โต้ข่าวกล่าวหาบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศไร้คุณสมบัติ

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ บริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ ที่ทำรายงานผลกระทบจากการควบรวมทรู – ดีแทค เสนอต่อ กสทช. มีคุณสมบัติด้านวิชาการครบถ้วน

ตามที่มีรายงานข่าวในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 ตุลาคม 2565 หัวข้อ “จับตา SCF ที่ปรึกษาต่างประเทศ กสทช. กับที่มา ประสบการณ์ และจำนวนพนักงาน กับ งบประมาณ กสทช.” โดยตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท SCF Associates Ltd. มีคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือครบถ้วนเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอิสระในการวิเคราะห์และให้ความเห็นในการรวมธุรกิจครั้งนี้หรือไม่ นั้น

สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตรวจสอบประวัติและที่มาของบริษัท SCF Associates Ltd. ซึ่งได้รับการว่าจ้างโดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ทำรายงานด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากการควบรวม รวมถึงประวัติของทีมนักวิชาการที่เข้ามาร่วมทำรายงานชิ้นดังกล่าว พบว่า บริษัท SCF Associates Ltd. บริหารงานโดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านกิจการโทรคมนาคมระดับโลก ซึ่งได้รวบรวมทีมนักวิชาการที่มีชื่อเสียงอีกสามท่านมาร่วมทำรายงาน และรายงานดังกล่าวได้สะท้อนความเป็นจริงของผลกระทบต่อประเทศและสังคม หาก กสทช. อนุญาตให้เกิดการควบรวม

สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเห็นว่า บริษัทนี้มีคุณสมบัติด้านวิชาการอย่างครบถ้วนในการทำรายงานวิจัย ชื่อ “รายงานผลกระทบจากการควบรวม” (A Study on the Impact of the Proposed Merger) เพื่อเสนอต่อ กสทช.

ผู้บริหารโครงการนี้ คือ ดร. ไซม่อน ฟอร์จ (Dr. Simon Forge) เป็นนักวิชาการด้านโทรคมนาคมที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นอดีตผู้อำนวยการแผนกไอที สำหรับผู้บริโภคและสินค้าด้านธุรกิจของบริษัท ฮัชชิสัน 3จี (Hutchison 3G UK Ltd) ในช่วงปี 2000 – 2003 และเป็นผู้จัดทำรายงาน “ผู้นำในประเทศยุโรป สำหรับ 5จี” (European Leadership in 5G) ในปี 2017 อีกทั้งยังเป็นผู้ให้ความคิดเห็น ในการประชุมคณะกรรมาธิการด้านอุตสาหกรรม การวิจัย และพลังงาน ของรัฐสภายุโรป (The European Parliament’s Committee on Industry, Research and Energy (ITRE)) อีกด้วย

ดร. ไซม่อนเคยทำงานร่วมกับ กสทช. ในโครงการ แนวโน้มในอนาคตสำหรับการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ในปี 2019 (Future Trends of Internet Regulations (2019)) ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาด้านยุทธศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายอินเทอร์เน็ตในอนาคต

ส่วนโปรเฟสเซอร์ อีริค โปวห์ลิน (Prof. Eric Bohlin) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดดังกล่าว เป็นศาสตราจารย์แผนกการจัดการเทคโนโลยีและเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์ส ในประเทศสวีเดน และเป็นบรรณาธิการบริหารของหนังสือนโยบายด้านโทรคมนาคม นอกจากนี้ยังเคยได้รับตำแหน่งประธานของสมาคมโทรคมนาคมนานาชาติ ในช่วงปี 2004 – 2016 และเคยรับเป็นวิทยากรให้ความรู้ในงานอบรมและสัมมนาต่าง ๆ ของ กสทช.

สำหรับนักวิชาการอีกท่านหนึ่งคือ โปรเฟสเซอร์ มาร์ติน เคป (Prof. Martin Cave) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านการแข่งขัน และการกำกับดูแลอุตสาหกรรมเครือข่าย เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายแห่งเช่น London School of Economics, Warwick Business School, Imperial College และเป็นนักวิชาการอิสระที่สนับสนุนรัฐบาลอังกฤษทบทวนนโยบายหลากหลายด้าน รวมทั้งได้เป็นคณะทำงานวิชาการเพื่อสาธารณะประโยชน์จนกระทั่งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิ์อังกฤษ OBE (Outcome-based education) ด้านสาธารณะประโยชน์ในปี 2009 และท่านยังเป็นผู้เขียนตำราการกำกับดูแลกิจการ ที่สำนักงาน กสทช. นำมาแปลเผยแพร่ต่อ

นอกจากนี้ ผลงานวิชาการของท่านได้มารวบรวมเป็นหนังสือชื่อว่า “เข้าใจการกำกับดูแล ทฤษฎี กลยุทธ์ และหลักปฏิบัติ” (UNDERSTANDING Regulation) ซึ่งเขียนโดย Martin Cave. Robert Baldwin และ Martin Lodge และหนังสือ “หลักการบริหารจัดการคลื่นความถี่ยุคใหม่” (Essentials of Modern Spectrum Management) เขียนโดย Martin Cave, Dr.Chris Doyle, William Webb

จากประวัติของผู้ทำรายงานทั้งสามจึงทำให้มั่นใจได้ว่า รายงานชิ้นนี้เป็นไปตามหลักวิชาการที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ เศรษฐกิจดิจิตอล และประชาชนผู้รับบริการ หากเกิดการควบรวม

ดังนั้น ข้อกล่าวหาในรายงานข่าวข้างต้นที่ว่า บริษัทนี้ “ไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะทำหน้าที่ที่ปรึกษาอิสระในการวิเคราะห์และความเห็นในการรวมธุรกิจครั้งนี้” นั้นจึงไม่เป็นความจริง

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค