นโยบายจักรยานยนต์ปลอดภัย ABS ทุกคันทุกรุ่น 100%

สถานการณ์

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2561 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศจะมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในปี 2563-2564 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 แต่หากพิจารณาสัดส่วนของกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน พบว่า ผู้ใช้รถจักรยานยนต์มีแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 65 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 79 ในปี 2564 และพบว่ารถจักรยานยนต์ขนาดต่ำกว่า 150 CC มีอัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึงร้อยละ 88

ขณะที่ผลการศึกษาอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เชิงลึกในช่วงระหว่าง ปี 2559 – 2564 ของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่า การเสียชีวิตของผู้ใช้จักรยานยนต์มีผลจากปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมและการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้ขับขี่ รวมถึงความเสี่ยงจากระยะเบรกที่เหมาะสมและมาตรฐานระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ดีสำหรับมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบของยานพาหนะจะมีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในสากลได้แก่ ข้อกำหนดทางเทคนิค หรือ UN Regulation โดยประเทศไทยได้นำ UN Regulation มาอ้างอิงในการกำหนดมาตรฐานยานพาหนะ ทั้งในส่วนของการกำหนดมาตรฐานส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์รวมถึงการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์

โดยเฉพาะมาตรฐานระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์ จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า การติดตั้งระบบป้องกันการล็อคของล้อ (Antilock Braking System หรือ ABS) จะช่วยในการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 85 ขณะที่ผลการศึกษาจากสภาองค์กรของผู้บริโภคและสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พบว่า รถจักรยานยนต์ที่มีระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยในสถานการณ์ที่ต้องขับขี่เนื่องจากในสถานการณ์จริง ผู้ขับขี่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงขับรถบนพื้นถนนที่เปียกหรือถนนลื่น และผู้ขับขี่แต่ละรายมีทักษะการขับขี่ ทักษะการเบรกที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น การมีระบบ ABS ในรถจักรยานยนต์จะช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นไถลของล้อ ซึ่งส่งผลให้สามารถควบคุมรถจักรยานยนต์ได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์ โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดให้รถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบเกินกว่า 125 CC ต้องติดตั้งระบบห้ามล้อที่มีระบบ ABS เริ่ม 1 มกราคม 2567 ส่วนในรถจักรยานยนต์ที่ขนาดต่ำกว่า 125 CC กำหนดให้ผู้ผลิตสามารถเลือกได้ว่าจะติดตั้งระบบเบรกแบบ ABS หรือ CBS (Combine Braking System) ซึ่งเป็นระบบที่กระจายแรงเบรกระหว่างหน้าและล้อหลังก็ได้

แต่เนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าว มีผลบังคับเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบเกินกว่า 125 CC ให้ต้องติดตั้งระบบ ABS ขณะที่มีรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดต่ำกว่า 125 CC ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 80 ของรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนสะสมทั้งหมดกว่า 22.1 ล้านคัน หมายความว่า จะมีรถจักรยานยนต์ที่อาจไม่ได้ติดตั้งระบบ ABS มากกว่า 17 ล้านคัน ที่วิ่งบนท้องถนนโดยปราศจากความปลอดภัย นอกจากนี้การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า การบังคับติดตั้งระบบเบรก ABS รถจักรยานยนต์ใหม่ทุกคันในระยเวลา 5 ปี จะช่วยปกป้องชีวิตคนไทยได้ 6,000 – 9,000 คน และลดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ได้มากกว่า 2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ระบบ ABS จำเป็นต้องถูกติดตั้งจากต้นทางการผลิตไม่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมภายหลังได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องกำกับดูแลให้รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยทุกรุ่นติดตั้งระบบเบรก ABS ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อการมีมาตรฐานรถจักรยานยนต์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยจะช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลงได้อย่างยั่งยืน


การดำเนินงาน

จัดทำข้อเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 และมีข้อเสนอต่อกรมการขนส่งทางบกให้เร่งรัดการติดตั้งระบบเบรก ABS ในรถจักรยานยนต์


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

ข้อเสนอหลักสำหรับผู้ผลิตและภาคอุตสาหกรรม

ประกาศนโยบายด้านความปลอดภัยให้รถจักรยานยนต์ต้องเป็นพาหนะที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค รถจักรยานยนต์ทุกคันทุกรุ่นทุกขนาดต้องติดตั้งระบบเบรก ABS ล้อหน้าและล้อหลังภายในสองปี ให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติที่ 78 (UN Regulation 78) โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายและมาตรการทางภาษีให้กับผู้ผลิตและภาคอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภค

ข้อเสนอสำหรับผู้บริโภค

ส่งเสริมมาตรการคืนเงินภาษีเท่ากับที่จ่ายจริงให้กับผู้บริโภคที่ซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่คันแรก (เฉพาะรถที่ติด ABS) รวมทั้งให้เงินอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการจัดทำประกันภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเปิดโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ (เฟส1) สำหรับผู้นำรถจักรยานยนต์เก่าที่ไม่มี ABS มาแลกรถคันใหม่ที่ติด ABS จะได้รับส่วนลดภาษีเท่ากับที่จ่ายจริงในการซื้อรถจักรยานยนต์ หรือคูปองส่วนลดในการซื้อรถใหม่ ที่จะได้รับจากการสนับสนุนจากค่ายรถต่าง ๆ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบ ABS


ความคืบหน้า

อยู่ระหว่างการติดตามข้อเสนอแนะ