เร่งฮอนด้าเยียวยาผู้บาดเจ็บจากถุงลมระเบิด พร้อมจี้กรมขนส่งฯ ส่งสารเตือนภัยถึงมือเจ้าของรถ

สภาองค์กรของผู้บริโภคเร่งบริษัทฮอนด้าจ่ายเงินเยียวยาผู้บาดเจ็บสองรายล่าสุดจากปัญหาถุงลมบกพร่องระเบิดเศษโลหะใส่ขณะเกิดอุบัติเหตุ พร้อมเสนอกรมขนส่งฯ ร่อนจดหมายแจ้งเตือนเปลี่ยนถุงลมนิรภัยถึงเจ้าของรถยนต์กว่าหกแสนคันที่ยังไม่ได้นำรถมาเปลี่ยนถุงลมนิรภัย

จากกรณีเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนและตุลาคม 2565 มีอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ทำให้ผู้ขับขี่บาดเจ็บจากการระเบิดถุงลมนิรภัยบกพร่องยี่ห้อทาคาตะทำให้มีเศษโลหะกระเด็นใส่ทำให้ผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 2 ราย ในขณะขับขี่รถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ ปี 2004 และ ปี 2005 โดยจากการหาข้อมูลพบว่าหลังเกิดเหตุดังกล่าวผู้เสียหายทั้งสองยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ จากบริษัทฮอนด้า นั้น

วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2565) ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) กล่าวว่า หลังทราบเรื่องสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ เชิญตัวแทนกรมขนส่งทางบก ตัวแทนจากบริษัทฮอนด้า และผู้เสียหาย เข้าตรวจสอบวัตถุพยานที่สถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา โดยมีสื่อมวลชน และพนักงานสอบสวนเป็นสักขีพยาน สภาพรถที่เกิดอุบัติเหตุถุงลมระเบิด เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 และได้ยื่นข้อเสนอให้บริษัทฮอนด้าชดเชยค่าเสียหาย เป็นเงิน 1.6 ล้านบาท พร้อมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทยกระดับมาตรการที่เข้มข้นในการเรียกคืนถุงลมนิรภัย ตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหายทันทีที่ได้รับผลกระทบ

ภัทรกร กล่าวเพิ่มเติมเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นข้อเสนอให้บริษัท
ฮอนด้าจ่ายเงินค่าเสียหายโดยตรงรวมถึงค่าเสียหายด้านจิตใจให้แก่ผู้เสียหายรายดังกล่าว ซึ่งเป็นรายที่หกในประเทศไทยที่เกิดจากเหตุถุงลมนิรภัยบกพร่อง เป็นจำนวนเงิน 1.6 ล้านบาท โดยตัวแทนบริษัทฮอนด้าได้รับทราบข้อเสนอเเล้ว และจะเสนอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายสำหรับผู้เสียหายรายที่ 5 นั้นอยู่ระหว่างการประสานงานและหารือการเยียวยา โดยบริษัทฮอนด้านัดเจรจากับผู้เสียหายในวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2565

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้กรมการขนส่งทางบก ยกระดับมาตรการที่เข้มข้นในการเรียกคืนถุงลมนิรภัย โดยส่งจดหมายถึงเจ้าของรถยนต์โดยตรงเพื่อแจ้งเตือนเรื่องการเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย เนื่องจากกรมการขนส่งฯ มีข้อมูลของผู้ครอบครองรถยนต์ อีกทั้งมีข้อมูลรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่แล้ว และมีข้อเสนอถึงผู้ประกอบธุรกิจค่ายรถยนต์ที่พบปัญหาการชำรุดบกพร่องของถุงลมนิรภัยทาคาตะ ให้ร่วมกันตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหายทันทีที่ได้รับผลกระทบเหมือนกับในต่างประเทศ

“รถยนต์ที่ยังไม่ได้เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยส่วนใหญ่ เป็นรถยนต์มือ 2 ซึ่งผู้ประกอบการค่ายรถยนต์จะไม่มีข้อมูลของเจ้าของรถคนปัจจุบัน ในขณะที่กรมการขนส่งฯ มีข้อมูลเจ้าของรถคนปัจจุบัน รวมถึงข้อมูลรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอยู่แล้ว จึงมองว่า กรมการขนส่งฯ ควรส่งจดหมายถึงเจ้าของรถยนต์คนปัจจุบันโดยตรง เพื่อแจ้งเตือนให้เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย และเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้มีผู้บริโภคเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเพิ่มมากขึ้น” ภัทรกร ระบุ

สำหรับรถยนต์ที่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยบกพร่องยี่ห้อทาคาตะเป็นรถยนต์ยี่ห้อ เซฟโรเลต (รุ่นปี 2007-2015) บีเอ็มดับบลิว (รุ่นปี 1998-2018) ฟอร์ด (รุ่นปี 1998-2014) ฮอนด้า (รุ่นปี 1998-2014) มาสด้า (รุ่นปี 2004-2014) มิตซูบิชิ (รุ่นปี 2005-2015) นิสสัน (รุ่นปี 2000-2014) และ โตโยต้า (รุ่นปี 2001-2014)

ทั้งนี้ จากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยให้ข้อมูลจากต่างประเทศเกี่ยวกับรถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ ที่พบปัญหาการชำรุดบกพร่องขของถุงลมนิรภัยทาคาตะ เช่น จากัวร์ (Jaguar) แลนด์ โรเวอร์ (Land Rover) ซูบารุ (Subaru) เทสล่า (Tesla) โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) อาวดี้ (Audi) เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) และเล็กซัส (Lexus) เป็นต้น (อ่านข่าวได้ที่ : https://www.tcc.or.th/27102022-takata-airbag/) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับผู้บริโภคได้ เบื้องต้นสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เร่งประสานงานกับบริษัทรถและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบต่อไป

สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการตรวจสอบยี่ห้อรถยนต์ว่าเข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://www.tcc.or.th/warning-airbag/ หรือเว็บไซต์ www.checkairbag.com หรือนำรถยนต์เข้าไปตรวจสอบได้ที่ศูนย์บริการทุกสาขา หรือติดต่อสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่ารถยนต์เข้าข่ายต้องเปลี่ยน สามารถติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ เพื่อนำเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

หากพบปัญหาการถูกปฏิเสธไม่รับเปลี่ยนถุงลมนิรภัย หรือถูกเรียกเก็บค่าบริการ หรือพบปัญหาอื่น ๆ สามารถร้องเรียนไปยัง สคบ.) ที่เบอร์ 1166 หรือร้องเรียนออนไลน์ได้ที่ complaint.ocpb.go.th หรือร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่ https://crm.tcc.or.th/portal/public อีเมล [email protected] โทรศัพท์ 02 239 1839 กด 1 ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) @tccthailand หรือ   อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) สภาองค์กรของผู้บริโภค

ข้อมูลผู้เสียหายรายที่ 5 และ 6

ผู้เสียหายรายที่ 5 คือ สุพจน์ บุญวงค์ เป็นผู้เสียหายจากถุงลมทาคาตะ ในรถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ ปี 2004 เกิดเหตุวันที่ 25 กันยายน 2565 ที่จังหวัดพะเยา โดยผู้เสียหายขับรถขณะฝนตกหนักและเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ลื่นไถลชนเสาไฟฟ้า เมื่อถุงลมทำงานได้มีวัตถุบางอย่างกระเด็นใส่ร่างกายของผู้เสียหาย โดยทะลุจากคอด้านหน้า ไปค้างคอด้านหลัง ผ่านไขสันหลัง จนทำให้เป็นอัมพาต ต้องใส่ท่อช่วยหายใจที่คอ และปัจจุบันยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ผู้เสียหายรายที่ 6 คือ วรชัย สมบัติเจริญกิจ เป็นผู้เสียหายจากถุงลมทาคาตะ ในรถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ ปี 2005 เกิดเหตุวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยผู้เสียหายเล่าว่าเมื่อถุงลมทำงาน ได้มีโลหะวัตถุขนาด 3 ซม. พุ่งชนทะลุคาในหน้าอกและเศษเหล็กบาดช่องท้อง ปัจจุบันยังคงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่เป็นระยะ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่