจัดไขมันส่วนเกินจากกระแสเลือด ทำให้เนื้อเยื่อไขมันลดลง… มีประสิทธิภาพในการต้านภาวะซึมเศร้า… ช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น… เป็นต้น โดยมีการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับแพทย์หญิงชาวไทยรายหนึ่งถูกไล่ออกจากประเทศชั้นนำ เนื่องจากปฏิเสธที่จะขายผลิตภัณฑ์เผาผลาญไขมันสูตรพิเศษให้แก่บริษัทยาในประเทศนั้น จึงได้ร่วมกับทีมงานผลิตผลิตภัณฑ์จนสำเร็จ

อย.แจ้งว่า โฆษณาดังกล่าวแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควรและไม่ได้รับอนุญาต ส่วนเว็บไซต์ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ หากเกิดปัญหาใด ๆ ในการบริโภคผลิตภัณฑ์จะไม่สามารถตามหาผู้รับผิดชอบได้ นอกจากนี้ ยังพบมีการแอบอ้างชื่อและภาพบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ แต่แท้จริงแล้วนั้น ไม่พบว่าเป็นแพทย์จริงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ภาพหญิง-ชายที่อ้างว่าเป็นผู้คิดค้นและรับรองผลิตภัณฑ์นั้น เป็นภาพหญิง-ชายที่เผยแพร่ทั่วไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว

ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาลักษณะนี้ และให้ผู้บริโภคระมัดระวังอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือสร้างเรื่องราวดึงดูดความสนใจที่เป็นไปไม่ได้ หากมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หากพบเห็นขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. อย่างแน่นอน หากพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 Line : @FDAThai Facebook : FDAThai หรือแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ที่มา: เพจ อย. FDA Thai

เตือนภัย : ลวงว่ากรุงไทยส่งข้อความชวนกู้เงิน

ตามที่มีข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องกรุงไทย ส่งข้อความ SMS ให้ประชาชนเพื่อยื่นรับสิทธิ์สินเชื่อ 60,000 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยธนาคารกรุงไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
ธนาคารกรุงไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ ธนาคารไม่มีนโยบายในการส่ง SMS เพื่อเชิญชวนกู้เงิน และไม่มีการส่งลิงก์เพื่อให้ประชาชนกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์แต่อย่างใด

จึงเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

ข่าวปลอม : ลมพิษป้องกันได้จากการกิน Purified Bile Salt

ตามที่มีการเผยแพร่คลิปในโลกออนไลน์เรื่องลมพิษเกิดจากร่างกายขาดน้ำดี ป้องกันหรือทำให้ดีขึ้นเพียงเพิ่ม Purified Bile Salt วิตามินบี 2 และลดไขมันเหลือ 75 กรัมต่อวัน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

โรงพยาบาลราชวิถี ชี้แจงว่าจากข้อมูลในบทความดังกล่าวไม่มีข้อมูลใดเลยที่สามารถอธิบายเหตุผลได้ตามหลักวิชาทางการแพทย์ ทำให้ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าจะสามารถเป็นการปฐมพยาบาลหากเกิดอาการได้จริง ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และก่อให้เกิดการล่าช้าในการรักษาได้

จึงเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

เตือนภัย : พัสดุ 150 บาท’ ระบาด! มิจฉาชีพสุ่มส่งของลวงเก็บเงินปลายทาง

เตือนภัยมิจฉาชีพ..ส่งกล่องสุ่มพัสดุ 150 บาทตามบ้าน พนักงานส่งของเจอวันหนึ่ง 4-5 กล่องทุกบริษัท..เตือนชาวบ้านหากไม่ได้สั่งของอย่ารับเด็ดขาด..บางคนอยากรู้ยอมจ่ายเงิน 150 บาท เพื่อเปิดดู พบว่าเป็นหน้ากากอนามัยบรรจุในกล่องแค่ 1-2 ชิ้นราคาไม่ถึง 10 บาท

โดยชื่อผู้ส่งเป็นร้านเดียวกันทั้งหมด หน้ากล่องระบุชื่อ-ที่อยู่และเบอร์โทรของผู้รับถูกต้อง ราคา 150 บาทเท่ากันทุกกล่อง ซึ่งพนักงานส่งของก็ต้องถามความสมัครใจของลูกค้าว่าจะรับหรือไม่รับ หากไม่รับจะตีพัสดุกลับคืน

จึงฝากเตือนภัยให้กับประชาชน อย่ารับพัสดุที่ไม่ได้สั่ง

ที่มา : ข่าว TNN online


ข่าวเตือนภัยผู้บริโภค วันที่ 1 ตุลาคม 2565

เตือนภัย : ใช้ชื่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหลอกให้กู้ออนไลน์

ตามที่มีการเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอนุญาตโดยให้รายบุคคลประกอบกิจการธุรกิจเงินกู้ถูกกฎหมายออนไลน์ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้แจงว่าได้ตรวจสอบแล้วไม่พบชื่อบุคคล หรือชื่อร้านดังกล่าวในระบบทะเบียนพาณิชย์ และพบจุดสังเกตหลายจุด ดังนี้

  1. เลขทะเบียนเป็นของจังหวัดสมุทรปราการ
  2. ยื่นขอจดทะเบียนที่จังหวัดเชียงใหม่
  3. ตราประทับเป็นของจังหวัดปทุมธานี
  4. จดโดยใช้รายชื่อบุคคล ซึ่งกรณีเป็นนิติบุคคลกฎหมายกำหนดให้ใช้ชื่อนิติบุคคลเท่านั้น ไม่สามารถใช้ชื่อบุคคลแทนได้ เว้นแต่ยื่นจดทะเบียนในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งจุดที่พบทุกจุดผิดไปจากทะเบียนพาณิชย์ฉบับจริงทั้งหมด
    ดังนั้นจึงเตือนประชานอย่าหลงกลมิจฉาชีพ

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย

เตือนภัย : อย่าหลงกลลวงหลอกเปิดบัญชีม้า

ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนหลายคนหลงเชื่อเปิดบัญชีม้าให้กับแก๊งมิจฉาชีพ เพื่อเเลกกับเงินค่าจ้างในการเปิดบัญชี วันนี้ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) มีรูปแบบกลลวงที่มิจฉาชีพมักนำมาใช้ในการหลอกลวงเหยื่อให้เปิดบัญชีธนาคาร มาฝากเตือนให้ประชาชนทุกคนได้ทราบตำร เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อบัญชีม้า

  • ประกาศรับสมัครงานออนไลน์ โดยจะหลอกให้เปิดบัญชีธนาคารผ่านช่องทางออนไลน์ เเละหลอกให้ส่งหลักฐานข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ให้ เช่น รหัสบัตรประชาชน หรือรหัส OTP
  • เชิญชวนเล่นพนันออนไลน์ โดยจะหลอกให้เปิดบัญชีธนาคารไว้สำหรับรับเงินจากการเล่นการพนัน
  • ประกาศกู้เงินออนไลน์ โดยจะหลอกล่อให้เปิดบัญชีเเละส่งข้อมูลส่วนตัวมาให้ก่อนทำการกู้ยืม ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลของเหยื่อแล้ว มิจฉาชีพจะทำการบล็อคช่องทางการติดต่อทันที
  • แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์หาเหยื่อ หลอกอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ต่างๆ ให้ส่งข้อมูลส่วนตัวมาให้ สำหรับใช้ในการเปิดบัญชีธนาคาร
  • กองบัญชาการสอบสวนกลาง (CIB) จึงขอเตือนภัยไปยังประชาชน การรับจ้างเปิดบัญชีม้า หรือ การยินยอมเปิดบัญชีธนาคารในชื่อของตนให้กับผู้อื่น บัญชีของท่านอาจถูกนำไปใช้ในทางทุจริต และท่านอาจถูกดำเนินคดีในทางอาญาได้

ที่มา : เพจสอบสวนกลาง (CIB)

ข่าวจริง : สปสช.แจกยาคุมฟรี

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสปสช. เปิดให้หญิงไทยอายุ 15 – 59 ปี เข้ารับยาเม็ดคุมกำเนิดผ่านเป๋าตัง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

หญิงไทยทุกสิทธิการรักษาที่อายุระหว่าง 15 – 59 ปี สามารถเข้ารับบริการยาเม็ดคุมกำเนิดได้ที่คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ร้านขายยา โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเวชกรรม และหน่วยบริการปฐมภูมิในเขต กทม. รวมกว่า 2,500 แห่ง ทั่วประเทศ และผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สำหรับวิธีการรับบริการยาคุมกำเนิด สามารถเลือกรับบริการได้ 2 วิธี คือ

  1. กรณีมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน สามารถขอรับยาคุมกำเนิดผ่านแอปฯ เป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกบริการสร้างเสริมสุขภาพ เลือกหน่วยบริการที่จะไปรับ จองสิทธิ และไปรับตามวันที่จองสิทธิ
  2. กรณีไม่มีสมาร์ทโฟน ให้แสดงบัตรประชาชนเพื่อขอรับยาคุมกำเนิด ณ หน่วยบริการที่ร่วมโครงการ โดยผู้รับบริการจะได้รับยาคุมกำเนิดไม่เกิน 3 แผงต่อครั้ง และคนละไม่เกิน 13 แผงต่อปี

สำหรับขั้นตอนการรับบริการยาคุมกำเนิดผ่านแอปฯ เป๋าตังกรณีรับบริการผ่านสมาร์ทโฟน มีดังนี้
– เข้าแอปฯ เป๋าตัง ไปที่เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือก “บริการสร้างเสริมสุขภาพ”
– เลือกสิทธิประโยชน์ที่ต้องการรับ
– ผู้หญิง 15 – 59 ปี จะแสดงสิทธิ “ยาเม็ดคุมกำเนิด”
– ค้นหาหน่วยบริการ และทำการจองสิทธิ
– เดินทางไปรับยาคุมกำเนิดภายในวันที่จองสิทธิ ตามเวลาทำการของหน่วยบริการ
– หน่วยบริการตรวจสอบสิทธิ และบันทึกการรับบริการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
– ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
– Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย


#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค