หยุดลักลอบทิ้งขยะสารพิษ ร่วมลงชื่อ กม. เปิดข้อมูล การเคลื่อนย้ายสารพิษ

ผู้บริโภคต้องเสี่ยงอันตรายจากการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสี 15,000 ตัน สภาผู้บริโภคร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ. การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ชวนผู้บริโภคให้ความเห็นก่อน 19 เม.ย. 67 นี้ ระบุ หากได้รับผลกระทบร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคได้

จากกรณีการพบการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสี 15,000 ตัน จากจังหวัดตากซึ่งถูกนำมาทิ้งไว้ภายในเขตบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงรวมถึงคนงานในโรงงานต่อชีวิตและสุขภาพ เนื่องจากกากของเสียอันตรายดังกล่าวอาจทำให้เกิดการสัมผัสทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมนั้น

วันนี้ (5 เมษายน 2567) เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศและอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน สิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ระบุว่า การจัดการกับสารพิษให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุด แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกรณีการพบสารพิษอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่ไม่มีการจัดเก็บได้อย่างถูกต้องอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลต้องเข้ามาตรวจสอบว่ามีผู้ใดที่เกี่ยวข้อง กระทำผิดในส่วนใดและจัดการลงโทษตามกฎหมาย รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมในจังหวัดตากควรตรวจสอบว่าทำไมถึงมีการปล่อยให้มีการขนย้ายกากอันตรายมากขนาดนี้ เนื่องจากผู้บริโภคที่อยู่ในเขตพื้นที่เหล่านั้นมีความเสี่ยงอันตรายกับกากพิษ นอกจากนี้ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในจังหวัดตากปัจจุบันยังต้องทนทุกข์กับการต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตรายจากสารพิษที่ตกค้างจากการทําเหมืองสังกะสี รวมไปถึงการได้รับผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

ทั้งนี้ เพ็ญโฉม ระบุอีกว่า การขุดรื้อขึ้นมาเพื่อนำสารเหล่านี้มาหลอมอีกครั้งจะส่งผลกระทบต่อมลพิษทางอากาศทําให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 เพราะการหลอมมีมลพิษสูง และยังทำให้คนในจังหวัดสมุทรสาครได้รับอันตรายไปด้วยทั้ งในรูปแบบของฝุ่นมลพิษอากาศ รวมไปถึงคนในกรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบเพราะหากเกิดมลพิษทางอากาศจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง จึงอยากให้ผู้บริโภคทุกคนติดตามเรื่องดังกล่าวเนื่องจากเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและเป็นสิทธิผู้บริโภคสากลที่ผู้บริโภคต้องได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือกฎหมายพีอาร์ทีอาร์ : PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) ที่จะทำให้ผู้บริโภคทราบว่าโรงงาน แหล่งผลิต หรือกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ทำให้เกิดมลพิษอะไรบ้างและมีการปล่อยมลพิษในอากาศหรือลงแหล่งน้ำเท่าไรหรือก่อให้เกิดอากาศอันตรายที่จะต้องมีการจัดการให้ถูกต้องด้วยวิธีการอะไร โดยที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอเอกสารจากใครหรือหน่วยงานใด และหากยังไม่ถูกจัดการสามารถส่งเสียงและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการ

“จากกรณีข้างต้นที่ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของกากของเสียอันตรายและยังไม่ทราบว่าอันตรายมากน้อยเพียงใด และนอกจากแคดเมียมแล้วอาจมีสารอันตรายอื่น ๆ ปนอยู่ ซึ่งล่าสุดได้มีข่าวกรดซัลฟิวริกที่รั่วไหลลงแม่น้ำโขงอีกด้วย ดังนั้น หากมีกฎหมายพีอาร์ทีอาร์ ทุกคนก็จะสามารถเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ที่หน่วยงานรัฐรวบรวมข้อมูลไว้ หรือแม้กระทั่งหน่วยงาน เช่น ผู้ว่าฯ สมุทรสาครจะสามารถดำเนินการได้จัดการสารได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วเพื่อความปลอดภัยของคนในพื้นที่” เพ็ญโฉม กล่าว  

ปัจจุบันผู้บริโภคทุกคนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นถึงความจำเป็นของการมีกฎหมายพีอาร์ทีอาร์โดยเร็วที่เว็บไซต์ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=368 ได้ถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 นี้ โดยกฎหมายดังกล่าวสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องของการเคลื่อนย้ายกับอุตสาหกรรมอันตรายที่ไม่ถูกต้องได้โดยเร็ว อีกทั้งสหประชาชาติได้ส่งเสริมให้ทุกประเทศมีกฎหมายลักษณะนี้และในปัจจุบันกว่า 50 ประเทศทั่วโลกได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคที่อยู่บริเวณใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากกรณีลักลอบขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสี สามารถยื่นร้องเรียน โดยเก็บหลักฐานร้องเรียน ดังนี้

1. หลักฐานยืนยันตัวตน เช่น สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย

2. หลักฐานพิสูจน์ความเสียหายต่อร่างกาย ได้แก่ ใบรับรองแพทย์หรือหนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ใบประเมินค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล หรือใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล

3. หลักฐานพิสูจน์ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ได้แก่ หากมีการหาเช่าบ้าน ที่พักหรือโรงแรม และเก็บใบเสร็จค่าเช่าบ้าน ที่พักหรือโรงแรมไว้เรียกร้องได้ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่มาจากเหตุละเมิด ทำให้ต้องจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวจนกว่าจะมีที่อยู่อาศัยของตนเอง

4. หลักฐานเรียกร้องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าพาหนะเดินทางเนื่องจากต้องเดินทางไปรักษาพยาบาล หรือสถานีตำรวจ โดยทำบันทึกระบุวันที่ เวลาเดินทางไป – กลับ เป็นค่าเสียหายที่เรียกร้องได้ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สืบเนื่องจากการทำละเมิดของบริษัท

5. ให้ลงบันทึกประจำวันกับสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อยืนยันว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เช่น ได้รับความเดือดร้อนในการอยู่อาศัย เป็นต้น          

โดยสามารถร้องเรียนหรือขอคำปรึกษาเข้ามาที่สภาผู้บริโภค ได้ที่เบอร์ 1502 ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น. หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://www.tcc.or.th

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค