สภาองค์กรของผู้บริโภค แนะ คปภ.จัดอันดับความเสี่ยง บริษัทประกันภัย

ข้อมูล คปภ. เผย บริษัทประกันทุนตก ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) แนะ คปภ.จัดอันดับความเสี่ยงบริษัท เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเลือกใช้บริการ

ตามที่ปรากฏในสื่อหลายสำนัก ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่บริษัทประกันจ่ายเงินเคลมประกันโควิด – 19 ล่าช้า ตั้งแต่ปลายเดือนกรฎาคม 2564 เป็นต้นมานั้น

19 กันยายน 2564 ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) สอบ. เปิดเผยว่า ตลอดช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน ศูนย์บริการผู้บริโภคฯ สอบ. ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ซื้อประกันภัยโควิดฯ มากกว่า 500 ราย ซึ่งได้รวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอแนะร่วมกับตัวแทนผู้เสียหาย นอกจากนี้ ยังได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่กำกับดูแล คือ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทประกันภัย รวมทั้งบริษัทประกันภัย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยหารือกันไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ร้องเรียนบางส่วนจะได้รับการดูแลจากบริษัทประกันฯ แล้วนั้น แต่ยังพบว่าปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิดฯ ยังไม่ได้รับการแก้ไขในระดับนโยบาย โดยยังปรากฏผู้ร้องทุกข์มายังศูนย์บริการผู้บริโภคฯ และมีจำนวนผู้เสียหายสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ศูนย์บริการผู้บริโภคฯ สอบ. ได้ติดตามและเฝ้าระวังการประกอบธุรกิจของบริษัทประกันภัยที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค และพบว่า ในรายงานการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยบางแห่ง ที่ส่งให้กับ คปภ. ในไตรมาสที่ 2 นั้น มีมูลค่าเงินกองทุนที่บริษัทดำรงไว้ (Capital Adequacy Ratio : CAR)* ไม่ถึงร้อยละ 110 (ระดับที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ) ซึ่งต่ำกว่ากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้มีค่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 120 ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าสถานะทางการเงินของบริษัทประกันภัยบางแห่งอยู่ในสถานะที่มีความเสี่ยงและอาจจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ สอบ. เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญและจำเป็นแก่ผู้บริโภคที่ควรแจ้งให้ทราบ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริการประกันภัยที่ถูกต้องและครบถ้วน ดังนั้น จึงขอเสนอให้ คปภ. ใช้อำนาจในฐานะนายทะเบียน ตาม พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ออกประกาศสถานะกองทุนของบริษัทต่าง ๆ และจัดลำดับเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการพิจารณาและเลือกใช้บริการกับบริษัทประกันภัยที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง ไม่มีประวัติการประวิงหรือจ่ายสินไหมล่าช้า หรือไม่เคยถูกร้องเรียนจำนวนมากมาก่อน ซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหาให้กับผู้บริโภคในเชิงรุก และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผู้บริโภครวมตัวประท้วงปิดล้อมบริษัทประกันภัยตามที่ปรากฏบนสื่อในห้วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา

*หมายเหตุ Capital Adequacy Ratio (CAR) คือ อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ที่ คปภ.กำหนดให้บริษัทคงไว้เทียบกับเงินภาระที่บริษัทประกันต้องดูแลลูกค้า โดยได้กำหนดอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ใช้ในการกำกับ (Supervisory CAR) กำหนดให้มีค่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 120 ตามหนังสือที่ 3213/ว. 508 และ 3213/ว. 509 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง การปรับปรุงระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (EWS) และมาตรการแก้ไขปัญหาและการแทรกแซงตามระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค