หนุนบังคับติด ABS จยย. ทุกรุ่น หวังลดอุบัติเหตุ จยย. ลง 30%

เวทีสภาฯ ผู้บริโภค หนุนรัฐบังคับผู้ผลิตติดตั้งระบบเบรก ABS ในมอเตอร์ไซค์ทุกรุ่นโดยเฉพาะรุ่นเล็กต่ำกว่า 125 ซีซี ที่มีผู้ใช้ในประเทศไทยมากถึง 80% ของจักรยานยนต์ทั้งประเทศ นักวิชาการยืนยัน อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์หลีกเลี่ยงได้มากถึง 30% หากติดตั้ง ABS

จากกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้สนับสนุนงบประมาณงานทดสอบวิจัยให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สำหรับทำโครงการวิจัยและทดสอบระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์ ขนาดไม่เกิน 125 ซีซี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อรถจักรยานยนต์นั้น

วันนี้ (27 ธันวาคม 2565) ในเวทีเสวนา ‘เผยผลทดสอบ “ระบบเบรก” รถจักรยานยนต์แบบไหนปลอดภัยสุด’ ได้มีการสรุปในสาระสำคัญว่ารถจักรยานยนต์ที่มีการติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system) เป็นจักรยานยนต์ที่ปลอดภัยที่สุด และในการขับขี่ การเบรกพร้อมกันทั้ง 2 ล้อเป็นวิธีเบรกที่มีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากต่างประเทศชี้ชัดว่าปัจจัยทั้งสองจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ประมาณ ร้อยละ 30

นอกจากนี้ การแถลงข่าวได้มีข้อเสนอถึงภาครัฐและผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ ในเรื่องการติดระบบ ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น รวมถึงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเรื่องการเบรก เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน


ดร.ทรงวุฒิ มงคลเลิศมณี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร. พระนคร กล่าวว่า ระยะการหยุดของรถนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของรถเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับระยะการรับรู้และตอบสนองของผู้ขับขี่ อีกทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเบรกยังเกี่ยวข้องกับทักษะในการขับขี่ของผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน

โดยผลสรุปที่ได้จากการวิจัยทดสอบ พบว่า การเบรกพร้อมกันทั้งล้อหน้าและล้อหลัง จะได้ระยะการเบรกที่สั้นที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะที่การเบรกด้วยล้อหลังเพียงอย่างเดียวมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า รถจักรยานยนต์ที่มีระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system) สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยในสถานการณ์ที่ต้องขับขี่เนื่องจากในสถานการณ์จริง ผู้ขับขี่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงขับรถบนพื้นถนนที่เปียกหรือถนนลื่น และผู้ขับขี่แต่ละรายมีทักษะการขับขี่ ทักษะการเบรกที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น การมี ABS จะช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นไถลของล้อ ซึ่งส่งผลให้สามารถควบคุมรถได้ดีขึ้น

“สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ควรเลือกซื้อรถจักยานยนต์ที่ติดตั้งระบบ ABS เนื่องจากสามารถลดข้อจำกัดทั้งจากผู้ขับขี่และสภาพถนนซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ ระบบ ABS นั้นจะเป็นต้องถูกติดตั้งจากต้นทางการผลิต ไม่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมภายหลังได้ จึงมองว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องกำกับดูแลให้รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยทุกรุ่นติดตั้งระบบเบรก ABS” รอง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร. พระนคร ระบุ

ทั้งนี้ สำหรับผลการทดสอบรถจักรยานยนต์ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 125 ซีซี จำนวน 7 รุ่น ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานทั่วไป ได้แก่ 1) Demon GPX 2) Suzuki Skydrive 3) Honda Wave 4) Yamaha Finn 5) Honda MSX 6) Yamaha QBIX และ 7) Suzuki Smash พบว่าระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ทั้ง 7 ตัวอย่างผ่านมาตรฐาน UN Regulation 78 มีคุณภาพมีสมรรถนะเพียงพอกับการนำไปใช้งาน


ด้าน พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ระบุว่า ในประเทศไทยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ขนาดต่ำกว่า 125 ซีซี คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งหมด แต่รถกลุ่มดังกล่าวกลับเป็นกลุ่มที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ติดตั้งระบบ ABS ทั้งที่ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกมีการใช้ระบบ ABS ทั้งในรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

ยกตัวอย่างประเทศอินเดียที่มีการติดตั้งมีการติดตั้งระบบ ABS ในรถจักรยานยนต์รุ่นต่ำกว่า 110 ซีซี ตั้งแต่ปี 2564 โดยข้อมูลจากหลายประเทศบ่งชี้ว่าการติดตั้ง ABS ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ได้ถึงประมาณร้อยละ 30 

“ในประเทศอินเดียรถจักรยานยนต์ที่ติด ABS แพงว่ารถจักรยานยนต์ที่ไม่ติดเพียงประมาณ 3,500 บาท ส่วนในปัจจุบันอยู่ที่ส่วนต่างประมาณ 5,000 – 7,000 บาท ทั้งนี้ มองว่าหากรัฐบาลมีการออกกฎหมายบังคับเรื่องการติด ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น ก็อาจทำให้มีการปรับราคาลง เช่นเดียวกับ กรณีคาร์ซีทที่มีการปรับราคาลดลงเมื่อมีการออกกฎหมาย” พญ.ชไมพันธุ์ กล่าว

สำหรับข้อเสนอแนะเรื่องในเรื่องความปลอดภัยนั้น พญ.ชไมพันธุ์ มีข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้

1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามากำกับดูแลเนื้อหาของโฆษณารถจักรยานยนต์ ที่อาจชี้นำให้เกิดการขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็ว

2) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย ต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นและถูกต้องแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะข้อมูลในเรื่องความปลอดภัย เพื่อใช้ประกอบการเลือกรถจักรยานยนต์

3) ควรส่งเสริมให้มีกลุ่มนักวิชาการที่เป็นกลาง เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และบริษัทรถจักรยานยนต์ควรจะสนับสนุนข้อมูลทดสอบทางวิศวกรรมยานยนต์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา

4) ผู้บริโภคต้องมีสิทธิที่จะได้ใช้รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถสาธารณะในมาตรฐานความปลอดภัยที่เทียบเท่าประเทศอื่น

5) ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความสำคัญต่อรัฐบาลในด้านความปลอดภัยเพื่อให้คนไทยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ถนนอย่างปลอดภัย


ขณะที่ สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการ

ข้อเสนอที่มีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมการขนส่งทางบก มี 4 ข้อ ดังนี้

1) ควรพิจารณาผลักดันให้มีการติดตั้งระบบเบรก ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น โดยอาจขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้ผลิต

2) ควรพิจารณาให้มีการสอบทักษะภาคปฏิบัติการใช้เบรก 2 ล้อ ในการขอรับใบอนุญาตขับขี่

3) ควรพิจารณากำหนดเกณฑ์ให้คนที่ขอสอบใบอนุญาตขับขี่ต้องได้รับฝึกฝนทักษะการขับขี่ และการเบรกที่ถูกต้อง จากโรงเรียนสอนการขับขี่ และ

4) ควรพิจารณาให้มีการทดสอบความสามารถระบบเบรก ด้วยการเบรกจริงหรือเครื่องมือทดสอบแรงเบรกเพิ่มเติมจากการตรวจสอบด้วยสายตา ในการตรวจสภาพเพื่อขอต่อทะเบียนภาษีรถจักรยานยนต์

ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการ มี 4 ข้อ ดังนี้

1) ควรทำการทดสอบระบบห้ามล้อรถจักรยานยนต์ทุกรุ่นที่ขายในประเทศไทยตามประกาศของกรมการขนส่งทางบกและเปิดเผยผลการทดสอบให้สาธารณชนได้ทราบทั้งผลการทดสอบตามเกณฑ์ และระยะห้ามล้อมากน้อยเพียงไร ที่ทำได้ทั้งในเว็บไซต์ของบริษัทและเอกสารโฆษณาขายของรถจักรยานยนต์รุ่นนั้น ๆ โดยผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ถือเป็นหนึ่งผู้มีส่วนได้เสียที่ควรออกมารับผิดชอบต่อสังคมด้วยการแสดงระดับคุณภาพสินค้าที่กล้าให้ข้อมูลอย่างจริงใจกับผู้บริโภค

2) ควรระบุระยะในการเบรกพร้อมวิธีปฏิบัติในคู่มือผู้ใช้ให้ชัดเจน

3) ควรจัดการอบรมภาคปฏิบัติสำหรับการทำความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ขับขี่เรื่องระยะหยุดจากการใช้เบรกแบบต่าง ๆ รวมถึงการใช้เบรก ABS และ

4) ควรติดตั้งระบบ ABS เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น


ส่วน ณัฐนัย หงสุรพันธ์ หัวหน้ากลุ่มมาตรฐานยานยนต์ ระบุว่า กรมขนส่งทางบกมีมาตรการในเรื่องการติด ABS ในรถจักรยานยนต์รุ่นขนาดที่มากกว่า 125 ซีซี ตั้งแต่ปี 2564 กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศเกี่ยวกับระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ โดยอ้างอิงมาตรฐานของ UN R78 ในการกำหนดคุณลักษณะและคุณสมบัติของระบบเบรก

และในวันที่ 1 มกราคม 2567 จะขยายขอบเขตการบังคับใช้โดยกำหนดให้รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบมากกว่า 125 ซีซี ต้องติดระบบเบรกแบบ ABS ส่วนในรถยนต์ที่ต่ำกว่า 125 ซีซี กำหนดให้ผู้ผลิตสามารถเลือกได้ว่าจะติดตั้งระบบเบรกแบบ ABS หรือ CBS (Combine Braking System) ซึ่งเป็นระบบที่กระจายแรงเบรกระหว่างหน้าและล้อหลัง ก็ได้

ทั้งนี้ อุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์นั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากผู้ขับขี่ รถจักรยานยนต์ สภาพถนน หรือแม้กระทั่งยานพาหนะอื่น ๆ ที่อยู่บนท้องถนน เช่น รถบรรทุก กรมฯ จึงมีการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนามาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์สำหรับจักรยานยนต์ใหม่

โดยมีข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องระบบเบรก เพื่อใช้สำหรับรถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก ฯลฯ ควบคู่กันไปเพื่อสร้างให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะมีแผนดังกล่าจะมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะผลักดันให้มีการบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

สำหรับแนวทางการลดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่กรมฯ ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ณัฐนัย ระบุว่า ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยได้ถูกใส่ไว้ในทั้งในกระบวนการก่อนการได้รับใบอนุญาต กระบวนการออกใบอนุญาต และหลังได้รับการออกใบอนุญาต เช่น โครงการอบรมเรื่องความปลอดภัยที่จัดกิจกรรมในโรงเรียนมัธยม เพื่อส่งเสริมการความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนการออกใบอนุญาต

การปรับปรุงหลักสูตรในเรื่องความปลอดภัย เพิ่มการฝึกปฏิบัติ เพิ่มท่าทดสอบเรื่องการใช้เบรก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์จะสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสื่อการเรียนรู้ที่ทางกรมฯ ผลิต โดยผู้ขับขี่สามารถเข้าไปรับชมหรือดาวน์โหลดสื่อต่าง ๆ ได้ที่ https://safedrivedlt.com หรือเฟซบุ๊ก ไลน์ และช่องยูทูบ safedrivedlt

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยและตรวจสอบสมรรถนะการห้ามล้อจักรยานยนต์ตามาตรฐานการทดสอบในประเทศ ได้ที่นี่