‘วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี’ วิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 6 จากเงินบริจาคของประชาชน

กองทุนแสงอาทิตย์ เปิดตัว วิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 6 จากเงินบริจากของประชาชน ‘วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี’

วันที่ 9 กันยายน 2565 สมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานในพิธีเปิดตัว “วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)” จากการระดมทุนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ ที่วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ ขนาด 10 กิโลวัตต์ ซึ่งใช้เงินทุนติดตั้ง 400,000 บาท 

โดยที่วิทยาลัยการอาชีพกระบุรีถือเป็นวิทยาลัยแห่งที่ 6 จากทั้งหมด 7 แห่งที่กองทุนแสงอาทิตย์เปิดระดุมทุนจากภาคประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์สร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มศักยภาพด้านการใช้พลังงาน และมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน

สารี อ๋องสมหวัง กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า สิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าด้วยตนเองจะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนสนใจที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงหวังว่าการมีศูนย์เรียนรู้เรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของกระบุรีในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอำเภอกระบุรีและอำเภอใกล้เคียง สามารถเข้าถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน สถานศึกษา สถานพยาบาลและอาคารต่าง ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากโซลาร์เซลล์ในรูปแบบอื่น ๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่า จังหวัดระนองมีความต้องการใช้ไฟฟ้าราว 150 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะเป็นภาคครัวเรือนราวร้อยละ 26 และภาคอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ56 จากอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ เป็นต้น (ข้อมูลพฤศจิกายน 2561) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า จังหวัดระนองมีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานหมุนเวียนจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพอยู่ที่ราว 25 เมกะวัตต์ และตั้งแต่ปี 2545 พื้นที่เกาะพยามได้ริเริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทั้งนี้จังหวัดระนองจึงเป็นจังหวัดที่ควรจะมีการศึกษาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในจังหวัดและวางแผนการนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อปลดระวางการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

สุทิน ทองพลับ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง ระบุ วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนองมีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 412 คน เปิดสอนในระดับปวช. และปวส. ส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน ในวิชาพลังงานและสิ่งแวดล้อม และได้รางวัลชนะเลิศเหรียญทองระดับจังหวัด และเหรียญทองแดงระดับภาคใต้จากการส่งประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม “อุปกรณ์ฉีดพ่นปุ๋ยน้ำแบบเคลื่อนที่พลังงานแสงอาทิตย์”

สุทิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันวิทยาลัยการอาชีพกระบุรีต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 480,000 – 600,000 บาทต่อปี การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งาน และหลังจากนี้วิทยาลัยมีโครงการสร้างเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเปิดการอบรมเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับชุมชนโดยรอบของวิทยาลัย

ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานรณรงค์การปฏิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องปฏิรูประบบพลังงานและเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่เป็นธรรมต่อประชาชน การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับวิทยาลัยการอาชีพกระบุรี ของกองทุนแสงอาทิตย์ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้และลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและสามารถสร้างการจ้างงานและอาชีพจากพลังงานหมุนเวียน ที่จะเป็นคำตอบสำหรับอนาคตของพวกเราได้

ผู้ที่สนใจจะร่วมสนับสนุนโครงการฯ สามารถบริจาคได้ที่บัญชีกองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เลขที่บัญชี 429-017697-4 (ธนาคารไทยพาณิชย์) หรือ บริจาคผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org (แคมเปญ : 150 บาทเพื่อ 7 วิทยาลัยแสงอาทิตย์) ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ เพราะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

*กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย (1) คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ (2) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) (3) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (4) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) (5) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค (6) สมาคมประชาสังคมชุมพร (7) มูลนิธิป่า – ทะเลเพื่อชีวิต (8) บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด (9) Solarder (10) โรงเรียนศรีแสงธรรม (11) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) (12) เครือข่ายสลัม 4 ภาค (13) มูลนิธิภาคใต้สีเขียว (14) เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green (15) มูลนิธิสุขภาพไทย และ (16) กรีนพีซ ประเทศไทย และ (17) สภาองค์กรของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค