ผ่านมาหนึ่งปี กัญชาคุมไม่อยู่ ขนมผสมกัญชาทำเด็ก 5 ขวบเข้าไอซียู สภาผู้บริโภค เร่ง สธ. – อย. เข้มงวดมาตรการ

สภาผู้บริโภคย้ำข้อเสนอ สธ. – อย. ต้องเข้มงวดมาตรการกำกับดูแล ‘อาหารผสมกัญชา’ หลังพบเหตุการณ์เด็ก 5 ขวบกินขนมโตเกียวสอดไส้กัญชาแพ้รุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล เร่งหน่วยงานเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนโดยด่วน กรณีมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคอาหารผสมกัญชา

จากข่าวที่มีเด็กหญิงวัย 5 ขวบ กินขนมโตเกียวผสมกัญชา จนเกิดอาการแพ้และต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กับอีกหลายกรณี หลังจากในปีที่ผ่านมามีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดและทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายร้านนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในอาหารนั้น (อ้างอิง : https://www.one31.net/news/detail/62992)

วันนี้ (19 พฤษภาคม 2566) มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า หากติดตามสถานการณ์ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคกัญชาในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ที่ได้รับความเสียหายมักจะนำเสนอเหตุการณ์เหล่านี้ในช่องทางของตัวเองเท่านั้น ทำให้เห็นว่าผู้เสียหายอาจไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอในการเลือกซื้ออาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อีกทั้งไม่ทราบว่าจะต้องร้องเรียนกับหน่วยงานใดหรือร้องเรียนปัญหาผ่านช่องทางใด อีกทั้งข้อมูลทางการแพทย์ต้องออกมาชัดเจนว่าผู้บริโภคเกิดความเสียหายจากการบริโภคอาหารที่บริโภคกัญชา เพื่อเป็นหลักฐานเอาผิดกับผู้ประกอบการได้

อย่างไรก็ตาม มลฤดี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคเคยส่งข้อเสนอและหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลหลายครั้งเกี่ยวกับกระบวนการควบคุมการใช้กัญชาในอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ที่ระบุว่าผู้ใดจะประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการใช้กัญชาในอาหารจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้ใดประกอบกิจการร้านอาหารและต้องใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบ ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

“ที่ผ่านมายังไม่เห็นว่ามีผู้ประกอบการหรือร้านอาหารต่าง ๆ ปฏิบัติตามหรือไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมายสักเท่าไร อีกทั้งหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ที่อยู่สังกัดของกรมอนามัยไม่ได้ลงไปตรวจสอบอย่างจริงจัง จึงทำให้ร้านอาหารที่ใช้กัญชาผสมในอาหารเกิดขึ้นและผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้านลบจากกัญชาเสรีเป็นจำนวนมาก” มลฤดี กล่าว

​ทั้งนี้ รวมถึงสภาผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการรับประทานอาหารผสมกัญชา โดยขอให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กรณีมีผู้ที่ได้รับผลกระทบในการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา และเปิดเผยรายชื่อผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ขอขึ้นทะเบียนการใช้กัญชาในอาหาร – เครื่องดื่ม เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ส่วนในร้านอาหารต้องมีการกำชับให้แสดงป้ายคำเตือนว่า ‘ร้านนี้มีการใช้กัญชาในผสมในอาหาร’ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อหรือเลือกบริโภค

ผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหาร – เครื่องดื่ม ไม่มีฉลาก ร้านอาหาร – ร้านเครื่องดื่ม ไม่มีป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหาร ที่มีการใช้กัญชา ไม่แสดงคำเตือน ข้อห้าม ร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคได้ที่เว็บไซต์ tcc.or.th หรือโทรศัพท์ 02 239 1839 กด 1” ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ สภาผู้บริโภค ระบุ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค