ไกล่เกลี่ย ผู้กู้ – ศรีสวัสดิ์ สภาผู้บริโภคยืนยัน สัญญาเงินกู้ต้องถูกกฎหมาย

สภาผู้บริโภคเปิดพื้นที่ช่วยไกล่เกลี่ยผู้ร้องทุกข์สัญญาเงินกู้ไม่เป็นธรรมจี้บริษัทศรีสวัสดิ์ทบทวนสัญญากู้ส่อผิดกฎหมาย ขณะที่บริษัทศรีสวัสดิ์ยอมรับให้ลูกค้าเซ็นสัญญาเปล่าก่อนปล่อยกู้เพื่อความรวดเร็ว ยืนยันไม่มีเจตนาฉ้อโกงลูกค้า โดยพร้อมปรับปรุงการปล่อยกู้ใหม่ขณะที่ผู้บริโภคที่ชนะคดีพอใจ ศาลชี้บริษัทเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 15


นับตั้งแต่กลางปี 2565 มีผู้บริโภคมากกว่า 60 รายได้ทยอยเข้ามาร้องเรียนต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ขอให้ช่วยเหลือกรณีที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการทำสัญญาเงินกู้กับบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จํากัด ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การโดนคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 15 ต่อปี การโดนจับลงรายมือชื่อบนกระดาษเปล่าที่จะไปทำสัญญาโดยผู้กู้ไม่ได้มีโอกาสรับทราบเนื้อหา การไม่ได้รับใบคู่สัญญา ต่อมาบริษัทได้ฟ้องร้องผู้บริโภคซึ่งเป็นคดีที่สภาผู้บริโภคได้เข้าไปให้ความข่วยเหลือจนชนะคดีนั้น 

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 สภาผู้บริโภค ได้จัดแถลงข่าวเพื่อเปิดคำพิพากษาในกรณีดังกล่าวที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจการให้กู้ยืมเงินที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค ซึ่งมีตัวแทนผู้เสียหายและตัวแทนสภาผู้บริโภคเข้าร่วมชี้แจง ทั้งนี้ระหว่างการแถลงข่าวได้มีตัวแทนบริษัทศรีสวัสดิ์เข้ามาร่วมชี้แจงด้วยเช่นกัน

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ศาลได้ตัดสินแล้วว่าบริษัทได้คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดจริงจึงตัดสินให้ผู้บริโภคชนะคดี เพื่อเป็นการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เสียหายกับบริษัทศรีสวัสดิ์ สภาผู้บริโภคได้เปิดพื้นที่เป็นตัวกลางเพื่อชี้แจงประเด็นที่ขัดแย้งกับบริษัทศรีสวัสดิ์ร่วมกันโดยมีการทบทวนขั้นตอนของสัญญาที่อาจไม่ถูกต้องและให้มีการเริ่มเจรจาทำสัญญาที่ถูกต้องใหม่ร่วมกัน

ทั้งนี้ วัชร์บูรย์ สุรสิงห์สกฤษฎ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัทศรีสวัสดิ์ ได้ชี้แจงว่า บริษัทศรีสวัสดิ์ยินดีรับข้อคิดเห็นไปพิจารณา แก้ไขปัญหา และปรับปรุงกระบวนการให้กู้เงิน พร้อมชี้แจงกรณีปัญหาที่ผู้กู้ไม่ได้เอกสารคู่สัญญาเงินกู้ที่อาจเกิดจากปัญหาการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ในสาขานั้น ๆ และสำหรับประเด็นที่มีผู้บริโภคไม่ได้รับคู่สัญญานั้นบริษัทมีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเพิ่มการส่งเอสเอ็มเอส (SMS) ให้กับผู้กู้เพื่อแจ้งให้มารับคู่สัญญาเงินกู้ได้  

ส่วนในประเด็นที่มีการให้ผู้บริโภคลงรายมือชื่อกระดาษเปล่านั้น ตนเองมีความคิดเห็นว่า ธนาคารหรือบริษัทอื่น ๆ มีการให้ผู้กู้เซ็นกระดาษเปล่าในการเช่าซื้อหรือการเซ็นสัญญาด้วยเช่นเดียวกัน สาเหตุที่ต้องทำในลักษณะนั้นเนื่องจากมีลูกค้าเป็นจำนวนมาก จึงต้องการความรวดเร็วในการทำงาน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีลูกค้าจำนวนมากยกเลิกสัญญาเพราะความล่าช้า อีกเหตุผลหนึ่งคือการลดความผิดพลาดของเอกสาร จึงให้ลูกค้าเซ็นในกระดาษเปล่าก่อนและพิมพ์แบบฟอร์มภายหลัง ซึ่งปัจจุบันนี้บริษัทได้แก้ปัญหาแล้ว รวมถึงการลงโทษพนักงานที่กระทำการดังกล่าว ซึ่งนายวัชร์บูรย์รับปากว่าบริษัทจะปรับปรุงกระบวนการให้กู้เงินที่ไม่ให้มีการเซ็นกระดาษเปล่าเกิดขึ้นอีก

ส่วนประเด็นการเก็บดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดนั้น วัชร์บูรย์ กล่าวว่า นโยบายของบริษัทฯ เริ่มต้นคิดดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.49 ซึ่งเป็นดอกเบี้ยอัตราต่ำที่หาไม่ได้ในตลาดขณะนี้ และลูกค้ายังสามารถต่อรองเพื่อขอลดดอกเบี้ยได้อีก โดยบริษัทฯ ได้คิดดอกเบี้ยคิดตามจำนวนเดือนที่กู้ ดังนั้นดอกเบี้ยจึงอาจสูงคือร้อยละ 2 แต่บริษัทฯ ยืนยันว่าไม่ได้คิดดอกเบี้ยดังกล่าวตลอดสัญญาเงินกู้ ซึ่งแตกต่างจากสัญญาเงินกู้อื่น ๆ ที่คิดดอกเบี้ยตลอดสัญญา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นตนคาดว่าเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดของพนักงานและบริษัทฯ จะแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป

“เรายืนยันว่าเราไม่ได้โกงลูกค้าหรือมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง เราพยายามเพื่อหาทางออกให้กับลูกค้า แต่เมื่อมีข้อโตแย้งเกิดขึ้นบริษัทศรีสวัสดิ์พร้อมจะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ไปแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้ดีและโปร่งใสขึ้น” นายวัชร์บูรย์ กล่าว

ด้าน ว่าที่ร้อยเอกธรรมณัฐ แก้วบุญส่ง ตัวแทนผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อจำนำโฉนดจากบริษัทเงินกู้ศรีสวัสดิ์ กล่าวถึง สาเหตุการกู้เงินกับบริษัทศรีสวัสดิ์ว่าเกิดจากที่ในช่วงปี 2562 เกิดปัญหาโควิด – 19 ที่ทำให้ธุรกิจของตนมีปัญหาต้องกู้เงินมาเพื่อต่อลมหายใจ จึงได้ไปกู้เงินที่บริษัทศรีสวัสดิ์เพราะเห็นว่าเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือ และเคยมีประวัติร่วมงานกับธนาคารออมสินจึงได้นำโฉนดไปกู้เงิน โดยกู้ไปทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกนำโฉนดบ้านไปจำนอง จำนวน 4.5 แสนบาท ครั้งที่สองนำโฉนดไปวาง 2 แสนบาท และครั้งที่สามนำโฉนดไปจำนอง 4.5 แสนบาท โดยทั้ง 3 สัญญาไม่ได้รับคู่สัญญาและมีการให้เซ็นชื่อบนเอกสารเปล่า ที่หนักไปกว่านั้นคือ เมื่อได้รับเงินกู้ กลับไม่ครบตามจำนวนที่กู้ โดยบริษัทฯ อ้างว่าต้องหักค่าธรรมเนียม ค่าประกันออกไป แต่สุดท้ายตนเองไม่เคยได้รับเอกสารต่างๆ เหล่านั้นเลย

“ผมเห็นเอกสารสัญญากู้เงินตอนที่บริษัทมาฟ้องผม แต่เอกสารที่ส่งฟ้องศาลก็ไม่ตรงกับที่ผมเข้าใจ เอกสารบางแผ่นไม่เคยเห็นมาก่อน ผมยอมรับว่าผมโง่ที่เซ็นเอกสารเปล่า แต่ผมยืนยันว่าผมไม่เคยปฏิเสธที่จะจ่ายหนี้ แต่วันนี้ยอดเงินกู้ 2 แสนบาท แต่ผมกลับต้องจ่าย 4 แสนบาทผมคิดว่าไม่ถูกต้องและผมควรได้จ่ายบนสัญญาที่ถูกต้อง จึงได้รวมรวมเอกสารเพื่อต่อสู้คดี” ตัวแทนผู้เสียหาย ระบุ

จากการต่อสู้คดีข้างต้นในศาลอุทธรณ์ ว่าที่ร้อยเอกธรรมณัฐ กล่าวว่าศาลได้ตัดสินให้ชนะทั้งหมด 3 คดี ทำให้รู้สึกพอใน และขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม ที่ทำให้ตนเองไม่ต้องจ่ายหนี้ตามจำนวนที่บริษัทฯ ยื่นฟ้อง จากประสบการณ์ดังกล่าวตนเองอยากฝากถึงผู้บริโภคที่พบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ขอให้นำคดีนี้เป็นบทเรียนและได้เรียกร้องให้บริษัทศรีสวัสดิ์ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล

สำหรับคดีของว่าที่ร้อยเอกธรรมณัฐนั้น ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่าบริษัทฯ มีการเก็บดอกเบี้ยดังกล่าวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจริง คือเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี เนื่องจากบริษัทฯ มีการเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือเท่ากับร้อยละ 24 ต่อปี ดังนั้นศาลจึงตัดสินให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องชำระตามที่บริษัทฟ้องร้องเป็นจำนวน 403,511 บาท ที่รวมดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม แต่ให้ชำระเงินในจำนวน 241,286 บาท ซึ่งเป็นเงินต้น 200,000 บาทบวกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี 

ส่วนอีกคดีนั้น เป็นคดีที่บริษัทฯ ยื่นฟ้องผู้บริโภคว่าผิดสัญญากู้ ซึ่งศาลชั้นต้นยกฟ้องผู้บริโภค เนื่องจากเห็นว่าบริษัทได้นำหลักฐานที่มีความผิดปกติประกอบด้วยเหตุผลสี่ประการ คือ ประการแรก ในเอกสารประกอบการฟ้อง มีการระบุวันที่ที่ไม่ตรงกับวันที่กู้ ประการที่สอง บริษัทที่ยื่นฟ้องเป็นคนละบริษัทที่ผู้เสียหายจดจำนอง ที่ได้ทำกับบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 แต่กลับถูกบริษัท เงินทุน ศรีสวัสดิ์จำกัด (มหาขน ) ยื่นฟ้อง ประการที่สาม ลายเซ็นในสัญญาเป็นลายเซ็นไม่ตรงกันกับที่ผู้กู้เซ็น และ ประการที่สี่ ดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญาไม่ตรงกับเอกสารที่จดจำนอง

ด้าน ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ได้แสดงหลักฐานการที่บริษัทฯ ให้เซ็นสัญญาในเอกสารเปล่า โดยเริ่มตั้งแต่การนำสัญญาเงินกู้มาให้เซ็นชื่อซึ่งไม่มีการระบุว่ากู้เงินกับใคร และมีการนำเอกสารเปล่ามาให้เซ็นสัญญา แม้ว่าการทำธุรกรรมโดยทั่วไปของธุรกิจสินเชื่อจะมีการให้เซ็นเอกสารเปล่าเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เอกสารไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่กรณีบริษัทศรีสวัสดิ์พบว่าเอกสารเปล่าดังกล่าว ภายหลังจากการเซ็นชื่อได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นเอกสาร “คำสัญญาใช้เงินเปลี่ยนมือไม่ได้” ซึ่งไม่ใช่เอกสารสัญญากู้เงิน จึงตั้งข้อสังเกตว่า เอกสาร “คำสัญญาใช้เงินเปลี่ยนมือไม่ได้ ”อาจจะเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากสัญญาเงินกู้ต้องมีคู่สัญญาให้กับผู้กู้และอัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 15 อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าว สภาผู้บริโภคได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทฯ ในการปลอมแปลงเอกสารเอาไว้แล้ว

ส่วน โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเป็นผู้แทนผู้บริโภค ซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกฟ้องคดี ในกรณีนี้ ได้มีผู้บริโภคมากกว่า 60 รายเข้ามาร้องเรียนประเด็นการทำสัญญากู้เงินของบริษัทศรีสวัสดิ์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่บริษัทฯ คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด คือ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ซึ่งเกินร้อยละ 15 ต่อปี โดยประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินคดีแล้วว่าบริษัทฯ ได้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจริงตามคำพิพากษาของคดีว่าที่ร้อยเอกธรรมณัฐ

โสภณ ยังกล่าวอีกว่า กรณีของการทำสัญญากับบริษัทศรีสวัสดิ์ ได้พบว่ามีผู้กู้หลายรายได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่ขอสินเชื่อ เช่น ในสัญญาระบุวงเงินกู้คือ 209,000 บาท โดยใบรับเงินกู้ระบุว่า ผู้กู้ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีแล้ว 205,000 บาทและรับเงินสด ไปแล้ว 4,000 แต่ในความเป็นจริงผู้กู้ได้รับเงินเพียง 199,946 บาท และไม่ได้รับเงินสดแต่อย่างใด ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้กู้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้บริโภคที่มีปัญหาสัญญากู้เงินไม่เป็นธรรมสามารถเดินทางมาขอรับความช่วยเหลือกับสภาผู้บริโภคเพิ่มเติมได้ทั้งที่เว็บไซต์ www.tcc.or.th หรือโทรศัพท์ 02 239 1839 กด 1

ติดตามชมแถลงข่าวย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/oOiMTAVfNK/?

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #เงินกู้ #ศรีสวัสดิ์