มาเลย์-เกาหลี-ยุโรป เสนอรูปธรรมขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้ 

ตัวอย่างระบบขนส่งมวลชนในต่างประเทศ “มาเลเซีย–เกาหลี-ยุโรป” ที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาระบบที่ สะดวก ปลอดภัย ราคาถูก เท่าเทียม ทุกคนขึ้นได้ แต่นั่นหมายถึงรัฐบาลของแต่ละชาติต้องมีเจตจำนงทางการเมืองและอุดหนุนอย่างเป็นระบบ

จากเวทีเสวนา “ถอดบทเรียน การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ของไทยและต่างประเทศ” จัดโดยสภาผู้บริโภค ตัวแทนจากสถานฑูตของประเทศมาเลยเซีย เกาหลีใต้ และตัวแทนจาเพจ “พูด (Pud)” ซึ่งได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวอย่างของระบบขนส่งมวลชนในทวีปรุโรป ได้เสนอข้อคิดเห็นไว้ดังนี้

มาเลเซีย: รัฐต้องมีเจตจำนงการเมือง 

อาจิต โจห์ล (Ajit Johl) รองเลขาธิการสหพันธ์สมาคมผู้บริโภค ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า  หากเทียบกับไทยแล้วมีความใกล้เคียง โดยมาเลเซียมีระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงทุกระบบในการเดินทางและ ราคาค่าโดยสารรถสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าไม่ได้สูงแพงจนเกินไป ทั้งนี้ มาเลเซียมีกระทรวงคมนาคมขนส่งเช่นเดียวกับไทย และมีรถสาธารณะ ทั้งรถบัส (รถเมลล์) รถรางเดี่ยว รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ รวมถึงการแชร์รถยนต์ใช้ร่วมกันกับการเดินทางไปในจุดหมายเดียวกัน หรือเส้นทางเดียวกัน ก็เป็นที่นิยมมากในมาเลเซีย

อาจิต โจห์ล (Ajit Johl) รองเลขาธิการสหพันธ์สมาคมผู้บริโภค ประเทศมาเลเซีย

ในส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคลนั้นปัจจุบันได้กลายเป็นยานพาหนะหลักในประเทศมาเลเซีย แม้ว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถและค่าอื่น ๆ อีกมากมาย แต่รัฐบาลมาเลเซียก็ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลโดยดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันมากถึง 15,000 ล้านริงกิตต่อปีซึ่งส่งผลให้ปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลในประเทศมาเลเซียมีจำนวนมากในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันผู้บริโภคมาเลเซียยังคงนิยมใช้ขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารปรับอากาศหรือรถไฟฟ้าที่มีระบบเชื่อมโยงกันทำให้การเดินทางสะดวกและมีราคาเป็นธรรม ซึ่งการพัฒนาขนส่งมวลชนสาธารณะ รัฐบาลมาเลเซียต้องใช้เวลาในการลงทุนยาว 25 ปีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนส่งมวลชนโดยรัฐบาลลงทุนเองในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน

นายอาจิต กล่าวอีกว่า การดำเนินการทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมือง ถ้าปราศจากเจตจำนงทางการเมืองก็ไม่มีสิ่งใดสามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนโยบายของรัฐบาลแล้วจำเป็นต้องตรวจสอบความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะและการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอีกด้วย

ขณะนี้ประเทศมาเลเซียกำลังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งของนโยบายระหว่างการสนับสนุนให้คนหันมาใช้ขนส่งมวลสาธารณะมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเช่นเดียวกัน อย่างเช่น การอุดหนุนราคาน้ำมันหรือแม้แต่การลดหย่อนภาษีส่งผลให้ประเทศมาเลเซียมีรถยนต์จำนวนมากอยู่บนท้องถนน

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 ในสมัยนายนาจิบ ราซัคดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินดำเนินนโยบายวางโครงสร้างและส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ แต่การดำเนินนโยบายดังกล่าวไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนยังไม่ทั่วถึง อีกทั้งประชาชนจำนวนมากยังมีความต้องการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแต่ปัจจุบันผู้บริโภคใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้นซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากต้นทุนในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแพงขึ้นมาก 

อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนส่งมวลชนสาธารณะรัฐบาลมาเลเซียยังไม่ชัดเจนในเชิงนโยบาย เพราะส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์และคาดหวังว่าจะส่งออกรถยนต์ได้ แต่ขณะเดียวกันระบบขนส่งมวลชนภายในประเทศกลับไม่ถูกพัฒนา จนกระทั่งในปี 2009 ในสมัยนายนาจิบ ราซัคดำรงตำแหน่งถึงได้มีการลงทุนจากภาครัฐเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในประเทศมาเลเซีย

ความแตกต่างจากที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์กลับทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ปัจจุบันรถขนส่งมวลชนสาธารณะของสิงคโปรพัฒนามาก ส่วนมาเลเซียก็พัฒนามากขึ้นเช่นกัน

“เจตจำนงทางการเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ผู้นำยังต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนอย่างมากในการขับเคลื่อนทิศทางระบบขนส่งสาธารณะ” รองเลขาธิการสหพันธ์สมาคมผู้บริโภค ประเทศมาเลเซีย กล่าว

เกาหลีใต้: ขนส่งมวลชน ถูก สะดวก รวดเร็ว

ลี ซัง ฮุน (Lee Sang Hoon) ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศเกาหลีกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ และมีจำนวนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนผู้เสียภาษีที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวก็ลดจำนวนลง ทั้งนี้รัฐบาลมีนโยบายให้ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีสามารถใช้บริการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางรัฐบาลกำลังพิจารณาในการจำกัดอายุของผู้ที่ใช้บริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ลี ซัง ฮุน (Lee Sang Hoon) ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย

สำหรับภาพรวมระบบขนส่งมวลชนของประเทศเกาหลีใต้นั้น ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอาศัยอยู่ทางตอนใต้โดยประมาณ 10 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองหลวงคือกรุงโซล ขณะที่อีก 15 ล้านคนอาศัยอยู่ในกรุงคย็องกีซึ่งเป็นจังหวัดใกล้เคียง และมีชาวเกาหลีใต้จำนวนมากต้องเดินทางจากกรุงคย็องกีไปกรุงโซลเพื่อไปทำงานโดยรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงและต้องผ่านประมาณ 20 สถานี โดยต้องเสียค่าโดยสารประมาณ 110 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้เมื่อเทียบกับรายได้ของชาวเกาหลี

นอกจากนี้ บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตก็มีฟังชันที่ให้ผู้ถือบัตรสามารถใช้บัตรเครดิตเพียงใบเดียวในการชำระค่าเดินทางรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังมีส่วนลดและสิทธิพิเศษอีกมากมายสำหรับผู้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสาธารณะ ดังนั้นชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จึงมีความรู้สึกไม่อยากจะมีรถยนต์ส่วนบุคคลไว้ใช้เอง แต่เลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะมากกว่า

ยุโรป: รัฐสนับสนุนขนส่งมวลชนฟรี

ภาณุ นาครทรรพ ตัวแทนเพจพูด (PUD) ซึ่งเคยรวบรวมและค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาขนส่งมวลชนของประเทศลักเซมเบิร์กและเมืองทาลิน ประเทศเอสโตเนีย เล่าให้ฟังว่า ประเทศลักเซมเบอร์กทำให้ขนส่งมวลชนฟรีทั้งประเทศในปี 2020  ซึ่งอาจจะเป็นไอเดียที่ดูสุดโต่งมากในขณะที่หลายประเทศยังคุยกันเรื่องทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลง

ภาณุ นาครทรรพ ตัวแทนเพจพูด (PUD)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศลักเซมเบิร์กเป็นประเทศเล็กในยุโรปที่อยู่ตรงกลางระหว่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม ทำให้เกิดการเดินทางข้ามไปมาในการทำงาน ทำให้มีรถยนต์จำนวนมาก รวมไปถึงค่านิยมของชาวลักเซมเบิร์กชอบใช้รถยนต์ส่วนตัวเพราะมีความสะดวกสบายมากกว่าทำให้ลักเซมเบิร์กติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีรถยนต์จำนวนมากของยุโรป ดังนั้นนักการเมืองในประเทศจึงมีแนวคิดลดปริมาณการการใช้รถยนต์ลง และเพิ่มความเท่าเทียมในการเข้าถึงขนส่งมวลชนฟรีสำหรับคนที่มีรายได้ต่ำ หรือคนที่มีรายได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้เขาอยากให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนต่อโลก

ส่วนบทเรียนจาก เมืองทาลิน ประเทศเอสโตเนีย ก็มีระบบขนส่งมวลชนฟรีด้วยเหตุผลเดียวกันก็คือ คนมีค่านิยมในการใช้รถยนต์มากขึ้น ดังนั้นจึงต้องลดการใช้รถยนต์ลง อีกทั้งต้องการให้เกิดความเท่าเทียมในการเดินทางสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลของทั้งลักเซมเบิร์กและทาลินจะเป็นฝ่ายดำเนินการทำให้ระบบขนส่งมวลชนฟรีและมีคนใช้ขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ใช้รถยนต์ก็ไม่ได้ลดลง 

โดยในประเทศลักเซมเบิร์กคนยังใช้รถยนต์มากกว่าเพราะว่ายังมีค่านิยมใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่การที่รัฐได้นำเงินมาสนับสนุนประมาณ 800 ล้านยูโร โดยสนับสนุนค่าโดยสารอยู่ที่ 40 ล้านยูโร เพื่อทำให้ขนส่งมวลชนของเขาฟรี รถเมลฟรียังไม่จูงใจพอที่จะทำให้คนของเขามาใช้ขนส่งมวลชนได้เพราะการให้บริการฟรีอาจจะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เขา ก่อนที่ขนส่งมวลชนจะฟรี ผู้บริโภคในลักเซมเบอร์กก็แบกรับต้นทุนค่าโดยสารอยู่ที่ร้อยละ 30 เท่านั้น

ส่วนเมืองทาลินนั้น เนื่องจากพฤติกรรมการทำงานของคนอยู่นอกเมืองทำให้การใช้ขนส่งมวลชนไม่สะดวก ประกอบกับว่าเดิมทีค่าโดยสารรถสาธารณะของเมืองทาลินอยู่ที่ประมาณเดือนละ 20 ยูโรเท่านั้น ซึ่งถูกมากอยู่แล้ว นโยบายระบบขนส่งมวลชนฟรีของรัฐบาล จึงไม่ได้น่าดึงดูดจนเปลี่ยนการตัดสินใจของประชาชนในประเทศได้มากนัก

“ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุนในการเดินทางหลายอย่าง ทั้งจากการเดินทางหลายต่อ ยังไม่รวมถึงการใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า ที่ผู้บริโภคต้องแบกับต้นทุนค่าโดยสารทำให้ได้ใช้บริการในราคาแพง ซึ่งถ้าบริหารจัดการดี ๆ ผู้บริโภคไทยอาจจะไม่ต้องแบกรับต้นทุนการเดินทางสูงเช่นเดียวกับคนที่ยุโรป” ภาณุกล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ สภาผู้บริโภคถกบทเรียนต่างประเทศรถไฟฟ้า 20 บาททำได้รัฐต้องอุดหนุน

ติดตามชมย้อนหลัง “การเสวนาบทเรียนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ของไทยและต่างประเทศ”

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #รถไฟฟ้า #การเดินทาง #ค่าเดินทาง #บริการสาธารณะ #ขนส่งสาธารณะ #ขนส่งมวลชน