อย. ชี้แล้ว ขายผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าไม่มีฉลากภาษาไทย ผิดกฎหมาย หลังสภาองค์กรของผู้บริโภคร้อง

อย. ระบุ ผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ใน ‘ร้านหวังจงหวังซุปเปอร์มาเก็ตจีน’ และ ‘ร้าน JidubanG Market’ ไม่มีฉลากภาษาไทย หลังสภาองค์กรของผู้บริโภค ลงพื้นที่เฝ้าระวัง เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา และส่งหนังสือ แจ้ง อย. ตรวจสอบ แนะผู้บริโภคไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการติดฉลากให้ถูกต้อง ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ปลอดภัย

วันนี้ (22 กันยายน 2565) มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แจ้งผลการตรวจสอบร้านค้าในไทยที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ อย. ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานที่จำหน่ายอาหารตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ได้แก่ ‘ร้านหวังจงหวังซุปเปอร์มาเก็ตจีน’ (ที่อยู่ ถนนเทียมร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร) และ ‘ร้าน JidubanG Market’ (ที่อยู่ 99/26 – 28 เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร)

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่มีฉลากภาษาไทย

พบว่า ร้านค้าดังกล่าวแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย หลังสภาองค์กรของผู้บริโภคส่งหนังสือแจ้ง อย. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ขอให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกร้านค้าในไทยที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

มลฤดี กล่าวอีกว่า จากเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคแจ้งเบาะแสมาที่สภาองค์กรของผู้บริโภค เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารต่างประเทศ เช่น อาหารจากประเทศเกาหลีหรือจีน ไม่มีฉลากภาษาไทยระบุอยู่

ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ 2565 เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคได้ลงพื้นที่เฝ้าระวังและสำรวจร้านขายผลิตภัณฑ์อาหารจากต่างประเทศในพื้นที่กรุงเทพมหานครดังกล่าว

และพบว่า ร้านขายดังกล่าว ขายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีฉลากสินค้าภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร ขณะที่ในมาตรา 6 (10) ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ระบุว่า “…ผู้ใดผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่าย อาหารไม่มีฉลากภาษาไทย….” หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 51 ปรับไม่เกิน 30,000 บาท  

“ขอให้ผู้บริโภคไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย เพื่อให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย การเฝ้าระวังดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในอีกทางหนึ่งด้วย” มลฤดี กล่าว

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่มีฉลากภาษาไทย

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค มีอำนาจตามมาตรา 14 วรรคสองของพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสภาองค์กรของผู้บริโภค แจ้งเบาะแส คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/inform.php ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค อีเมล : [email protected] หรือโทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1



#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค