คนกรุงเทพอ่วมจ่ายค่าเดินทางแพง ล้อ-ราง-เรือ ขอใบเดียว

คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร สภาผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้รัฐอุดหนุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงทั้งระบบ “ล้อ-ราง-เรือ” กำหนดตั๋วราคาเดียวเดินทางได้ทุกสาย พร้อมจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเส้นเลือดฝอย – ฟีดเดอร์มากขึ้น ขณะที่เพจรถเมล์ไทยเผยคนกรุงบ่นหนัก รถเมล์น้อยราคาแพง แถมเปลี่ยนสายรถเมล์ใหม่สร้างความสับสน

กรณีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปลี่ยนไปใช้หมายเลขรถเมล์ใหม่ตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จำนวนหลายเส้นทางในเขตกรุงเทพมหานคร และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง นั้น

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสภาผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อการใช้บริการขนส่งมวลชน กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเข้าร่วมกว่า 100 คน

ภัณฑิล น่วมเจิม โฆษกคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดเวทีรับเวทีฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เน้นการรับฟังเสียงของประชาชน โดยพบประเด็นปัญหาที่คนกรุงเทพมหานครต้องประสบในการเดินทางว่า ขาดความสะดวกสบาย ไร้คุณภาพ ราคาแพง  และเข้าถึงการเดินทางได้ จึงเสนอแนะด้วยว่ารัฐควรมีการอุดหนุนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอย่างทั่วถึง สมดุลกันระหว่างเส้นเลือดใหญ่ คือรถไฟฟ้าและเส้นเลือดฝอยที่เป็นระบบขนส่งที่เชื่อมคนจากตรอกซอกซอยต่าง ๆ เข้ามาสู่เส้นเลือดใหญ่ ไม่ใช่ไปทุ่มงบประมาณไปที่การสร้างรถไฟฟ้าอย่างเดียว

ภัณฑิล น่วมเจิม โฆษกคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฏร

“ขณะนี้ กมธ. การคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณากฏหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. และ พ.ร.บ.กระจายอำนาจขนส่งมวลชนท้องถิ่น ของพรรคก้าวไกล ให้ท้องถิ่นดูแลการขนส่งมวลชนเอง และให้กรมการขนส่งทางบกดูภาพรวมทั้งหมดทั้งประเทศเป็นไปไม่ได้ ท้องถิ่นจะรู้ดีที่สุด ข้อเสนอเหล่านี้กรรมาธิการจะรวบรวมเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏรต่อไป” นายภัณฑิลระบุ

ขณะที่ อภิสิทธิ์ มานตรี เพจรถเมล์ไทย (Rotmaethai) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปัญหาที่เพจรถเมล์ไทยได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ รถเมล์น้อยคอยนาน กลางคืนไม่มีรถเมล์วิ่ง ทำให้ผู้บริโภคที่ทำงานกลางคืนเช่นพนักงานห้างไม่สามารถเดินทางได้ ต้องใช้รถแท็กซี่ที่มีราคาแพง ล่าสุดเรื่องที่ร้องเข้ามาที่เพจคือการเปลี่ยนป้ายสายรถเมล์ ที่ไม่มีความจำเป็น มีแต่จะทำให้ประชาชนสับสน เพราะเคยจำชื่อเดิมได้ดีอยู่แล้ว

อภิสิทธิ์ มานตรี เพจรถเมล์ไทย (Rotmaethai)

“มีผู้ที่ร้องมาที่เพจของผมจำนวนมาก เช่น บางที่ต้องมีรถวิ่ง 16 คัน แต่ปัจจุบัน ขสมก. ให้เอกชนเข้ามาวิ่ง แต่มีรถวิ่งแค่ 4 คัน ทำให้ต้องคอยรถนานขึ้น ส่วนการเปลี่ยนสายรถเมล์ตอนนี้ประชาชนอึดอัด เพราะเป็นเรื่องที่ ‘คนคิดไม่ได้นั่ง คนนั่งไม่ได้คิด’ ประชาชนไม่ได้มีปัญหากับสายรถเมล์เดิม เขาจำได้ไม่ต้องเปลี่ยน พอมาเปลี่ยนยิ่งสร้างความสับสน ล่าสุดรัฐบาลบอกว่าจะเอาขีดออก เช่น สายรถเมล์ อนุสาวรีย์-ท่าอิฐ สาย 1-8 ถ้าเอาขีดออก ประชาชนจะสับสนมากเลยเพราะมีสาย 18 ดั้งเดิมอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ด้าน คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ขับเคลื่อนประเด็นขนส่งสาธารณะในภาพรวม เช่น ประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าและการเข้าถึง โดยมีเป้าหมายหลักคือ “ขนส่งมวลชน ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน”

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค 

ทั้งนี้สภาผู้บริโภคสนับสนุนให้การขนส่งสาธารณะมีอัตราค่าโดยสารที่ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เหมาะสมกับรายได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะคุณภาพ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการทำให้คนเข้าถึงได้เท่านั้น แต่ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง ชีวิต เพราะไม่อยากเห็นกรุงเทพเป็นเมืองโตเดี่ยว แต่ในบางพื้นที่ไม่มีรถเมล์วิ่งผ่าน ในขณะที่ต่างจังหวัดแทบจะไม่มีระบบขนส่งสาธารณะเลย

คงศักดิ์ ยังเสนอให้กรมการขนส่งทางบกนำภาษีรถยนต์ รวมทั้งภาษีจาก พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ในปีที่ผ่านประมาณ 40,000 ล้านบาทจัดสรรไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยอาจต้องกำหนดเป็นภาษีเฉพาะ เพื่อให้นำไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะหรือโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

ส่วน สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐสนับสนุนการพัฒนาเส้นเลือดใหญ่อย่างรถไฟฟ้ามากเกินไปไม่สมดุลกับการอุดหนุนเส้นเลือดฝอย หรือการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนตามซอยต่าง ๆ อย่างรถเมล์หรือรถสองแถว เพราะปัญหาหลักในขณะนี้คือ ขนส่งมวลชนที่เป็นเส้นเลือดฝอยที่จะขนคนเข้ามาเส้นเลือดใหญ่อย่างรถไฟฟ้าไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอทำให้คนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไม่มากนักจนไม่สามารถแก้ปัญหาจำนวนรถบนถนนได้ ดังนั้นรัฐควรจะพิจารณากระจายงบประมาณสร้างรถไฟฟ้าแสนล้านกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดเล็กให้เหมาะสม

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.พรรคก้าวไกล

“สิ่งที่รัฐควรจะทำคือ คำนึงถึงระบบขนส่งสาธารณะคิดจากต้นทางไปปลายทาง ควรสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอย เพราะว่าปัญหาหลักคือการเข้าไม่ถึงสถานี ก่อนจะถึงสถานีมันลำบากมากและแพงโดยเฉพาะค่าวินมอเตอร์ไซค์ มันคือความไม่สมดุลในการสนับสนุนระหว่างเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอยที่ผ่านมารัฐอุดหนุนแต่เส้นเลือดใหญ่ โดยสร้างรถไฟฟ้าแล้วไม่มีคนใช้งาน เช่น สายสีม่วง เป็นต้น แต่เส้นเลือดฝอยอย่างรถเมล์ หรือรถสองแถวรัฐกลับไม่อุดหนุนเลย”

สรุเชษฐ์ กล่าวถึงจุดยืนว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบชื่อมต่อกัน ล้อ ราง เรือ โดยให้มีนโยบายค่าโดยสารร่วม 8 – 45 บาท สามารถเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้าทุกสาย รถเมล์ทุกสาย รวมแล้วไม่เกิน 45 บาท นอกจากนี้ยังเสนอให้ยุติการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกใหม่ เนื่องจากพบว่ามีการประมูลสายสีส้ม 2 ครั้ง คือ ตะวันออกและตะวันตก แต่การจัดประมูลครั้งที่สองระยะเท่ากันจำนวนสถานีเท่ากันแต่ราคาต่างจากเดิมถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จึงควรยุติและประมูลใหม่เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมนำงบประมาณไปพัฒนาขนส่งมวลชนอื่น ๆ ได้อีก

ด้าน ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายผิดหรือไม่ เนื่องจากการพัฒนาขนส่งมวลชนไม่ได้ทำให้ระบบเชื่อมต่อกันในราคาที่จับต้องได้ แต่กลับเน้นที่รถไฟฟ้า สุดท้ายเจอปัญหารถไฟฟ้าขาดทุน เพราะไม่ได้สนับสนุนเส้นเลือดฝอยให้คนใช้ จึงคิดว่าควรจะมีการพัฒนาขนส่งมวลชนเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบทั้ง ล้อ ราง เรือ

ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. พรรคก้าวไกล

ศุภณัฐ กล่าวต่อไปว่า ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนกรอบความคิดตัวเอง (Mindset) ก่อนว่าต้องให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยและให้การสนับสนุนเชื่อมต่อเส้นเลือดใหญ่ ส่วนประเด็นสุดท้ายเห็นว่าควรต้องเรื่องพัฒนาคุณภาพรถ ราคาที่เหมาะสมไม่แพงจนเกินไป มีการใช้งานจีพีเอส รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบขนส่งมวลชนต้องมีการอุดหนุนจากภาครัฐโดยเฉพาะต้องสร้างให้มีเส้นเลือดฝอยที่เข้าถึงแทบจะใกล้ตัวมากที่สุดและรัฐต้องอุดหนุน เพราะขนส่งมวลชนเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เข้าถึงงานและอาชีพ ถ้าคุณไม่มีต้นทุนราคาถูกที่สามารถเข้าถึงแรงงานได้ สุดท้ายก็ต้องหางานที่อยู่ใกล้บ้านซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นงานที่ดี แต่ถ้าสามารถไปทำงานที่อื่นที่ไกลขึ้นมาหน่อย ในราคาต้นทุนที่จับต้องได้ คุณอาจจะได้งานที่ดีขึ้น โอกาสทางเศรษฐกิจก็ไปได้มากขึ้น” นายศุภณัฐระบุ

นอกจากนี้ในเวทีรับฟังความคิดเห็นยังได้เปิดโอกาสให้ประชาชนชนได้แลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะ อย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครยังมีปัญหาจำนวนมาก ทั้งด้านการเชื่อมต่อ ล้อ – ราง – เรือ ที่มีปัญหาขนส่งที่ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง จำเป็นต้องปรับปรุงให้เป็นระบบเชื่อมต่อกัน ทั้งนี้รัฐต้องอุดหนุนทุกการขนส่งไม่ว่าจะมีผู้ประกอบการขนส่งของรัฐหรือของเอกขน รัฐต้องจัดรูปแบบแผนการขนส่งให้มีต้นทางและปลายทางที่เหมาะสม โดยเฉพาะปัญหารถเมล์ ขสมก. ที่เป็นรถเก่าซึ่งมีจำนวนน้อยและไม่เพียงพอต่อคนใช้บริการ ทั้งนี้ต้องการรถใหม่ที่ดีมีมาตรฐาน แม้แต่การร้องเรียนปัญหาขนส่งของประชาชนไปกรมขนส่งทางบกก็ไม่สามารถร้องเรียนได้เพราะถูกแจ้งกลับมาว่าต้องกรอกข้อมูลให้ครบแต่ไม่มีช่องในเว็บไซต์ ปัญหาอีกประการที่สำคัญคือยังไม่สามารถให้คนพิการขึ้นได้จริง

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #รถไฟฟ้า #การเดินทาง #ค่าเดินทาง #บริการสาธารณะ #ขนส่งสาธารณะ #ขนส่งมวลชน