จี้ ‘ผู้ว่าฯ – สภากทม.’ ยกเลิกคำสั่ง คสช. เคาะค่ารถไฟฟ้าราคาถูก

สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือ ผู้ว่าฯ กทม. เรียกร้อง 5 ประเด็น แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ในราคา 15 บาท ตลอดสาย รวมค่าบริการสูงสุดไม่เกิน  44 บาท  พร้อมยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 และใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุน จัดประมูล ทำสัญญาใหม่ แก้ไขปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

จากกรณีในวันที่ 14 กันยายน 2565 สภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะประชุมพิจารณาแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวและปัญหาหนี้สินค้างจ่ายและนโยบายจัดเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ในเส้นทางช่วง แบริ่ง – สมุทรปราการ และหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ระหว่างสูตร 15 บาทตลอดสาย และสูตร 14+2X เมื่อรวมเส้นทางหลักจะเก็บค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 59 บาท นั้น

ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวและทำให้ราคาค่าโดยสารเป็นธรรมกับผู้บริโภค

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ติดตามประเด็นราคาค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาโดยตลอด พิจารณาแล้วเห็นว่า หากกรุงเทพมหานครจัดเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ในอัตรา 14+2X ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 จะทำให้ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลายเป็นเส้นทางใหม่ที่คิดค่าบริการตามระยะทางโดยทันที และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่า 100%

ขณะที่ตัวเลขประมาณการจำนวนผู้โดยสารต่อวันและรายได้ค่าโดยสารระหว่างการจัดเก็บค่าบริการทั้งสองรูปแบบระหว่างรูปแบบที่หนึ่ง 15 บาทตลอดสาย และรูปแบบที่สอง 14+2X ของกรุงเทพมหานครพบว่า กรุงเทพมหานครจะมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่ต้องสนับสนุนเพิ่มเติมเพียง 18.6 ล้านบาท เท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดราคาที่เหมาะสมเป็นธรรมและผุ้บริโภคไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาสัมปทานและการกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้

1) ขอให้กรุงเทพมหานครกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคในราคา 15 บาทตลอดสาย เมื่อรวมเส้นทางหลักจะเก็บค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 44 บาท ตามสิทธิสัญญาสัมปทานของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

2) ขอให้กรุงเทพมหานครเจรจาพักชำระหนี้กับกระทรวงการคลัง หรือคืนภาระหนี้ค่าก่อสร้างและกรรมสิทธิ์รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 69,105 ล้านบาท ให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงคมนาคม เนื่องจากหากกรุงเทพมหานครรับภาระหนี้ดังกล่าวจะกระทบต่อสัญญาสัมปทานหลักที่จะครบอายุสัญญาในปี 2572 และทำให้มีปัญหาได้ในอนาคต

3) ขอให้กรุงเทพมหานครออกซีเคียวริไทเซชัน (Securitization) ซึ่งเป็นกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ โดยการระดมทุนจากรายได้ในอนาคตมาใช้หนี้ค้างจ่าย เนื่องจากหากหมดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงเส้นทางสัมปทานหลักที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 จะมีผลให้กรุงเทพมหานครสามารถบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 59 สถานีได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถนำรายได้ดังกล่าวไปชำระหนี้ค้างจ่ายได้

4) ขอให้กรุงเทพมหานครเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 เพราะเป็นผลผูกพันที่ทำให้กรุงเทพมหานครต้องขยายเวลาสัญญาสัมปทานจากปี 2572 ออกไปถึงปี 2602 และเก็บค่าบริการในอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งเป็นภาระกับผู้บริโภคนานถึง 37 ปี โดยขอให้เข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เนื่องจากกรุงเทพมหานครยังมีระยะเวลาจัดทำแนวทางดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทาน 5 ปี และขอให้ใช้วิธีการประมูลจ้างการเดินรถหรือทำสัญญาร่วมทุน (PPP) โดยแยกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเดินรถและสัญญาหาประโยชน์จากการโฆษณาและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 

5) ขอให้กรุงเทพมหานครตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนให้ดำเนินการขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้และมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าโดยสาร การเชื่อมต่อระบบบริการ และกำกับคุณภาพบริการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในกรุงเทพมหานคร



#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค