ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพ เดือนกรกฎาคม 2566

การประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ครั้งที่ 4/2566 ได้พิจารณาให้สำนักงานสภาผู้บริโภคส่งหนังสือกลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กรมการค้าภายในอีกครั้ง เพื่อยืนยันอำนาจหน้าที่ของ กกร. ในฐานะหน่วยงานผู้มีหน้าที่ควบคุมราคายารักษาโรค และบริการทางการแพทย์ พร้อมขอให้ กกร. ใช้อัตราการคิดค่าบริการตามจริงตามรายการที่กำหนด (Fee Schedule) ทุกกรณีที่ผู้บริโภคไปใช้บริการ

ส่วนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่หรือยูเซ็ป (UCEP) ขอให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาลหลัง 72 ชั่วโมงที่พ้นวิกฤต โดยให้ใช้อัตราการคิดค่าบริการตามจริงตามรายการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชน จนกว่าคนไข้จะออกจากโรงพยาบาล รวมถึงขอให้มีการกำกับราคากับผู้บริโภคที่ไปใช้บริการในกรณียูเซ็ป แต่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ฉุกเฉิน (สีแดง) ขอให้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในอัตราตามจริงตามที่ สปสช. จ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชนด้วยเช่นกัน

หลังจาก กกร. ตอบกลับสภาผู้บริโภคว่า ‘การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามกฎหมายได้กำหนดให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นสินค้าและบริการควบคุม และได้กำหนดมาตรการให้โรงพยาบาลเอกชนมีหน้าที่ต้องแจ้งราคายา ค่าบริการรักษาพยาบาล และแสดงราคาหรือค่าบริการ รวมทั้งได้กำหนดกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคไว้แล้ว แต่เมื่อพิจารณาข้อเสนอของสภาผู้บริโภค พบว่า มีหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยหากประเด็นใดไม่มีความชัดเจนให้หน่วยงานนั้นทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป’

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค