| ถาม – ตอบ | กรณีควบรวม ทรู – ดีแทค

จากกรณีที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอควบรวมธุรกิจต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ รวมถึงหลายส่วนที่เกี่ยวข้องได้ออกมาคัดค้านการควบรวมดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม หลายคนอยากยังสงสัยว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคนั้นมีคืออะไร และทำไมจึงต้องคัดค้านการควบรวมในครั้งนี้ ชวนมาหาคำตอบได้ในอินโฟกราฟิกด้านล่าง

ถาม : ค่ายมือถือรวมกันเหลือสองรายก็ไม่น่ากระทบผู้บริโภค ไม่ใช่เหรอ

ตอบ : ผู้บริโภคก็เหมือนหมูในอวยน่ะสิ เพราะตอนนี้มีค่ายมือถือสามค่าย คือ ทรู ดีแทค และเอไอเอส ก็ยังแข่งกันออกโปรดี ๆ ราคาน่าสนใจ แต่เมื่อทรูและดีแทครวมกันก็เหลือเพียงสองค่ายต่อคน 66 ล้านคน ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนหมูในอวยของคนสองคน เมื่อไรเขาร่วมมือกัน หรือ “ฮั้ว” เขาก็จะแบ่งกันกินหมูแบบลงตัวไม่ต้องแย่งกับคนที่สาม จะขึ้นราคาค่าโทร จะลดบริการแบบไหนก็ทำได้ตามใจชอบ เมื่อไม่ต้องแข่งกันก็มีแต่กำไรกับกำไร เข้าข่าย “หมูในอวย” ค้าขายผูกขาดแล้ว

ถาม : หลังควบรวม ราคาค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ จะแพงขึ้น จริงหรือ ?

ตอบ : แพงขึ้นแน่ นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์แล้วว่า เมื่อคู่แข่งค่ายมือถือเหลือแค่สองราย ราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มจะอยู่ระหว่าง 2.03 – 244.5% ขึ้นอยู่กับระดับการ “ฮั้ว” ถ้าไม่ฮั้วกันเลย ค่าบริการก็จะปรับขึ้น เช่น จาก 100 บาท เป็น 102 – 120 บาท ถ้าฮั้วกันหลวม ๆ จาก 100 บาท จะปรับขึ้นเป็น 113 – 140 บาท แต่ถ้าฮั้วกันแบบเหนียวแน่น ผู้บริโภคจะต้องจ่าย จาก 100 บาท เป็น 149-345 บาท เลยทีเดียว

ถาม : มีกฎหมายกำหนดไว้แล้วไม่ใช่หรือ ว่าค่าโทรต้องไม่เกิน 0.60 บาทต่อนามีกฎหมายกำหนดไว้แล้วไม่ใช่หรือ ว่าค่าโทรต้องไม่เกิน 0.60 บาทต่อนาที

ตอบ : แม้ กสทช. จะกำกับเพดานค่าบริการไม่เกิน 0.60 บาท แต่นั่นเป็นเพียง “ค่าเฉลี่ย” คือเมื่อเอาค่าบริการทุกแพ็กเกจมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวนแพ็กเกจทั้งหมดที่มี ต้องไม่เกิน 0.60 บาท เช่น หากขายแพ็กเกจให้คนสองล้านคน ในราคา 1.25 บาทต่อนาที และขายโปรฯ ลับในราคา 0.38 บาท 0.15 บาท และ 0.10 บาทต่อนาที ให้คนพันคน ร้อยคน และสิบคนตามลำดับ พอเอามาถัวเฉลี่ยกัน ก็จะเหลือ 0.47 บาทต่อนาที ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด แล้วทายซิว่า ใครจะเป็นคนต้องจ่าย แพ็กเกจราคาแพงสุด? ก็ผู้บริโภคทั่วไปนะซิ

ถาม : หลังควบรวมก็เพิ่มคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ ไม่ได้หรือ ?

ตอบ : สมัยก่อนอาจจะมีโอกาสที่คู่แข่งหน้าใหม่ ๆ จะเข้ามา แต่สมัยนี้ยากมากเพราะทุนสูง และการมี “ขาใหญ่” ในตลาดที่คุมพื้นที่ ปิดทางค้าขายไม่ให้รายใหม่ ๆ ได้ผุดได้เกิด เหมือนแผงในตลาด ที่รายใหญ่วางแผงไว้เต็ม จัดโปรตัดหน้า ทิ้งไว้แค่เหลือซอกเล็ก ๆ ให้คู่แข่งรายใหม่ เขาก็ต้องเก็บแผงออกไปอยู่ดี

ถาม : ถ้าค่ายมือถือรวมกัน เสาสัญญาณก็จะรวมกัน จุดบริการก็จะเพิ่มขึ้น ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ?

ตอบ : อาจจะเป็นตรงกันข้าม จุดบริการอาจลด เพราะสิ้นเปลือง เสาสัญญาณในพื้นที่ห่างไกล ก็อาจจะไม่ตั้ง ชาวบ้านในชนบทไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ ใครอยู่หลังเขาก็อดใช้ คนในเมืองอาจเจอสัญญาณช้า จ่ายแพง เทคโนโลยีใหม่ๆไม่มา ก็เมื่อไหร่ไม่มีการแข่งขัน นายทุนก็เสือนอนกิน เพราะลูกค้าหนีไปไหนไม่รอด

ถาม : ทำไมต้องเรียกร้อง กสทช. ตัดสินไม่ควบรวมในเมื่อเป็นองค์กรอิสระที่ต้องทำเพื่อผลประโยชน์สาธารณะอยู่แล้ว

ตอบ : ถ้าอ่านตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ปี 53 ก็จะเห็นเจตนารมณ์กฏหมายตามนั้น แต่ กสทช. กลับแสดงทีท่าว่าอาจจะอนุญาตให้ควบรวม ที่จะทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดมือถือ ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ ประชาชนเสียประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรสาธารณะ ที่สำคัญคือไม่มีประเทศไหนในโลกปล่อยให้เอกชนแค่สองรายผูกขาดในธุรกิจนี้ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงค์ชีวิตของคนยุคใหม่ ฉะนั้น ประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่ต้องไม่ยินยอมให้ กสทช. บิดพริ้วเจตนารมณ์ของกฏหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ถาม : เรื่องสัญญาณมือถือ หรืออินเทอร์เน็ตคือธุรกิจผู้บริโภคไม่มีอำนาจ จริงหรือ?

ตอบ : อย่าลืมว่า สัญญาณคลื่นความถี่ที่เอามาทำธุรกิจคือทรัพยากรของชาติที่ประชาชนเป็นเจ้าของ อาจเรียกได้ว่า “เหมืองทองในอากาศ” มีมูลค่าเป็นแสนล้านบาทต่อปี แต่การควบรวมบริษัทจะนำไปสู่การผูกขาดในการใช้ทรัพยากรชาติ ประชาชนก็จะเป็น “ลูกไก่ในกำมือ” เพราะการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือกลายเป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนในทุกมิติ ทั้งการติดต่อสื่อสาร การศึกษา ซื้อขายสินค้า หรือแม้กระทั่งในภาวะฉุกเฉิน ดังนั้น ผู้บริโภคต้องลุกขึ้นเรียกร้องให้ยุติกระบวนการควบรวมนี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้

ถาม : เรื่องสัญญาณมือถือกับอินเทอร์เน็ต เกี่ยวอะไรกับสิทธิพลเมืองอย่างที่พูด ๆ กัน

ตอบ : เดี๋ยวนี้แทบทุกคนพึ่งพามือถือและอุปกรณ์ในการติดต่อกัน หรือใช้เพื่อหาข้อมูลข่าวสาร ทั้งติดต่อธุรกิจ ส่วนตัว ใช้เพื่อการศึกษา หรือยามฉุกเฉิน ใช้เพื่อการแพทย์ เพื่อประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ รวมทั้งยามประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤต เช่น ภัยพิบัติ ดังนั้น การที่เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือสองรายมาควบคุมสัญญาณเหล่านี้แบบผูกขาด อาจทำให้คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงเพราะราคาหรือพื้นที่ห่างไกล แม้นี่คือธุรกิจ แต่พลเมืองที่เป็นเจ้าของคลื่นจะมีสิทธิได้ใช้ประโยชน์สูงสุด ต่อเมื่อกิจการนี้อยู่ในระบบตลาดเสรี

ถาม : แล้วผู้บริโภคจะทำอะไรกันได้บ้าง

ตอบ : การส่งเสียงของผู้บริโภคในทุก ๆ ช่องทางจะช่วยก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม และส่งผลต่อการตัดสินใจของ กสทช. มากขึ้น เพื่อให้ กสทช. มีมติที่ยืนเคียงข้างกับผู้บริโภคอย่างแท้จริงและเกิดผลกระทบกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ขอให้ผู้บริโภคทุกท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมในครั้งนี้ ร่วมลงชื่อที่ bit.ly/3SgV2yd หรือ แสกน QR Code ได้เลย