วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day)

วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day)

เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2502 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันสำคัญสากลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า ‘Consumer Right Day’ โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่มีสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ซึ่งขณะนั้นได้มีการบัญญัติสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานในเริ่มต้น ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร, สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย, สิทธิที่จะเลือกบริโภค และสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา

ในแต่ละปีจะมีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้บริโภค โดยมีสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่มีสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ร่วมกันกำหนดประเด็นการขับเคลื่อนร่วมกันและเป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกร่วมมือกันสะท้อนปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ควรได้รับการปกป้องและคุ้มครอง

สิทธิผู้บริโภคได้ถูกรณรงค์และเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในปี 2525 และประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สหประชาชาติกำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคและได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี 2528 อีกทั้งได้ร่วมกันรับรองสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ 8 ประการ คือ

  1. สิทธิที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน (The right to basic need) เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
  2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ (The right to safety)
  3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (The right to information)
  4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ (The right to choose)
  5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (The right to be heard)
  6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย (The right to redress)
  7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค (The right to consumer education)
  8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย (The right to healthy environment)

อย่างไรก็ตาม จากสิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการข้างต้น ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบอีกในเรื่อง “แนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดหลักการในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั่วโลก และได้มีการแก้ไขปรับปรุงอีกหลายครั้ง ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งล่าสุดคือ ปี พ.ศ. 2558 พบว่ามีประเด็นสิทธิผู้บริโภคเพิ่มเติมที่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติควรนำไปปรับใช้เพิ่มเติม ได้แก่

  • สิทธิที่จะรวมตัวกันเป็นองค์กรของผู้บริโภค เพื่อสะท้อนความเห็นต่อโครงการหรือนโยบายที่กระทบต่อผู้บริโภค
  • สิทธิในการส่งเสริมเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน
  • สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  • สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และเสรีภาพในการติดต่อ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั่วโลก

ในส่วนของประเทศไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการคุ้มครองไว้เพียง 5 ประการ ได้แก่ 1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ 2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

จากความแตกต่างในการรับรองสิทธิผู้บริโภคของไทยและสากล จะเห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยยังรับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้จำกัดเกินไป และไม่เท่าทันสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค หากมีการเพิ่มเติมสิทธิผู้บริโภคในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคของไทยจะเป็นการขยายขอบเขตสิทธิของผู้บริโภคให้ครอบคลุมจะทำให้สถานภาพ บทบาท และโอกาสในการแสดงพลังของผู้บริโภคมีมากขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยก็จะได้รับหลักประกันโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยสี่อย่างเสมอหน้า

ทั้งนี้ ในปี 2566 นี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เห็นว่าควรได้ใช้วาระแห่งวันสิทธิผู้บริโภคสากลที่จะมาถึงในวันที่ 15 มีนาคม 2566 และวาระที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย เป็นโอกาสในการสื่อสารรณรงค์เพื่อให้ผู้บริโภค ภาคการเมือง และทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานโดยใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในครัวเรือนซึ่งช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน

ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จำนวน 283 องค์กร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกขององค์กรผู้บริโภคสากล สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ : “พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน”

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค