Getting your Trinity Audio player ready... |

คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี สภาผู้บริโภค มีมติให้ความช่วยเหลือทาง คดีผู้บริโภค 6 กรณี ครอบคลุมปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ การเงิน ตลอดจนสินค้าและบริการ โดยบางกรณีสนับสนุนให้มีการฟ้องร้องในรูปแบบคดีแบบกลุ่ม เพื่อผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบที่ชัดเจน และคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างเป็นธรรมตามกฎหมาย
วันที่ 5 กรกฎาคม 2568 โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี สภาผู้บริโภค มีมติให้ช่วยเหลือ 6 คดีผู้บริโภค ครอบคลุมทั้งปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ การเงิน รวมถึงการซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่
1) คอนโดไม่เสร็จตามกำหนด ไม่คืนเงินผู้บริโภค
ผู้บริโภครายหนึ่งที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด โครงการกรูฟ เกลซ ลาดพร้าว 20 และชำระเงินจอง ค่าทำสัญญา และเงินดาวน์ แต่สุดท้ายโครงการฯ ไม่สามารถก่อสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายผิดนัด จึงทำบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาเพื่อยกเลิกสัญญาและตกลงคืนเงินทั้งหมดที่ผู้บริโภคจ่ายไป พร้อมดอกเบี้ย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 229,243.48 บาท แต่สุดท้ายโครงการฯ กลับไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลง
กรณีนี้คณะอนุกรรมการฯ มีมติอนุมัติให้ดำเนินคดีช่วยเหลือผู้บริโภค เพราะการที่โครงการฯ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาและข้อตกลงคืนเงิน ถือเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

2) โครงการบ้านจัดสรร ไม่คืนเงินตามสัญญา
ผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านแฝดในโครงการบ้านแสงทอง เรือนแสงธรรม กับบริษัท ซีเนียร์ แคร์ พร็อพเพอร์ตี้ (ไทยแลนด์) จำกัด และได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญา 2,200,000 บาท ต่อมาผู้บริโภคต้องการเปลี่ยนเป็นบ้านเดี่ยว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าแต่ราคาสูงกว่า จึงทำสัญญาฉบับใหม่ โดยได้จ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือทั้งหมด และตกลงขายคืนบ้านหลังเดิมให้แก่บริษัท ซึ่งบริษัทกำหนดเงื่อนไขว่าจะคืนเงินตามสถานะการขายบ้านของบริษัท
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่สามารถสร้างบ้านเดี่ยวให้แล้วเสร็จตามกำหนดได้ ทำสัญญายกเลิกกันบริษัทเรียบร้อย แต่สุดท้ายบริษัทกลับไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยคืนเงินเพียงบางส่วนเป็นมูลค่า 200,000 บาท คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติอนุมัติให้ดำเนินคดีช่วยเหลือผู้บริโภค
3) กรณีจ้างรีโนเวทห้องชุด แต่ผู้รับจ้างผิดสัญญา
ผู้บริโภคว่าจ้างบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับเหมาให้ปรับปรุงห้องพักและได้ชำระเงินล่วงหน้า แต่ผู้รับเหมาไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีการทำสัญญาฉบับใหม่โดยมีกำหนดเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 แต่ผู้รับเหมากลับเข้ามาทำงานเพียง 2 วันหลังทำสัญญาใหม่ ก่อนจะละทิ้งก่อสร้างและเพิกเฉยต่อการติดต่อทวงถาม นอกจากนี้ ผู้รับเหมารายดังกล่าว ยังได้ซื้อเครื่องปรับอากาศเก่าของผู้บริโภครายดังกล่าวไปโดยยังไม่ได้ชำระเงินอีกด้วย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 300,000 บาท ผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคต่อศาลแขวงพระนครเหนือแล้วในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 และศาลได้รับคำฟ้องไว้
เมื่อพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นแล้ว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติอนุมัติการให้สนับสนุนทนายความในคดีที่ผู้บริโภคยื่นฟ้องไว้แล้ว
4) เตรียมฟ้องคดีกลุ่ม กรณีรถยนต์ไฟฟ้าเนต้า
ผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเนต้าประสบปัญหาสำคัญหลายประการ เช่น การส่งมอบทะเบียนป้ายขาวล่าช้า การขาดแคลนอะไหล่สำหรับการซ่อม โดยเฉพาะชุดชาร์จแบตเตอรี่ (CDU) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบรถรวมถึงปัญหาในการเคลมประกันภัยที่ผู้บริโภคบางรายต้องสำรองจ่ายเอง หรือขาดเอกสารรับรองและปัญหาเกี่ยวกับการติดตั้ง Wall Box โดยไม่สามารถติดต่อฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ได้หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการอัปเกรดระบบไฟ
แม้บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) และดีลเลอร์จะชี้แจงแนวทางแก้ไข เช่น ยืนยันการส่งมอบทะเบียนป้ายขาวและอะไหล่ทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม และเสนอขยายระยะเวลารับประกันสินค้า แต่สภาผู้บริโภคและกลุ่มผู้เสียหายพบว่าคำชี้แจงดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงในเชิงปฏิบัติ และไม่ครอบคลุมความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคได้รับจากการไม่สามารถใช้งานรถได้ตามปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการต้องหารถทางเลือก
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติการดำเนินคดีช่วยเหลือผู้บริโภคในรูปแบบคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เพื่อบังคับให้บริษัทฯ รับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้บริโภค
5) กรุงไทย ออโต้ลีส ฟ้องผู้บริโภคผิดนัดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์
ผู้บริโภคทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับกรุงไทยออโตลีส แต่ต่อมากรุงไทยฯ ได้ส่งให้โอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันไปยังบริษัท เนชั่นแนล ไอรานี่ แกส จำกัด โดยได้ทำเป็นหนังสือและแจ้งผู้ร้องให้ทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลว่าทำไมจึงมีการเปลี่ยนบริษัท
ประกอบกับผู้บริโภคได้รับทราบข่าวสารจากหลายช่องทางว่ากรุงไทยออโต้ลีสมีประเด็นเรื่องการไม่ส่งมอบเล่มทะเบียนให้แก่ผู้เช่าซื้อที่ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน จึงเกิดความไม่เชื่อมั่นในตัวบริษัทฯ และตัดสินใจหยุดชำระหนี้
เมื่อผู้ร้องผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน บริษัทจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและได้ยื่นคำฟ้องคดีผู้บริโภคต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นจำนวนเงิน 572,000 บาท เมื่อรับทราบข้อมูลทั้งหมด คณะอนุกรรมการฯ มีอนุมัติให้การสนับสนุนทนายความช่วยเหลือในคดีที่ถูกฟ้อง
6) ถูกดูดเงินจากบัญชีธนคาร กรุงศรีอยุธยา
ผู้บริโภครายหนึ่งตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบล หลอกให้ผู้ร้องกดลิงก์และติดตั้งแอปพลิเคชันมัลแวร์ (RAT) ทำให้มิจฉาชีพสามารถควบคุมโทรศัพท์และเข้าถึงแอปพลิเคชันธนาคารได้ ส่งผลให้เงินในบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยาถูกดูดไปเป็นจำนวน 301,333 บาท แม้ผู้เสียหายจะแจ้งความที่สถานีตำรวจอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และส่งหลักฐานทั้งหมดให้ธนาคารแต่กลับไม่ได้รับการตอบรับและไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา
สำหรับกรณีนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีมติอนุมัติให้ดำเนินคดีช่วยเหลือผู้บริโภค เนื่องจากมองว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาผิดสัญญาฝากทรัพย์ทำให้เงินฝากในบัญชีสูญหาย
ทั้งนี้ การดำเนินการด้านคดีของสภาผู้บริโภคเป็นไปเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิที่ควรจะได้รับตามกฎหมาย และป้องปรามผู้ประกอบธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค สำหรับผู้บริโภคที่พบปัญหาในลักษณะด้านบน หรือพบปัญหาผู้บริโภคอื่น ๆ ปรึกษา – ร้องเรียน ได้ที่สภาผู้บริโภค โทรสายด่วน 1502 (วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) และเว็บไซต์ www.tcc.or.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘กรุงไทย ออโต้ลีส’ ปิดหนี้แต่ไม่คืนเล่มทะเบียน เรียกร้องค่าเสียหายได้