ร่วมตัดวงจรหนี้นอกระบบ ลงชื่อ ‘ปฏิรูปเครดิตบูโร’

ประชาชนเป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยสูง เพราะเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ หยุดแช่แข็งลูกหนี้ด้วยเครดิตบูโรแบบเก่า ภาคประชาชนชวนเข้าชื่อเสนอ ‘ร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร’ ยกเลิกเครดิตเสีย 3 ปี เปลี่ยนเป็นการรายงานคะแนนเครดิต เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่ออย่างเป็นธรรม ลดการกู้เงินนอกระบบ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์พรรคกล้า ได้มานำเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร ต่อองค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อเพื่อร่วมเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภา โดยได้ชี้แจงว่า สาเหตุที่เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อในร่างนี้เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมากที่มีภาระหนี้สินที่ผูกพันกับหนี้นอก ส่วนหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากกฎหมายการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตฯ หรือเครดิตบูโร เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย ทำให้ประชาชนที่มีประวัติชำระเกิน 3 เดือนและแม้จะกลับมาจ่ายหรือปิดบัญชีไปแล้ว แต่สุดท้ายในเครดิตบูโรจะยังแสดงรายงานประวัติพฤติกรรมผิดนัดชำระ 3 ปีของผู้ที่กู้อยู่ ด้วยสาเหตุดังกล่างทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินหลักได้ ทำให้การขอสินเชื่อครั้งใหม่ทำได้ยากขึ้น ดังนั้น เมื่อเข้าถึงสถาบันการเงินที่ถูกกฎหมายไม่ได้ ประชาชนจึงหันไปกู้เงินหรือสินเชื่อนอกระบบแทน

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จึงได้รวบรวมข้อมูล ร่าง และเสนอกฎหมาย “ร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร” เพื่อยกเลิกการแช่แข็งลูกหนี้หรือทำให้ผู้ที่ต้องการกู้เงินหรือสินเชื่อสามารถเข้าถึงสถาบันที่ถูกกฎหมายได้ โดยในเนื้อหามีสาระสำคัญ คือ หากมีการชำระหนี้ทั้งหมดแล้ว ข้อมูลในเครดิตบูโรที่ชำระเสร็จสิ้นจะถูกแก้เป็นการลบประวัติทันที และเปลี่ยนเป็นระบบการแสดงคะแนนที่สะท้อนสภาพปัจจุบันของผู้กู้ด้วยเครื่องมือประเมินคุณภาพสินเชื่อหรือเครดิต สกอริ่ง (Credit Scoring) แทนประวัติผิดชำระหนี้ ซึ่งระบบการแสดงคะแนนดังกล่าวนิยมใช้ในหลายประเทศ การปฏิรูปเครดิตบูโรจะทำให้ผู้กู้ได้เข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรม ธนาคารเกิดการแข่งขันในเรื่องดอกเบี้ย และผู้กู้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการตรวจคะแนนเครดิตของตนเองด้วยเหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“เมื่อมีการแสดงคะแนนเครดิตดีหรือมีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผู้กู้ก็สามารถกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ และที่สำคัญจะสามารถตัดวงจรหนี้นอกระบบและเข้าถึงสินเชื่ออย่างเป็นธรรมได้ ปัจจุบันมีประเด็นการเก็บค่าบริการเพื่อเช็กเครดิตบูโรออนไลน์ โดยคิดค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 150 – 550 บาท แล้วแต่จำนวนประวัติการกู้ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือว่าแพงหากผู้กู้รายนั้นมีบัตรเครดิตหลายใบ จึงมีความเห็นว่าไม่ควรเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีขอออนไลน์ ดังนั้นร่างใหม่นี้เราจึงเสนอให้สามารถตรวจสอบสิทธิของตนเอง โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม” ดร.อรรถวิชช์ ระบุ

ขณะที่ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ที่เกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยข้อมูลดังกล่าวมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อที่จะมีการแสดงถึงภาระหนี้และการชำระหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนรายนั้น ๆ มีพฤติกรรมการเป็นหนี้อย่างไร ทำให้การพิจารณาของเครดิตบูโรในปัจจุบันทำให้ประชาชนที่มีประวัติเครดิตบูโรไม่สามารถกู้เงินหรือกู้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – Bank) และส่งผลให้ต้องไปกู้เงินหรือสินเชื่อนอกระบบ สิ่งที่ตามมาคือผู้กู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ทั้งการถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด ถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย หรือสัญญาไม่เป็นธรรม และความเครียดที่ตามมาจากหนี้นอกระบบ

ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายนี้สำเร็จ จะช่วยสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและถูกกฎหมายได้ สภาผู้บริโภคขอเชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร โดยตั้งเป้าหมายอยู่ที่ 10,000 รายชื่อ สามารถลงชื่อสนับสนุนร่างฯ นี้ได้ถึงสิ้นปีนี้

กรณีลงชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงชื่อได้ผ่านเว็บไซต์ www.changeblacklist.org จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายผ่านแอปพลิเคชันไทยไอดี (ThaID) หรือการยืนยันตัวตนด้วย e-KYC (Electronic know your customer) ซึ่งเป็นระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์

หรือสามารถร่วมลงชื่อผ่านแบบฟอร์ม ด้วยการพิมพ์ (Print) แบบฟอร์มลงชื่อสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ดาวน์โหลดได้ที่ https://drive.google.com/file/d/100l6RMMKx243FyLAGzWhtfKOLzm_O24W/view)  จากนั้นกรอกแบบฟอร์ม และเว้นตรงวันที่ไว้ โดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชน ส่งมาที่อาคารกล้า 86/12 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กทม. 10900

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค