การสำรวจราคาผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรในประเทศไทย

จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเกิดภาวะขาดแคลนยารักษาในระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ถึงขั้นต้องจัดระบบ Home isolation ทำให้ประชาชนต้องจัดหาซื้อยากินเอง ซึ่งล่าสุดราชกิจจานุเบกษา ประกาศ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ให้ฟ้าทะลายโจรอยู่ในบัญชียาหลัก เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2564 รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรอย่างถูกต้อง และเกิดการกำกับติดตามดูแลคุณภาพผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรอย่างถูกต้อง ต่อมาไม่นานพบว่าเกิดภาวะการขาดแคลนยาฟ้าทะลายโจร และมีราคาสูงขึ้น รวมถึงการจำหน่ายสินค้าปลอม อวดอ้างโฆษณาเกินจริง

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) หน่วยงานประจำจังหวัด และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ซึ่งมีบทบาทภารกิจในการเฝ้าระวังและจัดทำข้อเสนอต่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันต่อสถานการณ์ จึงสำรวจสถานการณ์ของยาฟ้าทะลายโจร ระหว่างวันที่ 1 – 12 สิงหาคม 2564 ทั้งในส่วนของร้านขายยา และความคิดเห็นจากผู้บริโภค ที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทั่วประเทศ รวม 37 จังหวัด ได้แก่

  1. ภาคเหนือ 9 จังหวัด : เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ และน่าน
  2. ภาคกลาง 4 จังหวัด : นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และสิงห์บุรี
  3. ภาคใต้ 6 จังหวัด : กระบี่ ชุมพร ปัตตานี สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี
  4. ภาคตะวันออก 5 จังหวัด : จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สมุทรปราการ และระยอง
  5. ภาคตะวันตก 7 จังหวัด : กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
  6. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด : ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด

กรุงเทพมหานคร 6 โซน : โซนศรีนครินทร์ โซนบูรพา โซนรัตนโกสินทร์ โซนธนบุรีเหนือ โซนธนบุรีใต้ และโซนเจ้าพระยา โดยมีผลการสำรวจดังนี้

1.แหล่งขายผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร

จากการสำรวจแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ได้แก่ ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ และอื่น ๆ ทั่วประเทศจำนวน 879 แห่ง 527 ตัวอย่าง ครอบคลุม 37 จังหวัด เกี่ยวกับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรของผู้บริโภค ทั้งในประเด็นสถานที่จำหน่าย การมีสินค้าจำหน่าย รูปแบบสินค้าที่จำหน่าย ข้อมูลฉลากบนสินค้า (ชื่อ แบบ/ชนิดของยา เลขที่หรือทะเบียนตำรับยา ปริมาณยา และจำนวนที่บรรจุ ราคาต่อหน่วยบรรจุ ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ การระบุคำสำหรับยาสามัญประจำบ้าน วิธีรับประทาน คำเตือน/ข้อควรระวัง) และประเด็นปัญหาที่พบในพื้นที่ พบว่า ร้านขายยายังคงเป็นแหล่งที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรมากถึงร้อยละ 82.8 รองลงมาคือ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าชุมชน อื่น ๆ เช่น ร้านค้าแผงลอย ร้านถ่ายเอกสาร สถานพยาบาล และผลิตเอง และร้านค้าทั่วไป ดังภาพที่ 1

โดยสถานะสินค้าผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ร้านขายยายังคงมีจำหน่ายถึง ร้อยละ 63.2 และพบว่า ส่วนใหญ่จำหน่ายในรูปแบบกระปุก ซึ่งช่วงสินค้าหมดจะเกิดเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นฟ้าทะลายโจรแบบเม็ดมากที่สุด ร้อยละ 45.04 รองลงมาคือ ผงบด สารสกัดธรรมดา สารสกัดเข้มข้น ลูกกลอน และมีบางส่วนที่ไม่ทราบข้อมูล ตามลำดับดังภาพที่ 2 ซึ่งผู้ขายส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง หรือควรใช้ยาตามฉลาก เป็นต้น

ในส่วนของฉลากจะพบว่า ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรส่วนใหญ่ร้อยละ 90.9 แสดงฉลากบนผลิตภัณฑ์ และมีเพียงร้อยละ 9.1 ที่เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่มีฉลาก จะพบได้จากการสำรวจในพื้นที่ภาคต่าง ๆ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 พื้นที่รายภาคที่สำรวจพบผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรที่ไม่มีฉลากบนผลิตภัณฑ์ สำรวจระหว่างวันที่ 1-12 สิงหาคม 2564

ที่ภาคจังหวัด/เขต
1เหนือแม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน และอุตรดิตถ์
2กลางสระบุรี และสิงห์บุรี
3ใต้สตูล ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และชุมพร
4ตะวันออก
5ตะวันตกประจวบคีรีขันธ์ และกาญจนบุรี
6ตะวันออกเฉียงเหนือบุรีรัมย์ และนครราชสีมา
7กทม.จตุจักร คลองสาน มีนบุรี คลองสามวา หนองจอก และพระนคร

ฉลากของยาฟ้าทะลายโจรส่วนใหญ่จะมีข้อมูลแสดงเกี่ยวกับชื่อ เลขที่ หรือทะเบียนตำรับยา ปริมาณยา และจำนวนที่บรรจุ วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ และข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ มีเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น ที่ฉลากแสดงปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ และมีการระบุคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” เพียงร้อยละ 56.4  

สำหรับราคาเฉลี่ยทั่วประเทศของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ในรูปแบบต่าง ๆ ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว พบว่า

  1. แบบผงบด มีราคาเฉลี่ยต่อเม็ดเท่ากับ 2.59 บาท โดยพบว่าภาคตะวันออก ที่จังหวัดจันทบุรี ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อแอนดร็อกซิลราคาสูงสุด แผงละ 100 บาท (1 แผงมี 10 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 10 บาท
  2. แบบเม็ด มีราคาเฉลี่ยต่อเม็ดเท่ากับ 2.72 บาท โดยพบว่าพื้นที่ กทม. เขตบางขุนเทียน ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อแอนดร็อกซิลราคาสูงสุด กระปุกละ 280 บาท (30 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 9.33 บาท
  3. แบบสารสกัดธรรมดา ราคาเฉลี่ยต่อเม็ดเท่ากับ 2.99 บาท โดยพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์ ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อฟ้าทะลายโจรแคปซูล ราคาสูงสุด แผงละ 100 บาท (1 แผงมี 10 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 10.00 บาท
  4. แบบสารสกัดเข้มข้น ราคาเฉลี่ยต่อเม็ดเท่ากับ 5.53 บาท โดยพบว่าภาคเหนือ จังหวัดแพร่ ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อยาแคปซูลสมุนไพรฟ้าทะลายโจรตราสามหมี ราคาสูงสุด แผงละ 150 บาท (1 แผงมี 10 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 15.00 บาท
  5. แบบลูกกลอน ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยบริโภคเท่ากับ 1.18 บาท โดยพบว่าพื้นที่ กทม. เขตบางซื่อ ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อม้าปลาคู่ ราคาสูงสุด กระปุกละ 185 บาท (100 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 1.85 บาท รายละเอียดดังตารางที่ 2

          จะเห็นได้ว่าจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรทุกชนิด ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วมีราคาสูงกว่าราคากลาง ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดราคากลางยาแผนไทย พ.ศ.2558 ที่แคปซูลละ 0.94 บาท (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ตารางที่ 2 ราคาตามแบบ/ชนิดของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว สำรวจระหว่างวันที่ 1-12 สิงหาคม 2564

นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาจากการสำรวจที่พบมากที่สุดเกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจร ที่ขายในท้องตลาดทั่วไป คือ ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรมีราคาแพงเกินควร ร้อยละ 47.59 ดังตารางที่ 3

ตารางที่ 3 ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ที่พบจากการสำรวจระหว่างวันที่ 1-12 สิงหาคม 2564

