Getting your Trinity Audio player ready... |

หลายคนเลือกติดตั้ง โซลาร์เซลล์ เพราะช่วยประหยัดค่าไฟ แต่รู้ไหมว่าหากติดตั้งผิดวิธี ใช้อุปกรณ์ด้อยคุณภาพ หรือขาดการดูแล อาจกลายเป็นต้นตอของไฟไหม้ในบ้านโดยไม่รู้ตัว ทั้งจากสายไฟเล็กเกินไป อินเวอร์เตอร์ขัดข้อง หรือแผงร้อนสะสมเพราะใบไม้บังแสง บทความนี้พาไปรู้ทันสาเหตุ พร้อมแนวทางป้องกันง่าย ๆ ตั้งแต่เลือกช่าง สเปกอุปกรณ์ ไปจนถึงล้างแผงให้ปลอดภัย เพื่อให้พลังงานสะอาด เป็นพลังงานที่คุณไว้ใจได้ในระยะยาว
โซลาร์เซลล์กลายเป็นทางเลือกยอดนิยมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการลดค่าไฟฟ้าและหันมาใช้พลังงานสะอาด อย่างไรก็ตามแม้พลังงานแสงอาทิตย์จะมอบประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อกระเป๋าเงินของเจ้าของบ้าน ระบบโซลาร์เซลล์เองก็ไม่ใช่สิ่งที่ “ติดแล้วจบ” โดยเฉพาะเมื่อการติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้อุปกรณ์ที่ไม่มีคุณภาพ ก็อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ร้ายแรงได้
ล่าสุดมีกรณีจากผู้ใช้งานรายหนึ่งที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ถึงปัญหาไฟไหม้จากสายไฟที่ละลายหลายจุด ทั้งที่ใช้เชื่อมต่อเพียงเครื่องทำน้ำอุ่นกับเครื่องปรับอากาศเท่านั้น ขณะเดียวกัน บริษัทรับติดตั้งกลับมีเงื่อนไขการรับประกันเพียง 6 เดือน และเมื่อเกิดปัญหาก็ปัดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ทิ้งให้ผู้บริโภคต้องแก้ปัญหาและรับภาระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
เมื่อโซลาร์เซลล์ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของ “ความปลอดภัย” และ “สิทธิของผู้บริโภค” บทความนี้จึงขอพาทุกคนไปสำรวจคำแนะนำสำคัญก่อนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้าน เพื่อให้การใช้พลังงานสะอาด เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และไม่กลายเป็นต้นเหตุของภาระที่ไม่คาดคิดในอนาคต
ปัญหาที่มักเกิดกับระบบ โซลาร์เซลล์
สภาผู้บริโภคชวนพูดคุยกับ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ที่ได้อธิบายว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้านก็เหมือนกับการเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าไปอีกหนึ่งระบบ จึงต้องให้ความสำคัญเรื่อง “ความปลอดภัย” ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
สำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับระบบโซลาร์เซลล์นั้นมี 2 ประเภทหลัก คือ 1) ปัญหาความปลอดภัยด้านระบบไฟฟ้า พบได้จากการติดตั้งที่ผิดพลาด เช่น การเชื่อมต่อสายไฟไม่แน่น การปอกสายไฟไม่เรียบร้อยจนมีทองแดงโผล่ออกมา สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดไฟฟ้ารั่ว ไฟดูด หรือกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้ 2) ปัญหาความปลอดภัยด้านความร้อน เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟไหม้
รศ.ดร.ชาลี อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาความปลอดภัยด้านความร้อนนั้น เกิดได้จากสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง การติดตั้งและอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน เช่น การใช้ตัวเชื่อมต่อที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรม ช่างบางรายใช้เทปพันสายแทนข้อต่อมาตรฐาน MC4 การใช้สายไฟขนาดเล็กเกินไป ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลไม่สะดวกและเกิดความร้อนสะสม อินเวอร์เตอร์ทำงานผิดพลาดจนเกิดความร้อนสูง ประการที่สอง คือ ความร้อนสะสมบนแผง (Hot Spot) เกิดจากเศษใบไม้ ขี้นก หรือสิ่งสกปรกตกบนแผง ทำให้บางจุดไม่ได้รับแสง ทำให้เกิดความต้านทานในจุดนั้นจนร้อนสะสมและลุกไหม้ได้
ใช้โซลาร์เซลล์อย่างไรให้ปลอดภัย
สำหรับผู้สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย โดยมีข้อพิจารณาแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
การเลือกบริษัทติดตั้งและดูแลรักษาระบบ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะจะเกี่ยวข้องกับราคา คุณภาพของอุปกรณ์
- ต้องพิจารณาผู้ติดตั้งที่มีประสบการณ์: ควรสอบถามจากผู้ที่เคยใช้บริการจากบริษัทนั้นมาก่อน หรือดูจากผลงานที่ผ่านมา รวมถึงขนาดและความน่าเชื่อถือของบริษัท
- ตรวจสอบสเปกอุปกรณ์ที่ใช้: เช่น รุ่นของอินเวอร์เตอร์ และตรวจสอบคุณสมบัติการตัดไฟอัตโนมัติด้วยตนเองได้
- ตรวจสอบเงื่อนไขการรับประกันและการดูแลหลังการขาย: การรับประกันหรือการดูแลรักษาระบบเป็นสิ่งสำคัญ บางบริษัทอาจรับประกันเพียง 6 เดือน ซึ่งอาจไม่เพียงพอ ควรสอบถามระยะเวลาการดูแลตั้งแต่แรกซื้อ
การเลือกอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้กับในระบบโซลาร์เซลล์
- เลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่มีฟิวส์ (Fuse) หรืออุปกรณ์จำกัดขนาดกระแสไฟ ซึ่งจะทำหน้าที่ตัดวงจรเมื่อกระแสไฟฟ้าเกินค่าที่กำหนด เพื่อจำกัดหรือป้องกันกระแสไฟเกิน ทั้งนี้ ปกติแล้วจะมีอยู่ที่ด้านหลังของแผงโซลาร์เซลล์ทุกแผงอยู่แล้ว แต่อาจต้องตรวจสอบว่าใช้งานได้หรือไม่
- เลือกอินเวอร์เตอร์ที่มีระบบตัดไฟ โดยสังเกตคำว่า “Over Voltage Protection” ซึ่งเป็นระบบป้องกันเมื่อแรงดันไฟฟ้าเกินค่าที่กำหนด จะตัดไฟอัตโนมัติ หรือ “Thermal Protection” ซึ่งเป็นระบบป้องกันเมื่ออุณหภูมิเกินค่าที่กำหนด จะตัดการทำงานอัตโนมัติ
- เลือกใช้สายไฟที่มีขนาดเหมาะสมและใหญ่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นทองแดงหรืออะลูมิเนียม ขนาดของสายไฟต้องสามารถนำกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดตามที่ต้องการ เพื่อลดความเสี่ยงจากความร้อนสะสม
- ใช้แผงโซลาร์เซลล์มี Bypass Diode ไดโอดนี้จะทำหน้าที่ข้ามแผงที่ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ (เช่น มีขี้นกหรือใบไม้บัง) เพื่อป้องกันการเกิด Hot Spot และลดโอกาสเกิดไฟไหม้บนแผง
การบำรุงรักษา
- หมั่นตรวจเช็กระบบประจำปี : โดยปกติแล้วควรมีการตรวจสอบสภาพระบบโซลาร์เซลล์ทุกปี เช่น การรั่วไหลของไฟฟ้า การเชื่อมต่อที่หลวม หรือรอยแตกบนแผง เพื่อให้มั่นใจว่าระบบยังทำงานได้ตามปกติ บางบริษัทอาจมีบริการบำรุงรักษาแม้ว่าระบบนั้นจะไม่ได้ติดตั้งโดยบริษัทของตนก็ตาม
- การแผงโซลาร์เซลล์เป็นประจำ โดยควรล้างอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณฝุ่นในบริเวณที่ติดตั้งด้วย เช่น หากอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองมาก เช่น ใกล้ถนนใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม ไซต์ก่อสร้าง ควรล้างบ่อยขึ้น อาจจะทุก 1-3 เดือน ซึ่งส่วนมาช่างผู้ติดตั้งจะเป็นผู้ประเมินและแนะนำความถี่ในการล้างให้ผู้บริโภคทราบ
ทั้งนี้ ควรล้างแผงในช่วงเวลาที่ไม่มีการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น ตอนเช้าหรือตอนเย็น และควรตัดระบบหรือปิดระบบก่อนขึ้นไปล้างเพื่อป้องกันไฟดูด เพราะขณะที่พื้นเปียกกระแสไฟฟ้าสามารถไหลย้อนกลับมาตามน้ำได้ ทำให้เกิดไฟดูดได้
การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องมาพร้อมกับความรู้ ความเข้าใจ และการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็น “ทางเลือกที่ยั่งยืน” และไม่กลายเป็นต้นเหตุของอันตรายในบ้าน