กินชาบูแล้วโดนไฟดูด ผู้บริโภคจะทำอย่างไรดี?

จากเหตุการณ์ที่มีผู้บริโภคท่านหนึ่ง ถูกไฟฟ้าช็อตในร้านชาบูสายพานระหว่างรับประทานอาหาร จนได้รับบาดเจ็บ แต่ร้านอาหารไม่ได้แสดงความรับผิดชอบชดเชยเยียวยาความเสียหาย นอกจากที่พนักงานได้ให้ผู้บริโภครายนั้นย้ายโต๊ะและกล่าวเพียงคำขอโทษ

ในกรณีนี้ สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า หากผู้บริโภคไปใช้บริการและไม่ได้รับความปลอดภัยนั้น ร้านอาหารอาจมีความผิดและเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ และร้านควรต้องชดเชยเยียวยาความเสียหาย อาทิ ค่ารักษาพยาบาล หรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ร้านอาหารควรต้องตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ภายในร้านอาหารอย่างถีถ้วน เป็นระยะๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ

หากผู้บริโภคพบเจอกับเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถรวบรวมหลักฐานและทำตามขั้นตอนได้ดังนี้

1. เก็บหลักฐาน เช่น รูปภาพ หรือหลักฐานการเข้ารับบริการร้านอาหาร ใบรับรองแพทย์ในกรณีเกิดการบาดเจ็บ

2. แจ้งให้หน่วยงานเขตในพื้นที่ของร้านอาหารนั้น ๆ เข้าไปตรวจสอบ และหากหน่วยงานจะเข้าไปตรวจสอบว่าร้านอาหารมีใบอนุญาตสถานที่หรือไม่ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า (หม้อกระทะไฟฟ้า) ในร้านอาหารได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่ 

3. และถ้าหากมีความผิดจริง จะเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีต่อไป

#สภาองค์กรผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

​นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ผู้ใดที่จะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหาร ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน โดยต้องทำหนังสือรับรองการแจ้ง หรือ ขอรับใบอนุญาต

​ในกรณีที่เปิดธุรกิจร้านอาหาร โดยไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองอย่างถูกต้อง จะเกิดอะไรขึ้น ?

ร้านอาหารที่ไม่มีใบอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับถึง 50,000 บาท และไม่มีหนังสือรับรองการแจ้ง มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน ปรับถึง 25,000 บาท

​หากไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือแจ้งหน่วยงานให้เข้าตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค ตามช่องทางดังต่อไปนี้

o ร้องเรียนออนไลน์ คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain#noopener%20noreferrer

o ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U

o อีเมล : [email protected]

o โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 9215 หรือ 081 134 9216

o อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค