ตู้น้ำดื่ม รร. ปลอดภัย เริ่มบังคับใช้ ตค. นี้

ตู้น้ำดื่ม รร. ปลอดภัย เริ่มบังคับใช้ ตค. นี้

สมอ.เร่งคุมมาตรฐาน “ตู้น้ำดื่ม” โรงเรียน ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย เริ่มใช้ทั่วประเทศ ตุลาคมนี้ สภาผู้บริโภคชี้ ตู้น้ำหยอดเหรียญ ก็เสี่ยงไม่แพ้กัน และยังไร้การควบคุมที่ชัดเจน

ตู้น้ำดื่ม สะอาด และปลอดภัย ในโรงเรียนเป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมา นักเรียน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพหลายอย่าง ทั้งน้ำที่ไม่สะอาด หากตู้น้ำดื่มไม่ได้รับการดูแล บำรุงรักษา หรือเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนด ที่เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย เชื้อโรค หรือสารปนเปื้อนต่าง ๆ ส่งผลต่อการเจ็บป่วยด้วยอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หรือติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังรวมถึงอันตรายจากความบกพร่องของอุปกรณ์ ที่อาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิต อย่างเมื่อปี 2567 ที่เกิดเหตุการณ์นักเรียนอายุ 14 ปี เสียชีวิตจากไฟดูดที่ตู้น้ำในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง

เหตุการณ์นั้นสะท้อนชัดว่า หากตู้น้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน มีการติดตั้งที่ไม่ถูกต้อง หรือมีการซ่อมบำรุงที่ไม่ดีพอ อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นไฟดูด ไฟฟ้าลัดวงจร หรือโครงสร้างตู้ที่ไม่แข็งแรง สิ่งเหล่านี้สร้างความกังวลให้ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองอย่างมาก

เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมประกาศให้ ตู้น้ำดื่มในโรงเรียนเป็นสินค้าควบคุม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป

ภายใต้ข้อบังคับนี้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายตู้น้ำดื่มต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน มอก. ซึ่งอิงจากมาตรฐานสากล IEC ที่เน้นความปลอดภัยทางไฟฟ้าและโครงสร้าง โดยกำหนดชัดเจนว่า

  • ตู้น้ำดื่ม มีระบบป้องกันการสัมผัสไฟฟ้าโดยตรง
  • ป้องกันความชื้นจากฝนหรือละอองน้ำ
  • ผ่านการทดสอบไฟรั่วและต้องติดตั้งสายดิน
  • ไม่แผ่รังสีอันตราย
  • ติดฉลากแสดงข้อมูลจำเพาะและคำเตือน

แม้มาตรฐาน มอก. สำหรับตู้น้ำดื่มในโรงเรียนจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้านโครงสร้างและระบบไฟฟ้า แต่ยังไม่ครอบคลุม “คุณภาพของน้ำดื่ม” นักเรียนจึงอาจยังมีความเสี่ยงที่จะดื่มน้ำที่ไม่สะอาด

ไม่ใช่แค่ตู้น้ำดื่มในโรงเรียนเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า น้ำดื่มหยอดเหรียญที่พบทั่วไปตามชุมชน ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงใหญ่ที่ไร้มาตรการควบคุมชัดเจน เพราะจากรายงานการสำรวจร่วมระหว่างสภาผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,530 ตู้ใน 33 เขตของกรุงเทพฯ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่สำรวจว่าร้อยละ 90 ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

ยิ่งไปกว่านั้น ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ร้อยละ 91 ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ และร้อยละ 87.2 ไม่มีการติดฉลาดระบุการตรวจไส้กรอง

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ชัดว่า น้ำดื่มที่ประชาชนเชื่อว่าปลอดภัย อาจไม่ได้ผ่านการตรวจสอบหรือรับรองคุณภาพใด ๆ เลย

เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดอย่างปลอดภัย ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เสนอแนวทางเพื่อแก้ปัญหา ดังนี้

1. ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน และดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไข เพื่อเป็นการจัดการปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน

2. การออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจ การติดตั้งตู้น้ำดื่ม และให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย         

3. ขอให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ขยายผลการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละพื้นที่

ที่ผ่านมา การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับ ประเด็นตู้กดน้ำหยอดเหรียญถือเป็นอีก “เรื่องใหญ่” ที่หน่วยงานประจำจังหวัดน่าน สภาผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียน และมีการลงพื้นที่สุ่มตรวจคุณภาพน้ำ จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พร้อมผลักดันให้เกิดการแก้ไขในระดับท้องถิ่น โดย มีการออกหนังสือถึงเทศบาล เพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพน้ำในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังตู้น้ำดื่มไม่ควรเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ควรเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ เพราะปัญหาน้ำดื่มไม่สะอาดและตู้น้ำไม่ได้มาตรฐาน อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงทุกคนมีสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และควรได้รับการคุ้มครองจากทั้งรัฐ และเอกชน

ผู้บริโภค ที่พบปัญหาตู้น้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน หรือปัญหาผู้บริโภคด้านอื่น ๆ สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค ได้ที่เบอร์ 1502 หรือช่องทางออนไลน์ https://complaint.tcc.or.th/complaint และสามารถร้องเรียนกับหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภค ทั้ง 20 จังหวัด โดยดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/tcc-agency/