ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการเงินและการธนาคาร ประจำเดือนธันวาคม 2566

อนุกรรมการฯ การเงิน สภาผู้บริโภค สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร ยกเลิกแช่แข็งลูกหนี้ จากเดิมประวัติหนี้ถูกเก็บนาน 3 ปี แก้เป็นลบประวัติเสียภายใน 30 วันในบัญชีที่ชำระเสร็จสิ้นแล้ว และบัญชีที่กลับมาชำระปกติแล้ว 6เดือน แสดงคะแนนเครดิต (Credit Scoring) แทนประวัติผิดนัดชำระหนี้ และไม่คิดค่าธรรมเนียมการขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร ครั้งที่ 12/2566 วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566  ซึ่งมีนายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย และประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม การประชุมครั้งนี้ได้เชิญนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้จัดทำร่างกฎหมายเครดิตบูโร(ฉบับปรับปรุงแก้ไข) เข้าให้ข้อมูลถึงแนวทางหลักการและรายละเอียดเนื้อหาการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขกฎหมายนี้ คือ 1) ยกเลิกแช่แข็งลูกหนี้ จากเดิมประวัติหนี้ถูกเก็บนาน 3 ปี แก้เป็นลบประวัติเสียภายใน 30 วัน ในบัญชีที่ชำระเสร็จสิ้นแล้ว และบัญชีที่กลับมาชำระปกติแล้ว 6 เดือน 2) แสดงคะแนนเครดิต (Credit Scoring) แทนประวัติผิดนัดชำระหนี้ 3) คะแนนเครดิตดี กู้ได้ดอกเบี้ยตํ่า ธนาคารเกิดการแข่งขันดอกเบี้ยสินเชื่อ 4) ให้นำข้อมูลด้านรายได้ วินัยทางการเงิน ประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการ โดยความยินยอมของลูกค้า มาประกอบคิดเป็นคะแนนเครดิตได้ 5) ช่วยตัดวงจรหนี้นอกระบบ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น

เป้าหมายสำคัญของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือการพยายามแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของประชาชนในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถประกอบสัมมาอาชีพได้ตามปกติ เกิดการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก หนี้ครัวเรือนสูงสะสมต่อเนื่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร โดยให้ระบบเครดิตมีการทำลายข้อมูลสำหรับบัญชีที่หนี้ระงับแล้ว บัญชีที่เคยค้างชำระและกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน บัญชีที่หนี้ขาดอายุความหรือหลุดพ้นจากการล้มละลาย และการให้แสดงข้อมูลคะแนนเครดิต (Credit Scoring) แทนประวัติการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินพิจารณาการปล่อยสินเชื่อกับประชาชนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันไปตามคะแนนเครดิต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างวินัยทางการเงินของประชาชนและสร้างการแข่งขันของธุรกิจธนาคารให้มากขึ้น 

เนื่องจากเป็นการร่างกฎหมายของภาคประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา คณะอนุกรรมการด้านการเงินฯ สภาผู้บริโภค จึงเห็นชอบให้สำนักงานสภาฯ ร่วมทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ได้ที่  https://www.changeblacklist.org หรือ https://einitiative.parliament.go.th/