ควบรวมมือถือ – เน็ตบ้าน ราคาแพ็กเกจพุ่ง ไร้ทางเลือก จี้แก้ กม. กสทช.

สภาผู้บริโภคเปิดเวทีเสวนา “เผยผลกระทบผู้บริโภค หลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม” ชี้ผู้บริโภคตกอยู่ในสภาพไร้ทางเลือก ค่าบริการ แพ็กเกจราคาพุ่ง กสทช. ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปล่อยเอกชนผูกขาด นักวิจัย นักกฎหมาย และนักการเมือง ประสานเสียงเสนอแนวทางปฏิรูป กสทช. – โครงสร้างอุตสาหกรรม – กลไกกำกับดูแล

สภาผู้บริโภคจัดเสวนาแลกเปลี่ยน เผยผลกระทบจากการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของไทย พร้อมงานวิจัยเจาะลึกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ควรมี แต่กลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง โดยชำแหละให้เห็นภาพรวมว่าผู้บริโภคที่ใช้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ตได้รับผลกระทบอย่างไร รวมถึงกลไกการเยียวยามีช่องว่างเพียงใดในหัวข้อ “เผยผลกระทบผู้บริโภค หลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม” ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2568

ฟ้องศาลปกครอง ชี้ กสทช. ล้มเหลวในการคุ้มครองผู้บริโภค

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงถึงบทบาทของสภาผู้บริโภคในการติดตามและเสนอแนะแนวนโยบายภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคพ.ศ. 2562 โดยระบุว่า สภาผู้บริโภคมีอำนาจในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคทุกด้าน และสามารถยื่นเรื่องต่อศาลหรือหน่วยงานรัฐหากพบการละเมิดสิทธิ ซึ่งในกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านราคาที่เพิ่มขึ้น และทางเลือกที่ลดลง สภาผู้บริโภคจึงได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพิกถอนมติ กสทช. กรณีควบรวมโทรศัพท์มือถือ ทรู – ดีแทค 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

​“ผู้บริโภคในขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะที่ไม่มีทางเลือก ซึ่งการไม่มีทางเลือกหรืออิสระในการเลือก เป็นหนึ่งในสิทธิของผู้บริโภค ที่กำหนดและรับรองไว้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522” อิฐบูรณ์ ระบุ

​ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้มอบหมายให้ 101 Public Policy Think Tank ศึกษาติดตามผลกระทบจากการควบรวมกิจการมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้าน ซพบว่าหลังการควบรวม ผู้บริโภคแบบเติมเงิน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 80% ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าบริการโดยเฉลี่ยมากกว่า 100 บาทต่อเดือน ขณะที่แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการตรวจสอบและฟ้องร้องกรณีที่ กสทช. ที่ไม่มีการดำเนินมาตรการปกป้องผู้บริโภค ปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดได้สั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ

​นอกจากนี้ ยังวิจารณ์การแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในปี 2562 ซึ่งตัดอำนาจของภาคประชาชนในการเสนอถอดถอนกรรมการ กสทช. ทำให้กลไกตรวจสอบอ่อนแอลง

ขณะเดียวกันยังชี้ถึงความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้มาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ และต้องนำมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ด้วยการแก้ไขโครงสร้างทางกฎหมาย รวมถึงประสิทธิภาพที่บกพร่องของ กสทช. ในการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ทำให้การดำเนินการของ กสทช. ไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและส่งเสริมการแข่งขันได้อย่างแท้จริง

ผู้บริโภคโอดค่าบริการพุ่งถึง 599 บาท/เดือน

กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์ นักวิจัย 101 Public Policy Think Tank ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์หลังการควบรวมกิจการมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยระบุว่าในตลาดมือถือ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการแบบเติมเงินเพิ่มขึ้นกว่า 12 – 16% ภายในปีเดียว ขณะที่ผู้ใช้รายเดือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่แพ็กเกจราคาต่ำสุดที่เคยมีในตลาด เช่น แพ็กเกจราคาประมาณ 300 บาทต่อเดือน ได้หายไปทั้งหมด

นอกจากนี้ ราคาแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตบ้านไม่อั้นที่เคยอยู่ที่ 100 บาทก็หายไปเช่นกัน โดยแพ็กเกจใหม่ที่ใกล้เคียงที่สุดอยู่ที่ 191 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ขณะที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือราคาแพ็กเกจสูงสุดถึง 599 บาท และพบว่าคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะของค่ายที่ควบรวมมีแนวโน้มลดลง รวมถึงผู้ใช้บริการติดต่อศูนย์บริการได้ยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตัวจริงมากกว่า

สำหรับมาตรการของ กสทช. ที่ระบุไว้ในเงื่อนไขการควบรวม เช่น การให้ลดราคาเฉลี่ยลง 12% และการแบ่งโครงข่าย 20% ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแบบเสมือนที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง แต่จะเช่าโครงข่ายจากผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ หรือ เอ็มวีเอ็นโอ (MVNO) ใช้ ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานทางการเงินของผู้ให้บริการชี้ชัดว่า การแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังการควบรวมโทรคมนาคม ส่งผลให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกและมีต้นทุนค่าบริการสูงขึ้น แม้จะมีการปรับราคาพร้อมกันทั้งตลาดก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการแข่งขัน

“การแข่งขันหรือการควบรวมเนี่ย มันไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของผู้ควบรวม แต่มันเป็นปัญหาที่ไปทั้งตลาด เราจะย้ายค่ายไปไหน มันก็ไม่รู้จะไปไหนแล้ว” ฉัตร กล่าว

ฉัตร ได้เสนอว่า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที (NT) ควรเป็นผู้เล่นรายที่ 3 ที่มีศักยภาพในการถ่วงดุลตลาด แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการบริหารและสภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน ทำให้ NT ไม่สามารถรับมือได้เท่ากับผู้ให้บริการเอกชนรายใหญ่ อีกทั้งยังชี้ว่าหากไม่เร่งปฏิรูปโครงสร้างตลาดและสร้างกลไกเพื่อให้ MVNO เกิดขึ้นได้จริง ผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือก และกลไกตลาดจะไร้ประสิทธิภาพ

ประสานเสียงต้องปฏิรูป กสทช.

ขณะที่ พนิดา มงคลสวัสดิ์ คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติของกรรมการ กสทช. โดยระบุว่า แม้ สว. จะเป็นผู้สรรหาก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบหลังจากรับเข้าแล้ว ทำให้เกิดช่องโหว่ในการตรวจสอบระหว่างดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นช่องว่างสำคัญที่อาจนำไปสู่การขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณะ

ดังนั้น จึงเสนอให้มีการปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มกลไกการตรวจสอบจากรัฐสภาและเปิดทางให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้น พร้อมเสนอให้ทบทวนและปรับปรุงประกาศสำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่ การกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาด (SMP), การป้องกันการผูกขาด, แนวทางการควบรวมกิจการ และมาตรการสนับสนุน MVNO โดยชี้ว่าหลายฉบับมีอายุการใช้งานมานานเกิน 10 ปี และไม่ทันต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม

“หน่วยงานอิสระจะต้องไม่ทำตัวเป็นอิสระจากประชาชน แต่ต้องยึดโยงกับประชาชนและแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ” พนิดา กล่าวย้ำถึงบทบาทขององค์กรอิสระ

สอดคล้องกับ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ที่มีการวิจารณ์ กสทช. ชุดปัจจุบันว่าทำงานไม่ตอบสนองต่อสาธารณะ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ไม่มีการสื่อสาร และไม่ออกมาตรการที่ชัดเจน แม้จะมีปัญหาสัญญาณล่มหรือบริการไม่เป็นธรรมจากผู้ให้บริการเอกชน พร้อมยืนยันถึงความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมาย กสทช. ใหม่ทั้งระบบ ลดอายุกรรมการ เพิ่มเงื่อนไขที่กำหนดให้กรรมการของ กสทช. ต้องมีความโปร่งใสและระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ของภาคเอกชนเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ รวมถึงผลักดันให้เกิดกลไกถอดถอนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมเสนอให้พรรคการเมืองมีนโยบายแก้ปัญหาการผูกขาดโทรคมนาคม และทำให้ NT กลับมาเป็นผู้เล่นหลักในตลาดได้

ส่วน ผศ. ดร.นิสิต อินทมาโน ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม เสนอให้มีการปฏิรูประบบสรรหากรรมการ กสทช. โดยให้มีผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และความมั่นคงร่วมในกระบวนการ พร้อมชี้ว่ากลไกการถอดถอนยังอ่อนแอ และควรมีระบบการประเมินผลการทำงานอย่างสม่ำเสมอ พร้อมยกตัวอย่างกฎหมาย Digital Markets Act (DMA) คือ กฎที่ตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมการผูกขาดทางธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของประเทศอังกฤษที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันและการบังคับใช้บทลงโทษอย่างชัดเจน

”รากฐานของปัญหานี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง โดยยกตัวอย่างว่าประเทศไทยออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและแข่งขันทางการค้าตั้งแต่ปี 2522 พร้อมกับเกาหลีใต้ แต่ผลลัพธ์ในปัจจุบันแตกต่างกันลิบลับ ขณะที่กสทช. ละเลยหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่ระบุชัดว่าต้องปกป้องผู้บริโภคจากภาระที่ไม่เป็นธรรม” ผศ. ดร.นิสิตระบุ

โครงสร้างตลาดไม่เอื้อรายย่อย

ดร.ชัยยศ จิรบวรกุล นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม เผยประสบการณ์ในวงการ MVNO ว่า เคยผลักดัน MVNO ตั้งแต่เริ่มต้น และร่วมทำซิมเพนกวิน (ซิมโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินในประเทศไทยโดยใช้โครงข่ายของ CAT Telecom ปัจจุบันคือ NT) ซึ่งเคยขึ้นมาเป็นเบอร์ 4 ในตลาด แต่ภายหลังต้องหยุดให้บริการเพราะโครงสร้างตลาดไม่เอื้อต่อ MVNO และขาดกลไกสนับสนุนจาก กสทช.

“MVNO เป็นคอนเซ็ปต์ที่ผมทำมาตั้งแต่ต้นยุคของโลก แต่วันนี้มันอยู่ไม่ได้ เพราะโครงสร้างตลาดไม่เอื้อ และ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลไม่สนับสนุน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ ที่มีผู้ให้บริการมือถือเพียง 2 ราย ทั้งที่เป็นประเทศใหญ่ ขณะที่เพื่อนบ้านมีผู้ให้บริการอย่างน้อย 3 – 4 รายขึ้นไป” ดร.ชัยยศ ระบุ

ดร.ชัยยศ ย้ำว่าการสื่อสารโทรคมนาคมควรถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ของชาติ ไม่ใช่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคงที่ปัจจุบัน 99% ของโครงข่ายอยู่ในมือเอกชน พร้อมเสนอให้ภาครัฐสนับสนุน NT อย่างจริงจัง เหมือนกับที่สนับสนุน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารของรัฐ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

นอกจากนี้ในเวทีเสวนาฯ ยังมีผู้แทนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันยังไม่มีเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากผลกระทบการควบรวมที่ศาลยังไม่ตัดสิน แต่พบข้อร้องเรียนว่า กสทช. ไม่กำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบทบาทของสำนักงานฯ คือแสวงหาข้อเท็จจริงและเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า มีการตรวจสอบโครงการของ กสทช. โดยเฉพาะโครงการหนึ่งของ กสทช. ซึ่งมีข้อสังเกตว่ามีการตั้งราคาสูงเกินควรและกีดกันการแข่งขัน พร้อมเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานอิสระ เช่น กสทช. ให้มีความโปร่งใสและคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งป.ป.ช.มีอำนาจในการเสนอมาตรการป้องปรามต่อคณะรัฐมนตรี กรณีหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้