Zipmex พบ สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้แจงทางแก้ปัญหาให้ลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย

CEO Zipmex Thailand เดินสายชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาการระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราวกับหลายหน่วยงานที่ถูกผู้เสียหายร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ล่าสุดผู้บริหาร Zipmex Thailand ได้เข้าพบสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อชี้แจงสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา ยืนยันได้คืนสินทรัพย์ดิจิทัลให้ลูกค้าแล้วกว่า 60% ส่วนที่เหลือต้องรอผลการระดมทุนว่าจะมีผู้ร่วมลงทุนรายใหม่เข้ามาร่วมหรือไม่ คาดทราบผลไม่เกิน 2 เดือน  

จากกรณีที่บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex Thailand) แฟลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราวเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมาและสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสนอแนะให้มีการออกเกณฑ์กำกับดูแลบริการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการในไทยให้ครอบคลุมทั้งระบบ และทำให้บริการเหล่านั้นอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย

อีกทั้งขอให้ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขของใบอนุญาตที่ได้รับหรือไม่ เนื่องจากเข้าข่ายลักษณะนำเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุน ซึ่งใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และใบอนุญาตเป็นนายหน้าและผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (Broker/Dealer) ไม่สามารถทำได้นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ดร.เอกลาภ ยิ้มวิลัย ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ‘ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย’ ZipmexThailand เข้าพบ สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อเยียวยาผู้บริโภค โดยระบุว่าการประกาศระงับการเพิกถอนสินทรัพย์เกิดจากปัญหาในบริการซิปอัป พลัส (ZipUp+) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าในไทยฝากสินทรัพย์ไปยัง Zipmex Global ในประเทศสิงคโปร์ โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาทางสภาพคล่องที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลักของ Zipmex Global ได้แก่ บริษัทบาเบลไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ บริษัทเซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) ซึ่งเป็นปัจจัยที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน ZipUp+ ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum, USDT, USDC มีปัญหา

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ชี้แจงความคืบหน้าว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทซิปเม็กซ์ได้รายงานความคืบหน้าผ่านทางช่องทางการสื่อสารของบริษัทถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อให้ลูกค้าทุกรายทราบความเคลื่อนไหว โดย ZipUp+ มีลูกค้าที่ใช้บริการประมาณ 50,000 กว่าราย ราว 95% เป็นลูกค้าในไทย หลังเกิดปัญหาบริษัทฯ ได้เร่งคืนสินทรัพย์ดิจิทัลให้ลูกค้าไปแล้วประมาณร้อยละ 60

โดยลำดับการชำระคืนและการคำนวณสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปตามที่ซิปเม็กซ์โกลบอล (Zipmex Global) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประเทศสิงคโปร์และศาลประเทศสิงคโปร์ระบุ ส่วนที่ลูกค้าที่เหลืออีกร้อยละ 40 บริษัทฯ กำลังแก้ไขปัญหาสภาพคล่องด้วย 2 แนวทาง คือ หนึ่ง การเร่งรัดการฟ้องลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ และสอง การเร่งระดมทุนจากผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่ซึ่งขณะนี้มี 3 รายที่ได้ติดต่อให้ความสนใจคาดว่าจะทราบผลได้ภายใน 2 – 3 เดือนนี้

โดยบริษัทฯ จะเร่งแก้ไขปัญหาและจะพยายามทำให้ทุกอย่างกลับสู่สภาวะเดิมโดยเร็ว ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการร่างแผนการชำระหนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และจะจัดการประชุมใหญ่ที่เป็นผู้บริหารของบริษัทซิปเม็กซ์พบกับผู้เสียหายและลูกค้าของบริษัทฯ เพื่อรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ (Town Hall Meeting) ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้ระงับบริการ ZipUp+ ที่เกิดปัญหาแล้ว ขณะเดียวกันเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น บริษัทฯ ได้ชี้แจงข้อมูลให้กับ ก.ล.ต. และเห็นว่าในอนาคตหากบริษัทฯ มีหลายบริการควรทำให้ลูกค้าเห็นความแตกต่างระหว่างบริการ เช่น อาจต้องแยกแอปพลิเคชัน หรือ แยกเป็นอีกบริษัทเลย เพราะที่ผ่านมาบริการของบริษัทฯ อาจสร้างความสับสนให้ลูกค้า ทั้งนี้ ผู้เสียหายทุกรายสามารถติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากผ่านทางเว็บไซต์ และช่องทางอื่น ๆ อาทิ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ของบริษัทซิปเม็กซ์ได้ โดยที่บริษัทฯ จะมีการชี้แจงเพื่อรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ตามที่ศาลสิงคโปร์กำหนดเงื่อนไขออกมา

ด้าน อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากกรณีบริษัทซิปเม็กซ์ปิดระบบไม่ให้ลูกค้าแลกเงินบาทหรือสินทรัพย์ดิจิทัล กว่า 100 ราย ซึ่งในจำนวนนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคได้พยายามประสานงานกับบริษัทซิปเม็กซ์เพื่อติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม จากการประชุมหารือร่วมกันนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคขอให้บริษัทฯ แก้ไขปัญหาที่เกิดโดยเร็ว และที่ผ่านมาลูกค้าเสียโอกาสในการนำเงินไปฝากในสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น จึงต้องการให้บริษัทฯ เยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้เป็นการทั่วไปด้วย          

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ขอความร่วมมือให้บริษัทฯ จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งในเว็บไซต์ หรือช่องทางการสื่อสารของบริษัทฯ เพื่อเป็นข้อสังเกตให้ผู้บริโภคก่อนที่จะลงทุน อีกทั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภคจะติดตามผลดำเนินการร่วมกับ ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้อง ก.ล.ต. ออกเกณฑ์กำกับดูแลบริการเทรดคริปโทฯ ต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการในไทยให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยทำให้บริการเหล่านั้นอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย และขอให้ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขของใบอนุญาตที่ได้รับหรือไม่ เนื่องจากเข้าข่ายลักษณะนำเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุน ซึ่งใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และใบอนุญาตเป็นนายหน้าและผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (Broker/Dealer) 

และในอนาคต ก.ล.ต. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการลงโทษหรือป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับคนในวงกว้าง เพราะเงินของนักลงทุนไทยจำนวนมากที่มีมูลค่าหลักพันล้านอาจถูกโยกย้ายออกไปนอกประเทศได้โดยง่ายและยากต่อการติดตามคืน (อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : https://www.tcc.or.th/zipmex/)

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค