เรียกร้อง กสทช. ใช้อำนาจตัดสินกรณีควบรวม AIS – 3BB โดยยึดประโยชน์ผู้บริโภคเป็นหลัก

สภาผู้บริโภค เรียกร้อง คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาการควบรวม AIS – 3BB โดยยึดประโยชน์ผู้บริโภคเป็นสำคัญ และใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

จากกรณีที่ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสทช. เรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ว่าเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 และยึดหลักคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ กสทช. ไม่ควรใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ทั้งที่เป็นช่วงเวลาก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. นัดพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อนำวาระการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ AIS และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB) เข้าพิจารณา นั้น

วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ กสทช. เรียกร้องให้ใช้อำนาจไม่อนุญาตการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท AWN ในเครือ AIS และ 3BB โดยมีพันตำรวจเอก ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. เป็นผู้รับหนังสือ

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคเห็นว่าการให้ความเห็นของประธาน กสทช. ดังกล่าว เป็นการแสดงความเห็นที่ไม่เป็นกลางและชี้นำการประชุมที่จะมาถึงให้คณะกรรมการ มีมติ “รับทราบ” เหมือนเช่นกรณีการควบรวมกิจการ ทรู – ดีแทค ที่ให้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและเงื่อนไขเฉพาะหลังการควบรวมเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การให้ความเห็นดังกล่าวถือว่าเป็นการให้ความเห็นก่อนที่จะได้รับข้อเท็จจริงครบถ้วน และรอบด้านจากที่ประชุมคณะกรรมการ และการวินิจฉัยอำนาจตามกฎหมายในกรณีนี้ ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ไม่ใช่อำนาจของประธาน กสทช. หากประธานรวบรัดไม่ให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาและลงมติในประเด็นอำนาจการพิจารณาคำขอรวมธุรกิจในครั้งนี้ ย่อมกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค

สุภิญญากล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนของผู้บริโภคจึงขอใช้สิทธิ์คัดค้านการใช้อำนาจของประธานในการรวบรัดพิจารณาทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าเป็นกรณีที่ประธานมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง และขอให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเหตุคัดค้านนี้ตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอย่างเคร่งครัดต่อไป

“ด้วยความเคารพต่อเกียรติและศักดิ์ศรีของกรรมการ กสทช. ทุกท่าน สภาผู้บริโภค ขอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณากรณีดังกล่าว และใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบหมายด้วยใจเป็นธรรมโดยไม่อนุญาตให้ถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมเพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของสาธารณะและผู้บริโภค” ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ กล่าว

ด้านอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้ติดตามการบังคับใช้มาตรการป้องกันและเงื่อนไขที่ กสทช. เป็นผู้กำหนดไว้ในการควบรวม ทรู – ดีแทคในเดือนตุลาคม 2565 พบว่า การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและทำให้ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมจำนวนมากของบริษัทใหม่ในนาม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมยังไม่ได้รับความคุ้มครองหรือประโยชน์ตามข้อกำหนดในมาตรการป้องกันและเงื่อนไขเฉพาะแต่อย่างใด ทั้งที่ระยะเวลาผ่านมากว่า 8 เดือน (ประมาณ 240 วัน) หลังบริษัทเปิดดำเนินกิจการ อาทิ ไม่ปรากฏว่าบริษัทจะปฏิบัติตามหนึ่งในมาตรการเฉพาะที่กำหนดให้มีการลดราคาค่าบริการร้อยละ 12 ภายใน 90 วัน

นอกจากนี้ ยังพบข้อร้องเรียนของผู้บริโภคในช่องทางต่าง ๆ ว่า บริษัทได้มีการฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจให้ผู้บริโภคโดยไม่สมัครใจทำให้ราคาแพงขึ้นรายละ 100 บาท ซึ่งสร้างภาระให้ผู้บริโภคที่ต้องนำเรื่องเข้าร้องเรียนโดยไม่มีความจำเป็น มีการลดคุณภาพระบบอินเทอร์เน็ตลงจนเป็นปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ส่งไลน์และข้อมูล และมีปัญหาการย่อหย่อนของคุณภาพบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

อิฐบูรณ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการควบรวมระหว่าง AWN ในเครือ AIS และ 3BB แล้วพบว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ อาทิ ผลกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านจะแตกต่างกันตามพื้นที่ โดยผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงขึ้นราว 9.5% – 22.9% ในพื้นที่ อีกทั้งบริษัทแข่งขันทับซ้อนกันและมีคู่แข่งน้อยราย ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มพ่วงบริการอินเทอร์เน็ตบ้านกับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ซึ่งเมื่อคู่แข่งในตลาดมือถือลดลงเหลือแค่ 2 ค่ายใหญ่ที่มีสัดส่วนในตลาดและศักยภาพในการแข่งขันสูง จะทำคู่แข่งรายเล็กอื่น ๆ ในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจะถูกลดความสามารถในการแข่งขันลง จึงเป็นที่คาดเดาได้ว่า อนาคตตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านอาจเหลือคู่แข่งขันหลักเพียง 2 รายที่เป็นไปในแนวทางเดียวกับค่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

“หาก กสทช. ละเว้นการใช้อำนาจตนเองในการ ‘ไม่อนุญาต’ แต่ลงมติ ‘รับทราบ’ เปิดให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมในกรณี AWN ในเครือ AIS และ 3BB แล้วจะกำหนดให้มีการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ อาจทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงซ้ำรอยกรณี ทรู – ดีแทค และก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคเกือบทั้งหมดของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สภาผู้บริโภคขอคัดค้านต่อการลงมติใด ๆ ที่เป็นการเปิดทางให้มีการควบรวมธุรกิจ AWN ในเครือ AIS และ 3BB  สำเร็จ” รองเขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวทิ้งท้าย

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค

เชิญชวนผู้ใช้บริการค่ายมือถือมาร่วมตอบแบบสอบถามของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้บริการทางโทรศัพท์ แชร์ภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อส่งต่อ กสทช.ที่ต้องการข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ใช่แค่ความรู้สึก ให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา รวมถึงการผลักดันเป็นนโยบาย เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคต่อไป

ร่วมทำแบบสำรวจได้ที่นี่ >> https://forms.gle/bwnNQpcYBvtKhao38