เยือน ก. สาธารณสุข ถกสิทธิ บริการสุขภาพต้องไม่เสียเงิน คนไข้สีเหลืองได้สิทธิยูเซป

สภาผู้บริโภค หารือ กระทรวงสาธารณสุข แก้ปัญหาการเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ และแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ พร้อมทีมเจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่ายสภาผู้บริโภค เข้าพบรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เพื่อการหารือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค ระบุว่าตลอด 2 ปีที่สภาผู้บริโภคได้เปิดดำเนินงานมา พบว่ามีเรื่องร้องเรียนด้านบริการสุขภาพจำนวน 2,564 เรื่อง โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือเรื่องการใช้สิทธิบัตรทอง 1,171 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 45.67 ของเรื่องร้องเรียนด้านบริการสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีถูกเรียกเก็บเงินยานอกบัญชี และเรียกเก็บค่าบริการนอกเวลา อันดับสอง เป็นเรื่องชำระเงินเอง/เบิกประกันของตนเอง จำนวน 956 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 37.29 อันดับสาม คือเรื่องสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน/สิทธิฉุกเฉินรักษาโควิด19 จำนวน 245 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 9.56

สำหรับประเด็นที่ต้องการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นเรื่อง การถูกเรียกเก็บเงินเกิน หรือถูกเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาลโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บทุกกรณี รวมกรณีการใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือสิทธิยูเซป (UCEP) โดยสภาผู้บริโภคเสนอให้รวมผู้ป่วยสีเหลืองไปในสิทธินี้ด้วย ซึ่งตามสิทธิในปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับสิทธิต้องเป็นคนไข้ระดับสีแดงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงระดับความฉุกเฉินของผู้ป่วยสีเหลืองนั้นมีโอกาสเปลี่ยนเป็นสีแดงในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ การเพิ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สีเหลืองเข้าไปในสิทธิยูเซปจะทำให้ผู้ป่วยได้รับโอกาสในการดูแลมากขึ้น นอกจากนี้ในกรณีการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สารีมีความเห็นว่าโรงพยาบาลรัฐควรได้รับงบประมาณโดยใช้เกณฑ์ระบบการเบิกจ่ายใช้การจ่ายตามรายการที่กำหนด (fee schedule) เหมือนโรงพยาบาลเอกชน

“สำหรับเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ จะมีคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่ออกหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ ซึ่งก็มีข้อสรุปแล้วว่าห้ามเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากประชาชนที่เข้ารับบริการ ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ได้ให้การคุ้มครองดูแลประชาชนผู้มีสิทธิให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข เพื่อไม่ให้มีปัญหาค่าใช้จ่ายที่เป็นอุปสรรค ในทุกรายการที่ให้บริการสามารถเรียกเก็บจาก สปสช. เพื่อเบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้โดยที่ไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย ในส่วนของยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หากเป็นกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาและแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายโดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ร้องขอยาดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ สถานพยาบาลก็สามารถมาเบิกจาก สปสช. ได้เช่นกัน” สารีกล่าว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับประเด็นการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง รวมถึงสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตนั้น ต้องนำหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วมกำหนดไว้ ไปประกาศให้ชัดเจนในระบบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการถูกเรียกเก็บเงินเกิน หรือการถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ

“ปกติการสั่งจ่ายยาโดยทั่วไปโรงพยาบาลจะเลือกใช้บัญชียาหลักก่อน ถ้าต้องจ่ายยานอกบัญชีแพทย์ผู้สั่งต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ แต่กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้สติมีความจำเป็นต้องใช้ยานอกค่ารักษาในส่วนนี้อาจต้องมาดูว่าต้องใช้งบประมาณจากหน่วยงานไหน ส่วนประเด็นการเพิ่มผู้ป่วยสีเหลืองเข้าไปกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นการเพิ่มเคสให้แผนกฉุกเฉิน อาจต้องมีการวางระบบเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยสีเหลืองอย่างทั่วถึง” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ด้าน กรองกาญจน์ พุ่มวิเศษ ผู้อำนวยการสำนักบริการจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินกลาง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ชี้แจงว่า ขณะนี้มีเกณฑ์ประเมินการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต และกรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินแต่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ซึ่งอาจต้องดูเป็นรายกรณีเพิ่มเติม ทั้งนี้ สพฉ. จะรับข้อเสนอเพื่อทบทวนการช่วยเหลือประชาชน แต่หากอยู่นอกเหนืออำนาจอาจต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากประเด็นเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ และเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตแล้ว ยังมีการหารือในประเด็นอื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมด้านการบริการสุขภาพของประชาชนไม่ว่าจะเป็น กองทุนคืนสิทธิและกองทุนผู้ประกันตนต่างด้าว ปัญหาบุคลากรการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย รวมถึงประเด็นการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล และสถานีอนามัย ให้ไปอยู่ส่วน องค์การบริหารส่วนจังหวัด

โดยเรื่องกองทุนคืนสิทธิและกองทุนผู้ประกันตนต่างด้าวนั้น สภาผู้บริโภคได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาเรื่องความสะดวก ในประเด็นการเคลื่อนย้ายสิทธิของผู้ป่วย และเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ต้องพัฒนาให้ทัดเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าปัจจุบันผู้ป่วยสามารถย้ายสิทธิได้ด้วยตนเองได้แล้ว ส่วนกรณีกองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว มีการช่วยเหลือเบื้องต้น แต่การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ก็จะมีผลกระทบต่อเรื่องความมั่นคงของประเทศและงบประมาณไม่เพียงพอ

สำหรับปัญหาบุคลากรการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย และการรอคิวที่นาน สภาผู้บริโภคได้เสนอให้มีการจัดระบบคิวใหม่ทั้งหมด เพื่อลดการเสียเวลาที่โรงพยาบาล ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการเก็บสถิติเวลาที่ใช้ในแต่ละส่วนงาน เพื่อนำไปปรับปรุงขั้นตอนทำงานให้ดีขึ้นและเห็นด้วยกับการจัดระบบคิวใหม่ แต่อาจต้องมีการวางแผนและพัฒนาระบบ ทั้งยังเสนอสร้างกลไกการช่วยแพทย์จบใหม่ให้พร้อมในการทำงาน เพื่อลดภาระงานแพทย์ที่นอกเหนือจากการรักษาผู้ป่วย

ส่วนประเด็นเรื่องการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล และสถานีอนามัย ให้ไปอยู่ส่วน องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประเด็นนี้ยังพบปัญหาบางโรงพยาบาลไม่พร้อมรองรับ ส่วนโรงพยาบาลที่ต้องถ่ายโอนทำให้มีอัตรากำลังไม่เพียงพอ และเรื่องค่าบริการที่ยังไม่ชัดเจนว่าควรเรียกเก็บจากหน่วยงานไหน ในประเด็นนี้อาจต้องมีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้สภาผู้บริโภคยังคงเดินหน้าเรื่องสิทธิการรักษาให้ผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ สำหรับกรณีผู้บริโภคที่ถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บนั้น ทุกหน่วยงานที่ร่วมหารือได้พยายามหาทางแก้ไข ทั้งขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมทุกบริการที่จำเป็น รวมถึงการเลือกใช้ยาต่าง ๆ อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดผู้บริโภคจะต้องเข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างดีที่สุด และต้องไม่มีการถูกเรียกเก็บเงินจากสิทธิของตนเอง

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค