นโยบายอุดหนุนเงินเปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัส รื้อระบบสัมปทานจัดสรรเส้นทางใหม่

สถานการณ์

จากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 ระหว่าง ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 พบว่า มีรถโดยสารสาธารณะเกิดเหตุ 142 คัน และเป็นรถตู้โดยสาร 31 คัน แต่ข้อมูลดังกล่าวนับรวมเฉพาะกลุ่มรถตู้โดยสารที่จดทะเบียนเป็นรถตู้โดยสารสาธารณะกับกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น ไม่นับรวมกลุ่มรถตู้ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับส่งคนโดยสารแล้วเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในกลุ่มหลังนั้นจะไม่มีข้อมูลบันทึกในระบบของกรมการขนส่งทางบก ขณะที่จากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 พบว่าทั่วประเทศมีรถตู้โดยสารประจำทาง 8,859 คัน และกลุ่มรถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 22,787 คัน สวนทางกับการเพิ่มจำนวนของรถตู้ส่วนบุคคล (รย. 2 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน) ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีจดทะเบียนสะสมจำนวน 445,862 คัน (ทั้งนี้จำนวนรถตู้ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารทั้งแบบประจำทางและไม่ประจำทางสามารถคืนป้ายทะเบียนและกลับไปเป็นรถตู้ส่วนบุคคลได้)

ทั้งนี้ ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริการรถโดยสารสาธารณะในหลายพื้นที่มีจำนวนลดน้อยลง ขณะที่ความต้องการเดินทางของผู้บริโภคมีเพิ่มมากขึ้น รถตู้โดยสารนอกระบบจึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากกว่า แต่ก็เพิ่มโอกาสความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากความไม่ปลอดภัยมากขึ้น เหตุผลเพราะโครงสร้างรถตู้โดยสารไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับการบรรทุกคนโดยสาร โดยเฉพาะการเดินทางระยะทางไกล รวมถึงโครงสร้างรถจะไม่ปลอดภัยหากเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพราะมีทางออกเพียงทางเดียว เช่น รถไฟไหม้หรือพลิกคว่ำไม่สามารถเปิดประตูรถได้

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันความรุนแรงจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทางและไม่ประจำทางที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน ทำให้ในปี 2560 กรมการขนส่งทางบกจึงได้ออกประกาศกำหนดให้รถตู้โดยสารประจำทางและไม่ประจำทางลดจำนวนที่นั่งเหลือไม่เกิน 13 ที่นั่ง มีช่องทางเดินด้านหลังเป็นทางออกฉุกเฉิน ควบคุมความเร็วด้วย GPS ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำหนดระยะเวลาผู้ขับรถให้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงและต้องหยุดพักทุก 30 นาที และกำหนดระยะทางให้วิ่งได้ในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตรสำหรับรถตู้โดยสารประจำทาง แต่รถตู้โดยสารไม่ประจำทางและรถตู้ส่วนบุคคลนั้นสามารถวิ่งในระยะทางไกลกว่าได้ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ขับรถตู้โดยสาร

ทั้งนี้ แม้กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดมาตรการป้องกันกำกับรถตู้โดยสารเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ความรุนแรงจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสารกลับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในปี 2562 คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จึงมีนโยบายเปลี่ยนรถตู้โดยสารประจำทาง หมวด 2 และหมวด 3 ที่ครบอายุ 10 ปีเป็นรถมินิบัส เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรงตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ให้บริการที่มีจำนวนลดน้อยลง จึงมีการขยายระยะเวลาให้กับรถตู้โดยสารที่มีอายุการใช้งานครบกำหนดไปแล้วบางส่วนก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ให้บริการรถตู้โดยสาร

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 1/2566 เมื่อ 11 มกราคม 2566 มีมติให้รถตู้โดยสารประจำทาง หมวด 2 และหมวด 3 ที่มีอายุการใช้งานครบ 10 ปี ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่มายืนยันรับสิทธิช่วยเหลือตามมติคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ในการประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาการเปลี่ยนรถออกไปอีก 1 รอบปีภาษีของการใช้รถแต่ละคัน โดยจะต้องเป็นรถคันเดิม เส้นทางเดิม และผู้มีกรรมสิทธิ์ครอบครองรายเดิม ทั้งนี้เมื่อครบกำหนดแล้วต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส จากนโยบายดังกล่าวจึงมีผลให้ปัจจุบันนโยบายดังกล่าวจึงมีความล่าช้า ไม่สามารถเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัสได้ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ และส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ


การดำเนินงาน

จัดทำข้อเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

1. นโยบายเปลี่ยนรถตู้โดยสารประจำทางทุกคันให้เป็นรถมินิบัสทุกคันภายในปี 2566 ด้วยการจัดสรรงบประมาณ หรือมาตรการเปลี่ยนรถในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ซื้อรถคืน เปลี่ยนรถเดิมแบบยกเว้นภาษีหรือส่วนลดภาษี ให้เงินกู้ระยะยาวแบบดอกเบี้ยต่ำ มาตรการชดเชยด้านพลังงานเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น เพื่อให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไม่สะดุดหยุดลง โดยไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากมาตรการเปลี่ยนรถครั้งนี้

2. ยกเลิกมติคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ให้ขยายเวลาการเปลี่ยนรถทดแทนรถตู้โดยสารประจำทาง และกำหนดมาตรการยกเลิกรถตู้โดยสารประจำทาง หมวด 2 และหมวด 3 ที่อายุครบกำหนดการใช้งานให้เปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) ตามมติคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ในการประชุม ครั้งที่ 5/2560 วันที่ 21 มิถุนายน 2560 ครั้งที่ 7/2560 วันที่ 7 กันยายน 2560 และครั้งที่ 2/2563 วันที่ 20 มีนาคม 2563 โดยไม่มีการขยายเวลาเพิ่ม


ความคืบหน้า

อยู่ระหว่างการติดตามข้อเสนอแนะ