เรียกร้อง ‘ก.ล.ต.’ ออกเกณฑ์ปิดช่องโหว่คุม ‘บริการเทรดคริปโทฯ’ ให้ครอบคลุมทั้งระบบ ภายใต้กฎหมายไทย

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชี้ กรณี Zipmex ปิดไม่ให้แลกเงินบาทหรือสินทรัพย์ดิจิทัล เกิดจากช่องโหว่ที่หน่วยงานกำกับดูแลบริการต่างประเทศไม่ได้ เรียกร้อง ก.ล.ต. ออกเกณฑ์กำกับดูแลบริการเทรดคริปโทฯ ต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการในไทยให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยทำให้บริการเหล่านั้นอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย และขอให้ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขของใบอนุญาตที่ได้รับหรือไม่ เนื่องจากเข้าข่ายลักษณะนำเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุน ซึ่งใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และใบอนุญาตเป็นนายหน้าและผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (Broker/Dealer) ไม่สามารถทำได้ พร้อมเร่งหน่วยงานแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือผู้บริโภค

จากการที่บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ‘ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย’ Zipmex Thailand บริษัทที่เปิดให้สามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ (เทรดคริปโทเคอร์เรนซี) ประกาศบนเฟซบุ๊กแฟนเพจทางการ Zipmex Thailand ระงับการถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อ 20 กรกฎาคม 2565 ส่งผลให้ลูกค้าไม่สามารถฝากและถอนเงินออกมาได้ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความปั่นป่วนในตลาดคริปโทฯ ในไทยนั้น

22 กรกฎาคม 2565 จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สอบ. กล่าวว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต. กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนไว้ว่า เงิน หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ที่เป็นของผู้ซื้อขาย จะเป็นสิทธิ์ของเจ้าของเงินเท่านั้น หรือผู้ซื้อขายรายนั้น ๆ เท่านั้น

ดังนั้น ผู้ได้รับอนุญาตเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าและผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (Broker/Dealer) ที่ได้รับใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือโยกย้ายถ่ายเทเงินของผู้ซื้อขายไปมาได้ เพราะการนำเอาสินทรัพย์ของผู้ลงทุนไปลงทุนต่อ เข้าข่ายใบอนุญาตผู้จัดการกองทุน ซึ่งเป็นส่วนของใบอนุญาตอื่น หากกระทำการนอกเหนือขอบเขตที่ได้รับอนุญาตมาย่อมเป็นการกระทำผิดต่อหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง           

นอกจากนั้นแล้ว จึงทำให้ ก.ล.ต. สามารถกำกับดูแลได้เพียงในส่วนของเทรดวอลเล็ท (Trade Wallet) เท่านั้น แต่ไม่สามารถกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อีกตัวของบริษัทซิปเม็กซ์ ที่ชื่อว่า ซิปอัป พลัส (Zipup+) ที่มีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า ซีวอลเล็ท (Z wallet) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้ได้ เนื่องจากบริษัทซิปเม็กซ์ได้นำเงินลงทุนจากซิปอัป พลัส ไปฝากไว้กับ ‘ซิปเม็กซ์โกลบอล (Zipmex Global)’ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประเทศสิงคโปร์ และกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ให้อำนาจกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถนำเงินไปลงทุนอื่น ๆ ได้

ดังนั้น เงินลงทุนของผู้บริโภค นักลงทุน หรือผู้ซื้อขายหลายราย จึงถูกนำไปลงทุนกับคู่ค้าจำนวน 2 บริษัท คือ บริษัทบาเบลไฟแนนซ์ (Babel Finance) จำนวน 48,000,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,700 ล้านบาท) และบริษัทเซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) จำนวน 5,000,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 180 ล้านบาท)

ทำให้จำนวนเงินทั้งหมดที่บริษัทซิปเม็กซ์นำไปฝากกับบริษัทคู่ค้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 53,000,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,900 ล้านบาท) ซึ่งปัจจุบันบริษัททั้ง 2 แห่งอยู่ในสถานะขาดสภาพคล่อง ผลกระทบที่ตามมา คือ ผู้บริโภค นักลงทุน หรือผู้ซื้อขายหลายรายไม่สามารถถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัลในซีวอลเล็ทได้

“กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า การควบคุมกำกับการซื้อขายในตลาดคริปโทฯ ยังไม่มีความรัดกุมเพียงพอที่ ก.ล.ต. จะเข้าไปกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ผู้บริโภคจำนวนมากพลาดเข้าไปลงทุน ดังนั้น จึงเห็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลต้องหาแนวทางเข้าไปกำกับ หรือออกกฎเกณฑ์มาควบคุมบริการต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยต้องทำให้บริการเหล่านั้นอยู่ภายใต้กฎหมายของเรา เพื่อปิดช่องโหว่ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตและเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในไทยด้วย” จิณณะ กล่าว

อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สอบ. กล่าวอีกว่า สิ่งที่ ก.ล.ต. จะต้องให้ความสำคัญในการกำกับดูแล คือ มีการดำเนินกิจการที่ผิดต่อหลักเกณฑ์ใบอนุญาตที่ได้รับหรือไม่ การนำเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุนต่อผิดหลักเกณฑ์หรือไม่ หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการกองทุน หรือผู้จัดการกองทุนหรือไม่

ดังนั้น ก.ล.ต. จะต้องมีมาตรการลงโทษหรือป้องปรามมิให้เกิดเรื่องเช่นนี้ หรือควรมีหน่วยงานเฝ้าระวังผู้ประกอบการที่อาจจะมีการดำเนินการในลักษณะนี้อีก เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบกับคนในวงกว้าง เพราะเงินของนักลงทุนไทยจำนวนมากที่มีมูลค่าหลักพันล้านอาจถูกโยกย้ายออกไปนอกประเทศได้โดยง่ายและยากต่อการติดตามคืน

“ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเคลื่อนย้ายเงินที่รวดเร็วมาก เพียงพริบตาเดียวก็สามารถโยกย้ายถ่ายเทไปลงทุนที่อื่นได้ เพราะฉะนั้นหน่วยงานกำกับดูแลควรต้องให้ความสำคัญให้รัดกุมมากกว่านี้ หรือต้องกำหนดกฎเกณฑ์ว่าหากเกิดปัญหาแต่ก็ยังมีสินทรัพย์อื่น ๆ ที่จะสามารถนำมาคืนให้กับนักลงทุนได้” อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สอบ. กล่าว

ประกอบกับเมื่อย้อนกลับไปดูจะเห็นว่า ทุนจดทะเบียนของบริษัทซิปเม็กซ์เมื่อ 25 ตุลาคม 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 112 ล้านบาท แต่ขณะนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกลับมีมูลค่ามากกว่าทุนจดทะเบียน ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลควรต้องเข้ามาควบคุมเสถียรภาพทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความมั่นคง เพื่อทำให้ผู้ที่เข้าไปลงทุนมั่นใจได้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะสามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สอบ. ย้ำเตือนอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่ทุกส่วนต้องให้ความสำคัญและควรเร่งรีบแก้ปัญหาโดยเร็ว หากพบช่องโหว่ควรรีบแก้ไขเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับคนในวงกว้างตามมา

ส่วนผู้บริโภคต้องหาข้อมูลก่อนที่จะเข้าไปลงทุน หากเข้าไปลงทุนในกระดานการแลกเปลี่ยนที่เป็นสากล หมายความว่า กฎหมายของไทยอาจไปคุ้มครองได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรืออาจคุ้มครองไม่ได้ แต่หากยังลงทุนอยู่ในกระดานการแลกเปลี่ยนของไทยจะมี ก.ล.ต. ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล เมื่อเกิดปัญหาก็จะสามารถคุ้มครองและช่วยเหลือได้

ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่เข้าไปลงทุนและได้รับความเสียหายสามารถปรึกษาหรือร้องเรียนกับหน่วยงานกำกับดูแลได้ หรือสามารถปรึกษากับ สอบ. เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือด้านกฎหมายต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค