ผลวิจัยพบ คนไทยจ่ายค่ารถไฟฟ้าแพงกว่าคนสิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไทยพีบีเอส จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “การเดินทางสาธารณะในกรุงเทพฯ” ชวนให้ผู้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินทางสาธารณะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะประจำทาง รถไฟฟ้า และเรือเมล์ประจำทาง เชื่อมโยงกับประเด็นเมืองน่าอยู่ ความปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ เมืองมีส่วนร่วม เสนองานวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ พร้อมข้อเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสภาผู้ชมฯ จะนำความคิดเห็นสะท้อนไปสู่เชิงนโยบายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ในอนาคต ในแคมเปญ “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65”

จากเวทีดังกล่าวมีการเปิดเผยงานวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ ของฐาณิษา สุขเกษม นักวิจัยอิสระ มพบ. พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อเปรียบเทียบค่ารถไฟฟ้ากับรายได้เฉลี่ยต่อวันของคนไทยกับคนสิงคโปร์ คนญี่ปุ่น อังกฤษ พบว่า คนไทยต้องจ่ายค่ารถไฟฟ้าแพงกว่ามาก

จากข้อมูล วันที่ 6 มีนาคม 2565 คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 300 บาท หากคิดค่าโดยสารไป-กลับ พบว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสราคาต่ำสุดคิดเป็น 10.67% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 39.34% ต่อรายได้ขั้นต่ำ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ราคาต่ำสุดคิดเป็น 9.34% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 28% ต่อรายได้ขั้นต่ำ และแอร์พอร์ตลิ้งก์ หรือ ARL ราคาต่ำสุดคิดเป็น 10% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 30% ต่อรายได้ขั้นต่ำ

ขณะที่ คนสิงคโปร์ มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 4,163 บาท แต่ค่ารถไฟฟ้าของคนสิงคโปร์ ราคาต่ำสุดคิดเป็น 0.22% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 1.42% ต่อรายได้ขั้นต่ำเท่านั้น ซึ่งกำหนดราคาตามระยะทางเหมือนกัน ซ้ำสิงคโปร์ยังกำหนดราคารถไฟฟ้าถูกกว่ารถเมล์เสียอีก เพราะต้องการให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากกว่าใช้รถเมล์

ส่วนคนญี่ปุ่น รายได้เฉลี่ยต่อวัน 2,307 บาท จ่ายค่ารถไฟฟ้าราคาต่ำสุดคิดเป็น 4.00% ราคาสูงสุดคิดเป็น 7.75% กำหนดราคาตามระยะทาง

สำหรับคนอังกฤษ รายได้เฉลี่ยต่อวัน 3,175 บาท จ่ายค่ารถไฟฟ้าราคาต่ำสุดคิดเป็น 6.53% ราคาสูงสุดคิดเป็น 14.43% โดยกำหนดราคาด้วยวิธีผสมผสาน ตามโซน ประเภทบัตร และช่วงเวลา

จึงเห็นได้ว่าราคาค่ารถไฟฟ้าของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของพลเมืองแล้ว มีราคาที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรืออังกฤษค่อนข้างมาก จึงไม่จูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในระบบราง เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดปัญหามลพิษทางอากาศอย่างที่ควรจะดำเนินการโดยเร่งด่วน

นอกจากนี้ หทัยรัชฌ์ เปี่ยมวิทย์ สมาชิกสภาผู้ชมฯ กรุงเทพฯ และปริมณฑล กล่าวถึงปัญหาที่พบของรถโดยสารสาธารณะ คือ 1.ความปลอดภัย 2.สภาพรถไม่ได้มาตรฐาน 3.ปริมาณรถไม่เพียงพอ 4.ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และ 5.คุณภาพและมารยาทของพนักงาน

การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้  เป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการเห็นการบริการรถโดยสารสาธารณะที่เป็นมิตร มีมาตรฐานความปลอดภัย และมีโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ ที่จะเสนอไปยังภาครัฐ ผ่านนโยบายของว่าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้

ทั้งนี้ มพบ. มีสถานะเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ของสภาองค์กรของผู้บริโภค

ที่มาข้อมูล : https://consumerthai.org/…/4702-ffc-public…



#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค