ประณาม กสทช. และคาดโทษ สนง. กสทช. บิดพลิ้วการใช้อำนาจตาม ก.ม.

นักกฎหมายถาม กสทช. “กลัวอะไร” มีอำนาจแต่ไม่กล้าใช้ หรือ กลัวควบรวมไม่ได้ ส่วนกรณีรองเลขา กสทช. ยืนยันว่าดีลควบรวมไม่สะดุดเพราะ กสทช. มีอำนาจเพียง “รับทราบ” เข้าข่าย บิดเบือนข้อมูลที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะ ขู่พร้อมฟ้องทั้งกรรมการ กสทช. และรองเลขาฯ ต่อ ป.ป.ช.

(เวทีแถลงข่าว “กสทช. หลักนิติธรรม ไม่ใช่นิติ (เพื่อ) ทุน” วิทยากร : ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต, สุภิญญา กลางณรงค์ และสารี อ๋องสมหวัง ผู้ดำเนินรายการ : กรรณิการ์ กิตติเวชกุล)


การกระทำของ กสทช. “เหลืออด” และ “น่าเกลียดเกินไป”

ความพยายามไม่ใช้อำนาจตนเองในการพิจารณาตัดสินการควบรวมครั้งนี้ทำให้ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เรียกว่าเป็นการกระทำที่ภาษาบ้าน ๆ เรียกว่า “เหลืออด” และ“น่าเกลียดเกินไป”

เพราะแม้แต่ศาลปกครองได้ให้คำวินิจฉัยแล้ว และคณะกรรมการกฤษฏีกาตีความแล้ว คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้ง ก็ให้ความเห็นที่ตรงกันว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณา

ขณะที่รองเลขาธิการ กสทช. ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ก็ยังออกมาให้ข่าวว่าดีลนี้ไม่สะดุด กสทช. รับทราบก็พอ จึงตั้งคำถามว่า “กสทช. กลัวอะไรถึงไม่ใช้อำนาจหรือกลัวว่าหากนำเข้าพิจารณาแล้วบริษัทจะรวมกันไม่ได้ใช่หรือไม่”

สิ่งหนึ่งที่ ผศ.ดร.ปริญญาเตือนสติ กสทช. ให้ตระหนักคือค่าตอบแทนที่เป็นจำนวนที่สูงมากที่ ประธานและกรรมการ กสทช. รวมถึงผู้บริหารสำนักงาน กสทช. รับอยู่หลายแสนบาทต่อเดือนเป็นเงินที่มาจากประชาชนแม้ว่าจะจัดสรรมาจากรายได้การประมูลคลื่นความถี่ แต่ที่ผู้ประกอบการลงทุนไปเพื่อหารายได้จากประชาชน จึงเป็นเงินของประชาชน “แต่ กสทช. ทำราวกับว่าตัวเองรับเงินจากบริษัทเอกชน”

นักวิชาการด้านกฏหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เตือนอีกว่า ไม่ว่าการพิจารณาจะอนุญาตให้ควบรวมแบบมีเงื่อนไขหรือไม่ควบรวม กสทช. ก็ต้องทำหน้าที่ตามกฏหมาย และหน้าที่ของ กสทช. ก็ต้องอยู่ภายใต้มาตรา 60 ตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าต้องทำ “เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน”

ในประเด็นข้อโต้แย้งที่ กสทช. มีออกเรื่อยมาว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ได้ยกเลิกประเด็นเรื่องที่บริษัทที่ต้องการควบรวมต้องขออนุญาตต่อ กสทช. ที่กำหนดไว้ในประกาศฯ ปี 2549 ที่กำหนดว่า หากมีการซื้อหุ้นมากกว่าร้อยละ 10 ของบริษัทที่เป็นผู้ถือสัญญาสัมปทาน ต้องขออนุญาตต่อ กสทช. นั้น ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า กสทช. ทำเหมือนไม่รับทราบว่ามีข้อ 9 ในประกาศฯ ปี 2561 ซึ่งได้เขียนชัดเจนว่าให้ถือว่าเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศฯ ปี 2549

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นปัญหาในหลักการอย่างยิ่งเมื่อ กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระ ส่งอำนาจไปให้กฤษฏีกาตีความ ตามปกติกฤษฏีกาเป็นนักกฏมายของรัฐที่มีหน้าที่ตีความตามกฏหมายให้หน่วยงานรัฐไม่ได้มีหน้าที่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจที่ กสทช. ที่เป็นองค์อิสระ กลับส่งให้กฤษฏีกาตีความเรื่องอำนาจของตน และแปลกใจยิ่งกว่าที่กฤษฏีการับมาตีความ “ถ้า กสทช. จะทำแบบนี้ก็ควรจะยกเลิกองค์กรเสียเลยจะดีกว่า”

ผศ.ดร.ปริญญาย้ำว่าองค์กรที่มีธรรมภิบาลต้องมี Consensus Oriented หรือแนวทางความเห็นร่วม ซึ่งหมายถึงหากมีปัญหาใด ๆ ที่มีคนทักท้วงมาจำนวนมากองค์กรนั้นก็ต้องมาตั้งหลักเริ่มต้นใหม่ แต่ประเด็นการควบรวมทรูและดีแทคจะเห็นได้ว่า กสทช. พยายามบ่ายเบี่ยงการใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่ง ผศ.ดร.ปริญญา ยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเองเรียกร้องนั้นเพียงแค่ให้ กสทช. “ใช้อำนาจทำตามหน้าที่”

อย่างไรก็ตาม หน้าที่หนึ่งของ กสทช. นั้น “ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน” ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ  

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า หากว่าไปตามกฏหมาย ถ้าซื้อหุ้นจากบริษัทที่ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเกินร้อยละ 10 เมื่อไร กสทช. ต้องพิจารณา และย้ำว่าการควบรวมทำได้ตามกฏหมาย กสทช. จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ แต่การไม่ยอมใช้อำนาจกลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า “หรือเพราะ กสทช. เกรงว่าการนำเข้าที่ประชุมแล้ว การควบรวมจะเกิดขึ้นไม่ได้เช่นนั้นหรือ”

ขณะที่เมื่อหลายกลุ่มทักท้วงแล้ว รองเลขาฯ กสทช. ยังบิดเบือนข้อมูล อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องข้ามสำนักงานและไปเตือนคณะกรรมการ กสทช. โดยตรงว่า ศาลปกครองและกฤษฏีกาให้ความเห็นตรงกันว่า กสทช. มีอำนาจ และต้องใช้อำนาจนั้น หากคณะกรรมการเลือกที่จะฟังรองเลขาฯ มากกว่า สังคมอาจต้องฟ้องร้องข้อหา “การใช้อำนาจโดยมิชอบ” กับ กรรมการ กสทช. และ รองเลขาธิการ กสทช.

โดย ผศ.ดร.ปริญญาเน้นว่า ความเป็นองค์กรอิสระหมายถึงความเป็นอิสระต่อรัฐ แต่ต้องมี Accountability หรือความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ต่อประชาชน “แต่องค์กรอิสระของเรามีปัญหาหมด จึงต้องมีการปฏิรูป” ซึ่งต้องเริ่มที่ กสทช. ก่อนเพราะเป็นองค์กรที่มีปัญหามากที่สุด ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนในขณะที่มีรายได้จากประชาชนสูงสุด


“ดีลนี้ เป็นดีกรีที่หนักข้อ” เจาะลึก เบื้องหลังผู้ถือหุ้นบริษัทใหม่

กฎหมายอุปมาไว้ “ถ้าห้ามสิ่งใดที่ชั่วร้ายไว้ สิ่งที่ชั่วร้ายยิ่งกว่ายิ่งต้องถูกห้ามตามไปด้วย”

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต นักวิชาการด้านกฏหมาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ชี้ว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญและแผนแม่บท ยังมีอีกมาตราหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ มาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่กำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดมาตรการเฉพาะไม่ให้ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมผูกขาด หรือลดการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมประเภทเดียวกัน

โดยมีประกาศที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ. นี้คือ ประกาศฯ ปี 2549 และประกาศฯ ปี 2561 ขณะนี้ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเรื่องนี้อยู่ภายใต้ประกาศฯ ปี 2549 หรือไม่ หรืออยู่ในประกาศฯ ปี 2561

รศ.ดร.ณรงค์เดช ชี้ว่า ตามกฏหมาย “สิ่งใดที่กระทบประโยชน์สาธารณะ กระทบผู้บริโภค กระทบทรัพยากรที่มีจำกัด เช่น คลื่นความถี่ ยิ่งสำคัญมากเท่าไร อำนาจการควบคุมการประกอบธุรกิจก็ต้องยิ่งมาก และเมื่อมีมาก ระบบทั้งสากลโลกเขาจะห้ามทำจนกว่าจะได้รับอนุญาต”

ในประกาศฯ ปี 2561 ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับการควบรวมกิจการไว้สองขั้น ขั้นแรก คือ ปฏิบัติตามประกาศ ฯ ปี 2561 แต่ในอีกขั้นหนึ่งกำหนดว่า การรายงานข้อที่ 5 ให้ถือว่าเป็นการขออนุญาตตามประกาศฯ ปี 2549 “เขาเขียนว่า ‘ขออนุญาต’ ไม่ได้เขียนว่าการรายงานในข้อ 5 เป็นการ ‘ได้รับอนุญาต’ ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกแก่เอกชน ที่ไม่ต้องทำรายงานสองรอบ ไม่ต้องยื่นสองฉบับ ก็เลยมีการกำหนดว่าการรายงานตามประกาศฯ ปี 2561 ให้ ถือว่าเป็นการขออนุญาตตามประกาศฯ ปี 2549”

ดังนั้น สิ่งแรกที่ กสทช. ต้องมาดูว่าดีลนี้อยู่ภายใต้ประกาศฯ ปี 2561 อย่างเดียวใช่หรือไม่ หรืออยู่ในประกาศฯ ปี 2561 และประกาศฯ ปี 2549 ซึ่งเป็นหน้าที่ กสทช. ที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงว่าอยู่ภายใต้ประกาศฯ ปี 2549 หรือไม่ “เมื่อมาดูเนื้อความในประกาศฯ ปี 2549 จะเห็นว่าอำนาจ กสทช. จะอนุญาต หรือสั่งห้าม หรืออนุญาตแล้วกำหนดมาตรการเฉพาะตามมาทีหลังก็ได้มีสามทางเลือก” แต่สุดท้ายต้องดูว่าเข้าประกาศฯ ปี 2549 หรือไม่

หากพิจารณาจากประกาศฯ ปี 2549 จะพบว่าการควบรวมบริการธุรกิจประเภทเดียวกันโดยการเข้าซื้อและจ่ายเงิน หรือการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของผู้ถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น โดยที่การถือหุ้นอาจจะเป็นการซื้อหรือ แลกเปลี่ยนหรือได้เปล่าก็ได้ แต่การถือครองหุ้นไม่ว่าในรูปแบบไหน ถ้าถึงร้อยละ 10 ของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ก็ต้องขออนุญาตจาก กสทช. ก่อน

เพื่ออธิบายโครงสร้างการถือหุ้นของสองบริษัทที่ต้องการควบรวม รศ.ดร.ณรงค์เดช อ้างถึงเอกสารสารสนเทศที่บริษัท ทรู เผยแพร่ให้กับตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทราบ ซึ่งจะพบว่า บริษัท ทรู ไม่ใช่ผู้ถือใบอนุญาตแต่เป็นบริษัทลูก คือ บริษัททรูมูฟเฮช ซึ่งตามกฏหมายกำหนดว่า การเข้าถือหุ้น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดเพื่อเข้าควบคุมนโยบายของผู้ถือใบอนุญาตรายอื่น ไม่ว่าจะทำโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือผ่านตัวแทนจะทำไม่ได้ยกเว้นได้รับอนุญาตจาก กสทช.

โดยรายละเอียด รศ.ดร.ณรงค์เดชอธิบายต่อว่าการซื้อสินทรัพย์ทำได้หลายวิธี เช่น บริษัท เอ และ บี ต้องการควบรวมกัน บริษัททั้งสองไม่ได้เป็นผู้ถือใบอนุญาตเอง แต่มีบริษัทลูกๆ ถือใบอนุญาตของทั้งสอง “สมมุติว่ามีบริษัทลูกสองบริษัท คือ บริษัท ก.ไก่ และ บริษัท ข.ไข่ เป็นผู้ถือใบอนุญาตคนละใบอยู่ คิดง่าย ๆ เมื่อ บริษัท เอ เข้าถือหุ้นในบริษัท บี และ บริษัท ข. ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเข้าไปกำหนดนโยบาย แค่นี้ก็ต้องขออนุญาตแล้ว”

แต่ครั้งนี้เป็นการควบรวมระหว่าง บริษัท เอ และบริษัท บี กลายมาเป็นบริษัท ซี ซึ่งเป็นกรณีการเข้าครอบงำกิจการบริษัทที่ถือใบอนุญาตที่หนักข้อขึ้นไปอีก เพราะบริษัท ซี สามารถเข้าไปสั่งการกำหนดนโยบาย บริษัท ก. และบริษัท ข. ที่เป็นผู้รับใบอนุญาตได้ทีเดียวสองบริษัท “แค่ถือหุ้นในรายอื่นแค่ร้อยละ 10 ยังต้องขออนุญาต แต่นี่บริษัท ซี ถือหุ้นและสั่งการได้ทีเดียวสองบริษัท เพราะเหตุใดจึงไม่ต้องขออนุญาต”

จะเห็นได้ชัดว่าการควบรวมครั้งนี้ ดีกรีของการครอบงำกิจการที่ถูกห้ามไว้ในกฏหมายนั้นหนักข้อกว่าเดิมมาก “กฏหมายบอกว่าถ้าห้ามสิ่งใดที่ชั่วร้ายไว้ สิ่งที่ชั่วร้ายยิ่งกว่ายิ่งต้องถูกห้ามตามไปด้วย” รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว “เพราะกฏหมายไม่สามารถเขียนห้ามทุกอย่างได้ แต่เขียนในหลักการพื้นฐานไว้ อะไรที่ร้ายกว่ายิ่งต้องทำ ฉะนั้นหากมีการครอบงำ กำหนดนโยบาย กำหนดการบริหารของผู้รับใบอนุญาตสองใบ ก็ต้องถูกห้ามแน่นอน”

วัตถุประสงค์ของกฏหมายนั้นชัดเจน รศ.ดร.ณรงค์เดช ระบุว่า ไม่ต้องการให้ถือธุรกิจประเภทเดียวกัน เพราะจะทำให้ผู้ใดผู้หนึ่งมีอำนาจกำหนดนโยบาย หรือกำหนดแพ็กเกจแบบคล้าย ๆ กัน “อย่างเช่น บริษัท เอ มาถือหุ้น เกินร้อยละ 10 บริษัท ข. ยังต้องขออนุญาต แต่บริษัท เอ บวก บริษัท บี กลายเป็น บริษัท ซี มีอำนาจสั่งได้ทั้ง บริษัท ก. และ บริษัท ข. ได้เลย ทำไมจะไม่ต้องขออนุญาต”

เมื่อมาดูรายละเอียดหนังสือสารสนเทศของบริษัท ทรู จะพบว่า บริษัท ทรูมูฟเฮช ที่เป็นบริษัทลูกของทรู ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถัดมาบริษัทดีแทค ก็มีบริษัทลูก ที่ชื่อว่า บริษัท ดีแทคไตรเน็ต ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เหมือนกัน และเป็นบริษัทที่ถือใบอนุญาต เมื่อกลับมาดูบริษัททรู พบว่า ถือ

หุ้นถึงร้อยละ 99.99 ของบริษัททรูมูฟเฮช ที่เป็นผู้ถือใบอนุญาต “ซึ่งก็ถือว่าเป็นบริษัทเดียวกัน ถัดมา บริษัท ดีแทคเป็นแม่ถือหุ้นใน บริษัท ดีแทคไตรเน็ตที่เป็นผู้ถือใบอนุญาต ถึงร้อยละ 99.9 แม้ในทางกฏหมายจะบอกว่า เป็นคนละนิติบุคคลเป็นสองบริษัท แต่ถ้ามองธุรกิจก็ถือว่าเป็นองค์กรธุรกิจเดียวกัน เพราะเป็นเสมือนหนึ่งเป็นคนเดียวกัน” เนื่องจากดีแทค หรือ ทรู มีอำนาจครอบงำกิจการบริษัทลูกของตัวเองถึงร้อยละ 99.99  

ในโครงสร้างผ้ถือหุ้นของ บริษัททรู ในปัจจุบันมี บริษัทซีพีโภคภัณฑ์ ไชน่าโมบาย และผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ของทรู ส่วนดีแทค ก็มี บริษัทดีแทค ทีเอ็มเอ บริษัทไทยเทเลโคโฮลดิ้ง และผู้ถือหุ้นรายอื่น พอควบรวมกันเป็นบริษัทใหม่ เจริญโภคภัณฑ์ ก็มีหุ้นร้อยละ 28 ดีแทคมีร้อยละ 27 ไซน่าโมบายมีร้อยละ 10 “มาลองดูว่าบริษัทเหล่านี้ ถือหุ้นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทลูกหรือไม่ ก็จะพบว่าเกินอยู่แล้ว และเป็นการถือครองหุ้นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทผู้รับใบอนุญาต”

ในประเด็นการถือครองบริษัทใหม่นี้เป็นนิติบุคคลใหม่ ที่มาจากการแลกหุ้นที่มาจากการทำนิติกรรมการตามกฏหมายประมาลแพ่ง คือการแลกเปลี่ยนหุ้น ในส่วนของทรู 1 หุ้นเดิม เท่ากับ 0.60018 ของบริษัทใหม่ ส่วนดีแทค หนึ่งหุ้นเดิม ได้เท่ากับ 6.13444 หุ้นของบริษัทใหม่ ถามทำไมเป็นเช่นนั้น เหตุเพราะหุ้นดีแทคราคาแพงกว่าหุ้นของทรู

ประเด็นถัดมา คือ การถือหุ้น ในเอกสารที่ดีแทคเปิดเผยกับตลาดหลักทรัพย์ ลงวันที่ 4 เมษา มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว มีผู้ถือหุ้นของดีแทคไม่เห็นชอบกับการควบรวมจำนวนสองร้อยกว่าล้านหุ้น คิดเป็นกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่เห็นชอบในการควบรวม แต่กฏหมายบังคับว่าจะต้องมีการซื้อหุ้นของคนที่ไม่เห็นด้วย ในราคาวันสุดท้ายก่อนมีการประชุม และในเอกสารนี้มีการซื้อในวันนั้น

โดยบริษัท ซิทริน เวนเจอร์ โฮลดิ้ง และ บริษัทซีทริน อินเวสเม้นท์ สองบริษัทนี้เป็นบริษัทลูก ที่ร่วมทุนหุ้นของ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทเทเลนอร์ เอเซีย “สรุปว่ามีการถือหุ้นจำนวน10 เปอร์เซนต์ของหุ้นทั้งหมดของบริษัททั้งสองในบริษัทใหม่ ทำให้เกิดอำนาจในการควบคุมการบริหารของบริษัทผู้ถือใบอนุญาตทั้งสองราย (บริษัท ทรูมูฟเอช และ บริษัท ดีแทคไตรเน็ต) จึงอยู่ภายใต้ข้อ 8 ของประกาศฯ ปี 2549 ซึ่งต้องขออนุญาต กสทช. ที่มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต”

โดยโครงสร้างนี้ รศ.ดร.ณรงค์เดช ชี้ว่า จะเห็นว่ากลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ไชน่าโมบาย มีอำนาจควบคุมทรู ซึ่งทรูถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของทรูมูฟเอช ที่เป็นผู้ถือใบอนุญาต อีกด้านหนึ่ง บริษัท TnA และ บริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้ง มีอำนาจควบคุมดีแทค และดีแทคถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของบริษัท ดีแทคไตรเน็ต ที่เป็นบริษัทผู้รับใบอนุญาต เมื่อรวมกันเป็นบริษัทใหม่ก็จะมีบริษัทซีพีถือหุ้นร้อยละ 28.98 ในบริษัทใหม่ บริษัท ไชน่าโมบายถือหุ้น ร้อยละ 10.41 และบริษัท TnA และไทย เทลโค โฮลดิ้ง ถือหุ้นรวมกันร้อยละ 27.35 ซึ่งบริษัทใหม่นี้จะถือหุ้นถึงร้อยละ 99.99 ในทรูมูฟเอช และ ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของบริษัทดีแทคไตรเน็ต

ทำให้บริษัทใหม่เกิดอำนาจในการกำหนดนโยบาย กำหนดการบริหารด้วยคนคนเดียว ซึ่งตีความได้ว่า เจริญโภคภัณฑ์ ข้ามมาถือหุ้นดีแทคไตรเน็ตโดยอ้อม ส่วนเทเลนอร์ก็ข้ามไปถือหุ้นทรูมูฟเอชโดยอ้อม ซึ่งหากเฉลี่ยจากร้อยละ 28 ของซีพีเมื่อแปลงเป็นร้อยละ 99.99 ของดีแทคไตรเน็ตจะเป็นเท่าไร

สามารถคิดออกมาได้ในข้อ 8 ของประกาศฯ ปี 2549 ความว่า การเข้ามาถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของบริษัทถือครองใบอนุญาตเพื่อควบคุมนโยบายหรือบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือผ่านตัวแทนจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. แม้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ไม่ได้มาซื้อหุ้นดีแทคไตรเน็ตโดยตรง บริษัทเทเลนอร์ ก็ไม่ได้ซื้อหุ้นทรูมูฟเอชโดยตรง แต่เป็นทางอ้อม ถือโดยการแลกหุ้น หรือผ่านตัวแทนบริษัทที่เป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ดังนั้น กสทช. มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต

อย่างไรก็ตาม แม้ รศ.ดร.ณรงค์เดช ไม่ฟันธงว่า กสทช. ควรอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ แต่ได้ชี้ว่าสิ่งที่สำคัญกว่าราคาที่จะแพงขึ้น คือทางเลือก “คนเราต้องมีเสรีภาพที่จะเลือก หากเราไม่ชอบรายหนี่งก็ไปอีกที่หนึ่ง ถ้าเราไม่ชอบอีกที่หนึ่ง ก็ไปอีกที่หนึ่ง ทางเลือกเป็นสิ่งที่สำคัญของมนุษย์”


ถาม กสทช. ปิดจุดอ่อนหรือยัง

สุภิญญา กลางณรงค์ อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค เน้นว่า ก่อนที่ กสทช. และสำนักงานตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ควรพิจารณาในกรอบแผนแม่บทที่มีฐานะผูกพันทางกฏหมาย โดยนำแผนแม่บทมาพิจารณาคู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ เพราะหากไม่ทำตามขั้นตอนนี้ หากถูกฟ้องที่ศาลปกครอง เมื่อศาลให้คำตัดสินสุดท้ายในกรณีควบรวม กสทช. อาจแพ้เพราะไม่ได้นำแผนแม่บทที่ยึดโยงเรื่องการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดที่อาจจะเป็นจุดอ่อน

นอกจากจุดอ่อนนี้สุภิญญายังชี้ให้เห็นว่า กสทช. ยังไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคอย่างทั่วถึงจากทุกภาคส่วน เช่น กลุ่มคนพิการ คนต่างจังหวัด เด็กนักศึกษา หรือแม้แต่ดีแทคเองก็มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นผู้ที่เลือกดีแทคเพราะไม่ต้องการใช้ทรูกับเอไอเอส ประชาชนที่เดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานทูตนอร์เวย์ เพราะเขาต้องการแสดงว่าเขาใช้บริการดีแทคเพราะมั่นใจกับบริษัทที่ยึดโยงกับมาตรฐานประเทศนอร์เวย์ ซึ่ง กสทช. ก็ต้องให้คำตอบกับผู้ใช้ที่มีความมั่นใจกับแบรนด์

โดยสุภิญญาอ้างถึงวิกฤติทีวีดิจิทัล ที่มีทีวีต้องการหยุดดำเนินกิจการ แต่ กสทช. ไม่ยอมเนื่องจากผิดเงื่อนไขตามสัญญาที่มีไว้ขณะรับใบอนุญาต ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ไปจบที่ศาล

สุภิญญาชี้ว่าในส่วนโทรคมนาคม จะเห็นได้ชัดว่า กสทช. ไม่สามารถสร้างตลาดที่มีการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมได้ เมื่อเทียบกับประเทศเมียนมาร์และมาเลย์เซียที่มีคู่แข่งที่สี่ที่ห้า แม้ขณะนี้มีความต้องการสนับสนุน NT (บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ) เป็นทางเลือกของการย้ายค่ายค้านควบรวมของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้าส่งเสริม เอ็นที กสทช. ก็ควรให้ช่วงเวลาที่เรียกว่า “เกรซ พีเรียด” (Grace Period) เป็นเวลาห้าปี หรือ เจ็ดปี ที่กสทช. ต้องสัญญาว่าจะผลักดันเอ็นทีให้มาเป็นรายที่สาม ไม่เช่นนั้นถือว่า กสทช. ปล่อยให้ประชาชนเคว้งคว้าง

เพราะสุดท้ายเมื่อเหลือสองรายใหญ่ในตลาดก็จะนำมาซึ่งการร่วมมือกัน “ฮั้ว” ธุรกิจ หาก กสทช. ชุดนี้ ดันเอ็นทีให้ขยับขึ้นมาเป็นรายที่สี่ไม่ได้ กสทช. ชุดหน้าแทบไม่ต้องทำงานเพราะไม่มีการกำกับการแข่งขันด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้น

นอกเหนือจากนี้ กสทช. ต้องอย่าลืมสองเรื่องคือสัญญากับรัฐที่เกิดจากการได้รับใบอนุญาต ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะส่งผลต่อการทำงานของ กสทช. เองได้ รวมถึงการรวมกิจการทั้งของดีแทค-ทรู และของเอไอเอส กับ 3BB ก็เป็นการรวมกิจการประเภทเดียวกัน กสทช. ไม่สามารถใช้วิธีการศรีธนญชัยในการตัดสิน เพราะประชาชนเข้าใจว่านี่คือการควบรวมกิจการแบบเดียวกัน

กสทช. คือตัวแทนรัฐและสังคมในการทำสัญญากับเอกชน ถ้าหากต้องการเปลี่ยนแปลงสัญญาก็ต้องมาขออนุญาต กสทช. ซึ่ง กสทช. ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ใช่เป็นนายทะเบียนเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้กระทบต่อรัฐและสังคม

สุภิญญากล่าวว่า มีความเชื่อมั่นในความมีอยู่ขององค์กรนี้ที่ผลักดันให้เกิดตั้งแต่ต้น แต่ขณะนี้ยอมรับว่าเห็นการกระทำของ กสทช. ที่ไม่มีความเขินอายต่อความไม่รับผิดชอบ จึงตั้งใจว่าจะเดินหน้าแก้ พ.ร.บ. กสทช. รวมทั้งการลดรายได้ผู้บริหาร กับพรรคการเมืองในอนาคต หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น


กลุ่มผู้บริโภคกว่า 40 จังหวัดใช้พลัง “ไม่ซื้อ” ต้านควบรวม

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ขณะนี้คำวินิจฉัยของศาลปกครองและกฤษฏีกาเป็นไปในทางเดียวกันว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค แต่สำนักงาน กสทช. ยัง “ดันทุรัง ที่ว่าบอกว่า กสทช. ทำหน้าที่แค่รับทราบการควบรวมธุรกิจเท่านั้น” อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่า “สิ่งที่ กสทช. ควรทำคือ ไม่อนุญาตให้ควบรวม” โดยอ้างถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคปัจจุบันจ่ายที่ 220 บาทต่อคนต่อเดือนโดยเฉลี่ย 80 ล้านเลขหมาย

ถ้าอนุญาตให้ควบรวม ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์แพงขึ้น ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่ กสทช. ควรทำเพราะจะทำให้ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้นร้อยละ 12 โดยเฉลี่ยในภาวะที่มีผู้แข่งขันแค่สองราย แต่หากไม่มีการแข่งขันในกรณีที่คู่แข่งขันหันมาร่วมมือกัน ค่าใช้จ่ายผู้บริโภคจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจเป็นร้อยละ 244.5 จึงย้ำว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่จะไม่ให้มีการผูกขาด “ผู้บริโภคจะดำเนินการเท่าที่จะทำได้ หาก กสทช. ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์”

สารีกล่าวเสริมว่า ในขณะนี้ได้มีกลุ่มผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 40 จังหวัดได้เคลื่อนไหวใช้อำนาจของตัวเองในการค้านการควบรวมครั้งนี้ด้วยการย้ายค่ายออกจากค่ายมือถือที่จะควบรวมกัน ซึ่งหากความเคลื่อนไหวนี้แสดงความเป็นพลเมือง (Netizen) ที่อาจก่อให้เกิดความชงักการควบรวมก็ได้

อย่างไรก็ตาม สารีชี้ว่า ในประเด็นที่กฤษฏีกามีความเห็นว่า กสทช. มีหน้าที่ทำให้ การพัฒนาทคโนโลยีและการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้สัดส่วนกันนั้น ในความเป็นจริงการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ใช่หน้าที่ กสทช. แต่เป็นหน้าที่ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม และเน้นว่า ขอให้ กสทช. ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญที่ต้องทำ “เพื่อประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ”

สืบเนื่องจากกรณีที่รองเลขาธิการ กสทช. ได้บิดเบือนข้อมูลกรณีความเห็นจากกฤษฏีกาว่าอำนาจ กสทช. เป็นเพียงรับทราบ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือให้ กสทช. พิจารณาสั่งให้รองเลขาหยุดปฎิบัติหน้าที่ ท้ายสุดสารีเรียกร้องให้ กสทช. ทำหน้าที่ตามที่กฏหมายและรัฐธรรมนูญกำหนด ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการต่อ กสทช.

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค