Getting your Trinity Audio player ready... |

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข่าวการเสียชีวิตของ “คุณแม่ติ๋ว” หญิงวัย 58 ปีที่ต้องเดินเท้ากลับบ้านกลางดึกเพราะไม่มีรถโดยสารให้บริการ ได้กลายเป็นกระแสสะเทือนใจในสังคมไทยอีกครั้ง เหตุการณ์นี้สะท้อนภาพชัดเจนของปัญหาเชิงโครงสร้างด้าน ขนส่งสาธารณะ ที่ยังขาดความครอบคลุมและปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนรายได้น้อย และผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตเมือง
กรณีดังกล่าวย้ำเตือนคำถามสำคัญว่า “ระบบขนส่งสาธารณะของไทย ปลอดภัย และเท่าเทียมสำหรับทุกคนแล้วหรือยัง?”
กลุ่มเปราะบางเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากยังไม่มีการปรับระบบให้ทุกคนสามารถเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม นอกจากแรงงานที่มีรายได้น้อยแล้ว กลุ่มเปราะบางอย่าง “ผู้สูงอายุ” ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากระบบขนส่งที่ไม่ปลอดภัยและไม่เป็นมิตร
ข้อมูลจากระบบบูรณาการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2558–2567) จำนวนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นจาก 2,834 ราย เป็น 4,307 ราย หรือคิดเป็น เพิ่มขึ้นกว่า 51.8% โดยผู้เสียชีวิตกว่า 80% เป็นผู้ขับขี่เอง ยานพาหนะที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ สาเหตุหลักมาจากความเสื่อมของร่างกายตามวัย โรคประจำตัว และระบบขนส่งที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางอย่างปลอดภัย
ตัวเลขเหล่านี้ ตอกย้ำว่า ขนส่งสาธารณะไม่ใช่เพียงเครื่องมือในการเดินทาง แต่เป็นเงื่อนไขของชีวิตและความปลอดภัย
รถไฟฟ้า 20 บาท ก้าวแรกขนส่งที่เป็นธรรม
วันที่ 1 ตุลาคมนี้ รัฐบาลจะเริ่มเดินหน้า “นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ครอบคลุม 8 เส้นทาง ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ต้องแบกรับค่าเดินทางวันละหลายสิบจนถึงหลักร้อยบาท หากนโยบายนี้สำเร็จ ค่าเดินทางต่อเที่ยวจะไม่เกิน 20 บาท ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้หลายพันบาทต่อเดือน และเปิดทางให้คนทุกระดับรายได้เข้าถึงระบบขนส่งที่รวดเร็วและปลอดภัย
ปัจจุบัน ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ อยู่ในช่วง 16–44 บาทต่อเที่ยว หากต้องเปลี่ยนหลายสาย ค่ารถรายวันอาจแตะ 70–100 บาท/วัน คนทำงานหาเช้ากินค่ำ มักถูกกีดกันจากระบบรางที่แพงเกินไป นโยบายนี้ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เมื่อการเดินทางถูกลง คนชานเมืองมีโอกาสเข้ามาทำงาน เรียน หรือใช้บริการในเมืองได้มากขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมในสังคม และเมื่อคนมีเงินเหลือจากค่าเดินทาง ก็จะมีเงินไปใช้จ่ายด้านอื่น ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
หลายคนตั้งคำถามว่า การที่รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่ออุดหนุนโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะคุ้มหรือไม่ หรือมีแค่คนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ซึ่งผลการศึกษาของภาครัฐงบประมาณที่ต้องจ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 68 – 30 ก.ย. 69 อยู่ที่ประมาณ 5,500 ล้านบาท ขณะที่ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่จะได้รับมีมูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท ทั้งการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ เวลาในการเดินทาง ค่าความสุข การลดมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุ และด้านสิ่งแวดล้อมจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ถึงเวลาจัดระบบ ขนส่งสาธารณะ “เพื่อคนทุกกลุ่ม”
ระบบขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นธรรม ถือเป็นนโยบายเรือธงของสภาผู้บริโภค ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ราคาที่ “ถูก” แต่ต้อง “เข้าถึงได้” สำหรับทุกคน ทุกวัย ทุกเวลา และทุกพื้นที่ ที่นอกจากจะเน้นเรื่อง “20 บาทตลอดสาย” ต้องมีระบบเชื่อมต่อขนส่งหลักกับระบบรองให้ครอบคลุมถึงชุมชนรอบนอก ออกแบบขนส่งสาธารณะให้ปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้สูงอายุ พัฒนาจุดรอรถให้ปลอดภัย สว่าง และมีระบบแจ้งเตือน รวมถึงบูรณาการระบบ “เดินทางต่อเนื่องไร้รอยต่อ” (Seamless Transit)
“รถไฟฟ้า 20 บาท” คือก้าวแรกของการพัฒนาขนส่งให้คนไทยเดินทางได้ในราคาที่เป็นธรรม แต่หากนโยบายไม่มองเห็น “คนที่ยังขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้” เช่น แม่บ้านที่ต้องเดินกลับบ้านยามดึก หรือผู้สูงอายุที่ยังต้องขี่มอเตอร์ไซค์เพียงลำพัง ความสูญเสียเช่นกรณีคุณแม่ติ๋ว หรือสถิติการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ อาจยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป
การเดินทางที่ปลอดภัย คือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน และระบบขนส่งที่ดี ไม่ใช่แค่ “วิ่งเร็ว” หรือ “ราคาถูก” แต่ต้อง “เข้าถึงได้ เป็นธรรม และคุ้มครองชีวิต” อย่างแท้จริง นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หากทำได้ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปเมืองให้เป็นธรรม ทั้งในแง่โอกาส เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่ม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
American tourist who hit Thai woman while riding dirt bike falls to his knees upon learning she died