
สภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. คัดค้านการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ พร้อมขอให้ทบทวนใหม่ ชี้เข้าข่ายขัดกฎหมาย เอื้อประโยชน์เอกชน กีดกันรายใหม่ และไร้มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
หลังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา โดยบริษัท เอไอเอส (AIS) ได้คลื่น 2100 MHz ขณะที่บริษัททรู ได้คลื่น 2300 MHz และ 1500 MHz ขณะที่คลื่น 850 MHz ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลนั้น
วันนี้ (2 กรกฎาคม 2568) สุจิตรา สมปาน ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนผลการประมูลคลื่นฯ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเห็นว่าการประมูลคลื่นฯ ครั้งนี้มีข้อบกพร่องในหลายจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย และอาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในระยะยาว
สำหรับประเด็นที่สภาผู้บริโภคมีความกังวล คือการตั้งราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ที่ต่ำผิดปกติ โดยคลื่น 2100 MHz ซึ่งเคยมีการประเมินมูลค่าไว้ที่ 3,970.32 ล้านบาทในการรับฟังความคิดเห็นการประมูลคลื่นฯ ครั้งที่ 1 กลับถูกกำหนดราคาขั้นต่ำเพียง 3,391 ล้านบาท ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 30 โดยไม่มีการอธิบายที่มาของตัวเลขอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ ในกรณีของคลื่น 2300 MHz มีการกำหนดราคาขั้นต่ำที่ระบุไว้ในประกาศเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 คือ 2,596.15 ล้านบาท กลับไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในรอบที่สอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ควรมีในกระบวนการจัดสรรคลื่นสาธารณะ
อีกหนึ่งประเด็น คือ หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นฯ นั้นขัดต่อหลักการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรในแต่ละตำบลภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่เคยมีในการประมูลครั้งก่อน และถือเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่โดยตรง เนื่องจากต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในการปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้ เงื่อนไขเรื่องการขยายโครงข่ายยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการแยกตามคลื่นความถี่ที่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ โดยหากไม่มีข้อกำหนดให้แยกชัดเจนจะเปิดช่องให้ผู้ชนะประมูลบางรายกักตุนคลื่นความถี่ไว้โดยไม่นำมาใช้จริง แต่อาจมีการใช้เพียงบางคลื่นมานับรวมเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการให้บริการครอบคลุมตามเงื่อนไข ซึ่งถือเป็นการใช้คลื่นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และขัดต่อหน้าที่ของ กสทช. ตามที่กฎหมายกำหนด
สุจิตรา ยังกล่าวอีกว่า การประมูลครั้งนี้ยังขาดมาตรการรองรับผู้บริโภคที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการหมดสัญญาของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ กสทช. ควรให้ความสำคัญควบคู่กับการจัดสรรคลื่น ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนผลการประมูลคลื่นฯ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่การตอบสนองต่อกลไกตลาดหรือความต้องการของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงเท่านั้น
“คลื่นความถี่คือทรัพยากรของชาติ ไม่ใช่สินค้าที่ใครควรมีสิทธิผูกขาดหรือสะสมไว้โดยไม่ใช้งาน ดังนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่าการจัดสรรคลื่นต้องคำนึงถึงประโยชน์ร่วมของคนทั้งประเทศ และภาครัฐต้องไม่ละเลยบทบาทในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภายใต้การเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมครั้งใหญ่ครั้งนี้” สุจิตรา ระบุ