เรื่องเล่าผู้บริโภค : ก่อนเซ็นต้องอ่าน! เอกสารยินยอมไม่อ่าน อาจโดนละเมิดสิทธิ

เพราะการได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและขาดการตรวจสอบ กลายเป็นช่องโหว่ให้ผู้บริโภคเสียเปรียบผู้ประกอบการ อย่างกรณีผู้บริโภคเซ็นเอกสารยินยอมโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดให้รอบคอบ สุดท้ายพบคลินิกนำรูปถ่ายของตนไปใช้เพื่อการโฆษณา หวั่นร่วมหลอกลวงผู้บริโภค เนื่องจากหลังใช้บริการยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

เรื่องเล่าผู้บริโภคครั้งนี้เป็นเรื่องราวของหญิงสาววัยกลางคน ได้ไปใช้บริการคลินิกรักษาฝ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มรักษาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถึงกลางเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งหลังจากการรักษาผู้เสียหายไม่เห็นผลที่ดีขึ้น แต่พบว่า คลินิกนำรูปของตนไปใช้ในการโฆษณาโดยไม่แจ้งก่อน จึงเข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หน่วยงานประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค และเพื่ออยากเตือนภัยผู้บริโภคท่านอื่น

ทั้งนี้ ผู้เสียหายยอมรับว่าตอนเซ็นยินยอมไม่ตรวจสอบให้ละเอียด แต่คลินิกก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดแก่ผู้ใช้บริการเช่นกัน จึงมาบอกเล่าเพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้บริโภคท่านอื่น ว่าก่อนเซ็นเอกสารยินยอมใด ๆ ควรอ่านข้อกำหนดให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัว

“เหมือนเขามัดมือชกเรานะ เอาเอกสารมาให้เซ็นแต่ไม่ได้อธิบายอะไร หรือแจ้งอะไรเป็นพิเศษ เราเองก็ผิดที่ไม่อ่านเอกสารให้ละเอียดก่อน แต่ที่เป็นกังวลคือนำรูปไปรีวิวว่ารักษาหาย ทั้งที่เรารักษาแล้วไม่หายตามคำโฆษณา กลัวว่าจะเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคคนอื่น ถ้ารักษาหายแล้วนำรูปไปโฆษณาเราก็ยินดี แต่อย่างน้อยควรถามความยินยอมจากเราก่อน” ผู้เสียหายระบุเพิ่มเติม

หน่วยงานประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้คำแนะนำผู้เสียหายให้แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในเบื้องต้นทางผู้เสียหายได้ติดต่อกลับคลินิกให้ดำเนินการลบภาพออกจากเพจเรียบร้อยแล้ว จึงยุติเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ การจะทำธุรกรรมใด ๆ ก็ตาม ที่ต้องเซ็นเอกสารยินยอม ผู้บริโภคต้องอ่านข้อสัญญาทุกครั้งก่อนเซ็นสัญญา และหากพบข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมควรแจ้งผู้ประกอบการทันที และอย่ายอมเซ็นข้อสัญญาที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ หากพบสัญญาไม่เป็นธรรมสามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้

• ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public

• ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U

• อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค

• โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1

• อีเมล : [email protected]

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค