เสนอยกเลิกสำรองจ่าย สิทธิประกันสังคมต้องเท่าเทียม

สภาผู้บริโภคหารือบอร์ดผู้ประกันตนฝ่ายลูกจ้าง – นายจ้าง เห็นร่วมกันเสนอยกเลิกระบบสำรองจ่ายก่อนรับบริการทุกกรณี ประกันสังคมต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ทัดเทียมสิทธิรักษาสุขภาพอื่นทันที (อัตโนมัติ) ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) หารือแนวทางการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้านบริการสุขภาพร่วมกับคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและพร้อมผลักดันให้สิทธิการรักษาพยาบาลมีสิทธิประโยชน์เดียวกัน

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ประกันตนที่ไม่ทัดเทียมกับสิทธิรักษาพยาบาลของระบบอื่น ๆ สภาผู้บริโภคได้ทำการศึกษาเพื่อปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกันตนต้องไม่จ่ายเงินสมทบด้านบริการสุขภาพเช่นเดียวกับระบบอื่นๆ และเบื้องต้นต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกับบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการ เช่น กรณีสิทธิบัตรทองสามารถรักษามะเร็งทุกทีโดยไม่ต้องสำรองจ่าย แต่สิทธิประกันสังคมจะต้องเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นได้ แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อรายต่อปี และกรณีสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมที่บัตรทองสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามจริง แต่ประกันสังคมเบิกได้ไม่เกิน 900 บาทต่อปี ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกันตนยังเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบด้านบริการสุขภาพ ขณะที่สิทธิยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและอาจทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลไม่เต็มที่และจำเป็นต้องจ่ายสมทบเอง

“การเพิ่มสิทธิประโยชน์เป็นไปอย่างล่าช้า เพิ่มวงเงินให้สถานพยาบาลได้ประโยชน์เท่านั้น แต่ควรจะทำให้เกิดกลไกอัตโนมัติหากมีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์จากระบบบริการสุขภาพอื่นๆ” นางสาวสารี กล่าว โดยหลังจากนี้สภาผู้บริโภคจะจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกันและลดความเหลื่อมล้ำในการการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ

ด้าน ไชยวัฒน์ วรรณโคตร เครือข่ายประกันสังคมก้าวหน้า กล่าวว่า นอกจากประเด็นโรคมะเร็งที่สิทธิรักษาในระบบประกันสังคมไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้น ประกันสังคมควรต้องคำนึงถึงโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่ควรมีในสิทธิประกันสังคมด้วย เพื่อเปิดทางให้คนไข้ในฐานะผู้ประกันตนสามารถใช้บริการได้และจะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาได้ ทั้งนี้ มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันกับสภาผู้บริโภคกับกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ควรต้องสำรองจ่ายก่อน เนื่องจากผู้ประกันตนบางรายอาจไม่มีเงินเพียงสำหรับสำรองจ่ายและอาจกลายเป็นอุปสรรคในการใช้บริการ การสร้างภาระให้ผู้ประกันตนต้องมีหนี้สิน หรือจำเป็นต้องหาเงินเพื่อมาสำรองจ่ายก่อน อย่างไรก็ตาม กรณีสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม ที่เพิ่มจาก 600 บาท เป็น 900 บาท แต่สุดท้ายค่าบริการด้านทันตกรรมกลับไม่มีราคากลาง ส่งผลให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเดิม แม้ว่าจะมีการเพิ่มวงเงินขึ้น

“ต่อให้ขึ้นสิทธิเป็น 900 บาท หรือ 1,200 บาท สุดท้ายคลินิกต่าง ๆ ก็สามารถปรับราคาขึ้นได้ ซึ่งเกิดจากประเทศไทยไม่มีราคากลางในการรักษา หากเป็นไปได้เรามีแนวคิดที่จะตั้งคณะทำงานศึกษาราคากลางว่าสุดท้ายแล้วค่ารักษาต่าง ๆ ควรเป็นเท่าไร” ผู้แทนคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน เสนอ

ด้าน ดร.ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ คณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง มีความเห็นตรงตามที่สภาผู้บริโภคและคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนได้เสนอในครั้งนี้ ทั้งนี้ หลังจากนี้จะมีการนำข้อเสนอของสภาผู้บริโภคเข้าที่ประชุมเพื่อหารือในครั้งต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค