เสียงจากพื้นที่เขย่ากลไกกลาง เปิดแผนจัดการถังแก๊สเสื่อม

Getting your Trinity Audio player ready...

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาถังแก๊สหุงต้มหมดอายุและไม่ได้มาตรฐานกลายเป็นหนึ่งในประเด็นเรื้อรังที่สะท้อนความเปราะบางด้านความปลอดภัยในครัวเรือนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทหรือชุมชนเมืองที่ร้านค้าปลีกขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แม้จะเคยมีการเสนอข่าวในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายในระดับพื้นที่และการสะท้อนเสียงจากเคสร้องเรียนจำนวนมากตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าปัญหานี้ยังคงอยู่ และหากไม่เร่งจัดการ อาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมซ้ำซากที่ป้องกันได้

จากรายงานการประชุมหน่วยงานเขตพื้นที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2568 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้โดย อาจารย์ชโลม เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ได้สะท้อนบทเรียนจากการสำรวจร้านค้าจำหน่ายแก๊สหุงต้มใน 9 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และชุมพร ร่วมกับ สมาคมธุรกิจประกอบการ พบว่า 1 ใน 5 ของถังแก๊สที่ใช้งานอยู่หมดอายุแล้ว ขณะเดียวกันมาตรฐานร้านค้าแตกต่างกันอย่างมาก หลายแห่งขาดใบเสร็จรับเงินที่แสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของถังชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคขาดหลักฐานยืนยันเมื่อต้องการเปลี่ยนถังหรือซ่อมแซม

สิ่งที่น่ากังวล คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่มักใช้ถังแก๊สตราบเท่าที่ยังไม่ชำรุดทางกายภาพ ยิ่งตอกย้ำช่องโหว่ความรู้ด้านความปลอดภัย อีกทั้งยังพบว่าแหล่งจำหน่ายและโรงบรรจุก๊าซบางแห่งยังดำเนินการโดยไม่ผ่านการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ในเวทีเดียวกัน ผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงานเสนอแนวทางที่สำคัญ ได้แก่

  • ตรวจสอบร้านค้าอย่างต่อเนื่อง ปีละครั้ง และมีมาตรการลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด
  • การบังคับใช้กฎหมายของกรมธุรกิจพลังงานอย่างเข้มงวด
  • จัดตั้งสายด่วน HOTLINE เลข 4 ตัว เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์เรื่องก๊าซหุงต้มและพลังงานอื่น ๆ
  • การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลร้านค้าในพื้นที่
  • ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดมาตรฐานเอกสาร เช่น ใบเสร็จ ใบมัดจำ ที่ชัดเจน

ในระดับปฏิบัติ ด้านเคสร้องเรียนจากผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ตอกย้ำปัญหาที่สะท้อนภาพซ้ำ เช่น ถังหมดอายุโดยไม่มีการแจ้งเตือนจากร้านค้า พบที่จังหวัดนราธิวาสและพระนครศรีอยุธยา ถังไม่มีวันหมดอายุระบุไว้ หรือหัววาล์วหลวมจนก๊าซรั่ว พบที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งล้วนเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่บางร้านกลับปฏิเสธความรับผิดชอบหรือไม่รู้ข้อกำหนดที่ควรปฏิบัติด้วยซ้ำ

แม้การขับเคลื่อนจะมีความคืบหน้า แต่ยังต้องจับตาการแปลงแนวทางสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ระบบกำกับควบคุมยังอ่อนแอ เพราะท้ายที่สุด ความปลอดภัยของผู้บริโภคไม่ควรถูกปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา หากแต่ควรเป็นผลจากนโยบายที่ครอบคลุมและกลไกที่เข้มแข็ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

รู้ทันทุก ‘ปัญหาแก๊ส’ รวมช่องทางติดต่อที่ต้องรู้

เช็กก่อนใช้ ระวังอันตรายหากใช้ถังแก๊สหมดอายุ

สำรวจถังแก๊สในจังหวัดสงขลาพบร้อยละ 20 เป็นถังแก๊สหมดอายุ จนรู้สึกเหมือนมีลูกระเบิดในบ้าน