2.ผู้ที่เคยบริโภคผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร

จากการสำรวจผู้บริโภคที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทั่วประเทศจำนวน 2,074 คน ครอบคลุม 37 จังหวัด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี และมีรายได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาทต่อเดือน โดยวัตถุประสงค์หลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรคือ เพื่อรักษาโรค ร้อยละ 48.9 (เมื่อมีอาการไข้ ไอ ตัวร้อน ท้องเสีย และเจ็บคอ) ต่อมา คือ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ร้อยละ 44.1 ใช้เพื่อรักษาโรคและเสริมภูมิคุ้มกันร้อยละ 6.2 และเพื่อป้องกันโควิด-19 ร้อยละ 0.6

ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจจะเห็นได้ว่า ยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนหนึ่ง ที่เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ดังภาพที่ 3

ด้านแหล่งที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ฯ ดังกล่าวได้นั้น ส่วนใหญ่ยังคงซื้อได้ตามร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป แพลตฟอร์มออนไลน์ และร้านสะดวกซื้อ นอกจากส่วนที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้เองแล้ว ยังมีบางส่วนได้รับจัดสรรผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรจากโรงพยาบาลรัฐ และปลูกต้นฟ้าทะลายโจร เพื่อนำไว้ใช้บริโภคภายในครัวเรือนเองอีกด้วย ดังภาพที่ 4

ราคาผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรที่สำรวจพบว่า มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ เฉลี่ยร้อยละ 48.46 จากราคาเดิมที่ผู้บริโภคเคยซื้อเมื่อ 1 เดือนก่อนหน้า เช่น เดิมเคยซื้อที่ราคากระปุกละ 120 บาท (60 แคปซูล) แต่เดือนสิงหาคม 2564 หาซื้อได้ในราคา 160 บาท เพิ่มขึ้น 40 บาท เป็นต้น ซึ่งวิธีการรับประทานยาของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ทั้งกลุ่มที่รับประทานเพื่อรักษาโรค บางคนเชื่อว่าเป็นยาบำรุงสุขภาพของผู้สูงวัย และรับประทานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน จะรับประทานผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรหลังอาหารตามคำแนะนำบนฉลาก ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและไม่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ฯ เนื่องจากใช้ยาตามวิธีที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผู้บริโภคเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีความกังวลใจ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลต่อร่างกาย หากใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังสะท้อนความคิดเห็นที่ตรงกันว่า ราคาขายที่แพงเกินควรของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ที่ขายตามท้องตลาดนั้น เป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐควรเข้ามาดำเนินการควบคุมราคา รองลงมาคือ รัฐควรส่งเสริมสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างการเพาะปลูก แปรรูป และขึ้นทะเบียน ส่วนปัญหาสินค้าปลอม สินค้าโฆษณาเกินจริง และฉลากควรระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ ดังตารางที่ 4 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.8 เห็นว่า ราคาขายของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรโดยเฉลี่ยที่ประชาชนซื้อไม่ควรเกินแคปซูลละ 1.12 บาท (ราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ตารางที่ 4   ประเด็นข้อเสนอแนะจากมุมมองของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร สำรวจระหว่างวันที่ 1-12 สิงหาคม 2564

3.ข้อเสนอแนะจาก สอบ. หน่วยงานประจำจังหวัด และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ที่มีต่อสถานการณ์ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร

  1. กระทรวงพาณิชย์ควรเข้ามามีบทบาทควบคุมราคาจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรในท้องตลาดให้มีราคาขายไม่เกินแคปซูลละ 1.12 บาท (ราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งราคาดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับราคากลาง ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดราคากลางยาแผนไทย พ.ศ.2558 ที่แคปซูลละ 0.94 บาท (ราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  2. กระทรวงพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดควรเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ขายที่กักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร และสินค้าที่โฆษณาเกินจริง
  3. รัฐควรมีมาตรการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ตามที่โฆษณาแก่ผู้บริโภค เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
  4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุขควรส่งเสริมสินค้าฟ้าทะลายโจรที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งในด้านการเพาะปลูก และการขึ้นทะเบียนยาอย่างถูกต้อง
  5. รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับรูปแบบการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเป้าหมายการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรให้แก่ประชาชน เนื่องจากยังมีประชาชนบางส่วนที่เข้าใจว่าฟ้าทะลายโจรสามารถเสริมภูมิคุ้มกันและป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ได้