คปภ. สั่งอาคเนย์ – ไทยประกันภัย เพิ่มเงินทุน เร่งเยียวยาผู้ซื้อประกัน

คปภ. สั่งบริษัทอาคเนย์ – ไทยประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราว หาแนวทางเพิ่มเงินทุน  และเร่งเยียวยาผู้ซื้อประกัน

18 มีนาคม 2565 ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop service) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 จากกรณีบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศเลิกกิจการไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสรุปว่าให้ทั้ง 2 บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ให้แก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน ให้ขายทรัพย์สินที่บริษัทได้รับอนุญาตให้ขายโดยเร่งด่วน และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยนั้น เป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ผู้เอาประกันมีโอกาสได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม

นอกจากประเด็นเรื่องการหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวแล้ว คำสั่ง คปภ.ที่ให้ทั้ง 2 บริษัทแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด หากทั้ง 2 บริษัทสามารถหาเงินทุนมาเพิ่มได้ ก็จะทำให้มีเงินชำระค่าสินไหมให้กับผู้บริโภค ในทางกลับกัน หากบริษัทฯ ไม่สามารถหาเงินทุนมาเพิ่มเติมให้เพียงพอได้ คปภ. ก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการประกันภัยของทั้ง 2 บริษัท โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะเข้ามารับช่วงต่อเรื่องการชำระค่าสินไหมให้กับผู้บริโภค

“ข้อดีอย่างหนึ่งของการออกคำสั่งดังกล่าว คือ คปภ. สามารถเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินต่าง ๆ ของอาคเนย์และไทยประกันภัย ได้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ซื้อประกันจึงมั่นใจได้ว่าเงินจะไม่ถูกโยกย้ายไปที่อื่น หรือถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น แต่จะถูกนำมาใช้เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้บริโภคเท่านั้น” ภัทรกรกล่าว

ในการแจ้งเลิกกิจการของทั้ง 2 บริษัท ได้มีผู้ซื้อประกันภัยจำนวนมากยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ คปภ. และต่อ สอบ. ซึ่งสภาฯ ได้คัดค้านการเลิกกิจการในลักษณะนี้ ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับคนจำนวนมาก และขอให้  คปภ. พิจารณาคำขอเลิกกิจการดังกล่าวอย่างรอบคอบ พร้อมทั้ง มีข้อเสนอถึง คปภ. ในประเด็นการยกเลิกกิจการดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ กล่าวต่ออีกว่า อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ จากการตรวจสอบของ คปภ. พบว่าทั้ง 2 บริษัทไม่ได้บันทึกรายการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID – 19 ในสมุดทะเบียนค่าสินไหมทดแทน และสมุดบัญชีของบริษัทเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 44 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ต้องลงรายการในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท ไม่ช้ากว่า 7 วันนับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องลงรายการ อย่างไรก็ตาม ในคำสั่ง คปภ. ฉบับดังกล่าว กำหนดให้บริษัทเร่งดำเนินการตรวจสอบรายการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และเร่งดำเนินการบันทึกลงสมุดทะเบียนโดยเร็ว และให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

สำหรับผู้บริโภคที่มีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ.โทร 1186 หรือติดต่อร้องเรียนได้ที่ สอบ. เบอร์โทรศัพท์ 02 239 1839 อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) สภาองค์กรของผู้บริโภค อีเมล [email protected] หรือไลน์ออฟฟิเชียล (Line OA) @tccthailand

ทั้งนี้ มติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2565 มีคำสั่งให้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

2. แก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับคำสั่ง

3. ให้บริษัทดำเนินการขายทรัพย์สินที่บริษัทได้รับอนุญาตให้ขายโดยเร่งด่วน ภายใต้เงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนด และเงินที่ได้รับจากการจัดการทรัพย์สินโดยการขายทรัพย์สินนั้น บริษัทจะต้องนำไปชำระค่าสินไหมทดแทนหรือเป็นค่าเบี้ยประกันภัย ที่ต้องคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย และบริษัทต้องเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการชำระค่าสินไหมทดแทนหรือเบี้ยประกันภัยเพื่อให้สำนักงานตรวจสอบได้

4. ให้บริษัทเปิดทำการติดต่อกับประชาชนทุกวันตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ว่าด้วยการกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยเปิดทำการติดต่อกับประชาชน และจัดหาบุคลากรให้เพียงพอต่อการดำเนินการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย และให้จัดสรรบุคลากรประจำจุดรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เปิดดำเนินการ ณ ที่ทำการบริษัทให้เพียงพอ และให้ดำเนินการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามระยะเวลาทำการติดต่อกับประชาชน

5. ให้บริษัทเร่งดำเนินการตรวจสอบรายการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และเร่งดำเนินการบันทึกลงสมุดทะเบียนโดยเร็วและให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

6. ให้บริษัทจัดทำรายงานเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยตามเงื่อนไขที่กำหนด

7. ให้บริษัทบันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัยให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย

8. ให้บริษัทเร่งรัดพิจารณาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

9. ให้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค