รสนาเตือนชัชชาติระวังซ้ำรอยอดีตผู้ว่าฯ ขึ้นค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว 15 บาท 

รสนาเตือนชัชชาติ ระวังซ้ำรอยอดีตผู้ว่า ถาม 4 ข้อทำไมตั้งราคาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเขียว 15 บาท สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดต้องไม่เกิน 47 บาท ถ้าเกินกว่านี้ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป 

จากกรณีที่มีรายงานจากสื่อมวลชนโดยระบุว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร โดยจะเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 2 อีก 15 บาท ทันทีหลังเปิดปีใหม่ วันที่ 2 มกราคม 2567 เนื่องจากกทม.มีนโยบายจะจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยกำหนดในอัตราคงที่ 15 บาทตลอดสาย กรณีเดินทางข้ามระบบส่วนต่อขยายที่ 1 กับเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 2 จะไม่คิดค่าโดยสารเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2567 นั้น 

รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ตั้งคำถาม 4 ข้อที่ผู้ว่าชัชชาติต้องตอบตัวเองและตอบให้ชาว กทม.รับรู้ ก่อนเก็บค่าโดยสารดังนี้

  1. ส่วนต่อขยาย 2 ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของ กทม. ผู้ว่าฯ จึงไม่มีสิทธิทางนิตินัยที่จะเก็บค่าโดยสารเองใช่หรือไม่ ? และส่วนต่อขยาย 2 มีหนี้ค่าก่อสร้างประมาณ 7 หมื่นล้านบาทโดยมีรฟม.เป็นเจ้าของ และมีหนี้ค่าจ้างเดินรถและระบบเชื่อมต่อตั้งแต่ปี 2562-2566 ประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมแล้วประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาท
  2. การเก็บค่าโดยสารในทรัพย์สินที่ กทม.ไม่มีกรรมสิทธิทางนิตินัย เท่ากับผู้ว่าชัชชาติยอมรับภาระหนี้ทั้ง 2 ส่วนนี้โดยพฤตินัย ใช่หรือไม่ ? 
  3. การประกาศเก็บเงินค่าโดยสาร 15 บาท ผู้ว่าชัชชาติได้รับอนุมัติจากสภา กทม.แล้วหรือยัง ? ถ้ายังไม่ได้รับอนุมัติจากสภากทม.ให้รับภาระหนี้ค่าก่อสร้างและหนี้ค่าจ้างเดินรถ ผู้ว่าชัชชาติก็จะทำผิดกฎหมายด้วย ใช่หรือไม่ ?
  4. ถ้าผู้ว่าฯ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม. และไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลมาชดเชยการขาดทุนจากหนี้ดังกล่าว การเก็บค่าโดยสารอีก 15 บาท ก็ไม่พอจ่ายหนี้อยู่แล้ว อาจทำให้ผู้ว่าฯ ถลำไปสู่การต้องขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักที่กำลังจะหมดสัมปทานในปี 2572 เพื่อล้างหนี้ ซึ่งจะทำให้ชาว กทม.เสียประโยชน์ ต้องจ่ายค่าโดยสารแพงไปอีกไม่ต่ำกว่า 30 ปี ใช่หรือไม่

รสนายังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าฯ จะโดนฟ้องในคดีนี้อย่างแน่นอนและอาจถูกฟ้องจากคดีเก็บค่าโดยสารโดยไม่มีอำนาจ ใช่หรือไม่!

“ดิฉันขอให้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจดจำคดีของอดีตผู้ว่าอภิรักษ์ โกษะโยธินที่ต้องลาออกจากการเป็นผู้ว่าฯกทม. กลางคันเซ่นคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงที่จัดซื้อโดยทุจริต เพียงแค่ไปเซ็นเปิด LC จ่ายเงินให้และอดีตผู้ว่าฯ กทม.สมัคร สุนทรเวชที่ถูกศาลฎีกาตัดสินเมื่อปี2565 คดีรถ-เรือดับเพลิงเช่นกัน คำสั่งศาลฎีกาให้ภรรยาและทายาทอีก 3 คนของท่านสมัครต้องจ่ายเงินชดใช้ความเสียหายของคดีรถ-เรือดับเพลิง 587 ล้านบาทแม้ท่านจะถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ถ้าผู้ว่าชัชชาติเลือกเดินทางผิด ชาวกทม.อาจจะติดกับดักต้องจ่ายค่าโดยสารแพงและผู้ว่าชัชชาติอาจประสบชะตากรรมแบบอดีตผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 2 ท่านก่อนหน้านั้นหรือไม่ ?”รสนากล่าว

ทั้งนี้รสนาเห็นว่า ท่านผู้ว่าฯ ควรใจเย็นรอวันที่กทม.จะได้รับโครงสร้างระบบรางสายสีเขียวหลักคืนกลับมาในปี 2572 ซึ่งอีกเพียง 5 ปี กทม.ก็จะได้เป็นเจ้าของโครงสร้างระบบรางของสายสีเขียวส่วนหลักทั้งสายแทนชาวกทม. และจะได้รายได้ทั้งค่าเช่าพื้นที่ในทุกสถานี ค่าเชื่อมต่อกับพื้นที่ธุรกิจ และค่าโฆษณาในขบวนรถ และในสถานี ที่สามารถนำมาลดราคาค่าโดยสารลงได้และยังสามารถนำมาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าของ MRT ได้ทั้งระบบด้วยระบบตั๋วใบเดียว โครงสร้างราคาเดียว และไม่ให้ประชาชนต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ค่าโดยสารถูกลง ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ทำให้ชาว กทม.ได้รับประโยชน์สูงสุด

“ขอให้ท่านชัชชาติคิดให้ดี ๆ ท่านควรแก้ปัญหาหนี้สินนี้ด้วยการไปเจรจากับรมต.กระทรวงคมนาคม (ซึ่งสังกัดพรรคที่เคยสนับสนุนท่านโดยไม่ส่งคนลงแข่งกับท่านตอนเลือกตั้งผู้ว่ากทม.) ให้รับคืนส่วนต่อขยาย2 กลับไป และให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาการจ่ายหนี้ค่าเดินรถ และเก็บค่าโดยสารเอง ซึ่งกทม. สามารถช่วยดำเนินการในส่วนนี้ให้ได้ โดยไม่ต้องเอา กทม.ไปผูกพันเป็นหนี้เสียเอง  อย่าไปรับเผือกร้อนมาให้ไหม้มือตัวเอง จะดีกว่าไหม ? ขอให้ท่านชัชชาติพิจารณาให้รอบคอบถึงผลประโยชน์ของชาว กทม. และ ความเสี่ยงของตัวท่านเอง ดังคำพังเพยไทยที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รอง เอากระดูกมาแขวนคอ”รสนากล่าว

ขณะที่ สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ทบทวนการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 2 อีก 15 บาท เนื่องจากไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการลดค่าโดยสารสำหรับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและค่าครองชีพของประชาชนให้ถูกลง

ทั้งนี้สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาสัมปทานและการกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวก่อนที่จะดำเนินการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 2 ดังนี้

1. ขอให้กรุงเทพมหานครกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคในราคา 15 บาทตลอดสาย เมื่อรวมเส้นทางหลักจะเก็บค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 47 บาท ตามสิทธิสัญญาสัมปทานของเอกชน

2. ขอให้กรุงเทพมหานครเจรจาพักชำระหนี้กับกระทรวงการคลังหรือคืนภาระหนี้ค่าก่อสร้างและกรรมสิทธิ์รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงคมนาคมเพื่อทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกบริหารเป็นระบบเดียวกับรถไฟฟ้าทุกสาย เนื่องจากหากกรุงเทพมหานครรับภาระหนี้ดังกล่าวจะกระทบต่อสัญญาสัมปทานหลักที่จะครบอายุสัญญาในปี 2572 และทำให้มีปัญหาได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ในราคา 15 บาทตลอดสาย เมื่อรวมเส้นทางหลักจะเก็บค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 47 บาท ตามสิทธิสัญญาสัมปทานของเอกชนนั้น ต้องเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ไม่เป็นภาระกับผู้บริโภค และส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้บริการระบบรถไฟฟ้าได้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่อัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 62 บาทตามที่ ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศ เพราะจำนวนเงินดังกล่าวมีส่วนต่างเพียง 3 บาท เมื่อเทียบกับค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท ที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีต ผู้ว่าฯ กทม. เคยประกาศไว้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาระวิกฤตใหม่ซ้ำเติมประชาชน และขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. เคยให้สัญญากับประชาชนไว้ว่า “รถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด”

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ขนส่งสาธารณะ