“ไม่ตรงปก – คอลเซ็นเตอร์” ติดยอดแย่ ปัญหาผู้บริโภค

สภาผู้บริโภค – องค์กรผู้บริโภค ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคทั่วประเทศ และในจังหวัดต่าง ๆ  โดยในภาพรวมพบปัญหาซื้อสินค้าออนไลน์ไม่ตรงปก – แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกหลวง ร้องเรียนสูงสุด ขณะที่ภาคตะวันตกพบอาหารสุขภาพไม่ปลอดภัยเกลื่อนตลาดนัด ภาคใต้พบปัญหาถังแก๊สหมดอายุ แต่ยังถูกใช้ในตลาด ส่วนภาคเหนือเรียกร้องขอเปิดก่อนจ่ายคือสิทธิผู้บริโภค

วันที่ 15 มีนาคม สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดประชุมสภาผู้บริโภคสามัญ ครั้งที่ 1/2567  เพื่อประเมินสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยมีคณะกรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค สมาชิกองค์กรผู้บริโภค  หน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาผู้บริโภคเข้าร่วมประชุมด้วย

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมาว่า สภาผู้บริโภคได้มีการพัฒนาและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทยมาอย่างต่อเนื่อง นับจากปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาสามารถไกลเกลี่ย ปัญหาที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนและช่วยเหลือจนยุติเรื่องร้องเรียนจนได้รับเงินเยียวยา 358 ล้านบาท รวมไปถึงการนำเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลได้ถึง 75 คดี และทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้กว่า 69,672 คน 

แม้จะมีการขับเคลื่อนการปัญหาผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง แต่สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่ทั่วประเทศยังคงพบว่า ปัญหาการซื้อของออนไลน์  ซื้อของไม่ตรงปก  ภัยทางการเงิน แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง และ ปัญหาขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีความเหลื่อมล้ำผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้ ยังคงต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิ และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามสำหรับการขับเคลื่อนในปีนี้ สภาผู้บริโภคมีเป้าหมายในการขยายองค์กรสมาชิกให้ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศและเสนอให้ยกระดับผู้บริโภคไทยเทียบเท่าผู้บริโภคสากลโดยการแก้พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2522 เพื่อเพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจนและเป็นสากลมากขึ้น ทั้งในเรื่องอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภค การปกป้องผู้บริโภค การสนับสนุนองค์กรฟ้องคดีแทนผู้บริโภคซึ่งต้องมีตัวแทนในสัดส่วนที่ชัดเจน

ขณะเดียวกันนี้ ได้มีการแสดงความคิดเห็นงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เริ่มจาก จุฑา สังขชาติ หัวหน้าหน่วยประจำจังหวัดสงขลา สภาผู้บริโภค ได้ร่วมสะท้อนปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ ว่า สถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ที่พบมากอันดับหนึ่งคือ ภัยทางการเงิน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่งข้อความหลอกหลวง โอนเงิน และรองลงมาคือการซื้อขายสินคาออนไลน์  อันดับที่สามคือ การบริการสุขภาพที่ไม่ได้รับการบริการตามที่กล่าวอ้างไว้

นอกจากนี้ผู้บริโภค จังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยจากการใช้ถังแก๊สหมดอายุจึงร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดมาตรฐานและการกำกับดูแลการใช้ถังแก๊สที่ปลอดภัย

“เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมามีผู้บริโภคมาร้องเรียนว่าตรวจสอบข้างถังแก๊สแล้วพบว่าหมดอายุตั้งแต่ปี 2565 จึงเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยเพราะรู้สึกเหมือนมีลูกระเบิดอยู่ที่บ้าน ติดต่อไปที่ร้านขอเปลี่ยนถังแก๊สแล้วที่ร้านบอกว่าภายในร้านมีถังแก๊สที่หมดอายุแล้ว ทำให้ผู้บริโภครายนี้กังวลหนักขึ้นเพราะไม่ใช่บ้านของเขาแต่มีผู้บริโภครายอื่น ๆ ด้วย จึงติดต่อมาให้สภาผู้บริโภคช่วยเหลือ จนสามารถเปลี่ยนถังแก๊สได้ และผู้บริโภครายนี้บอกว่าอยากให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ผู้บริโภครายอื่น ๆ ด้วย จึงเริ่มสำรวจและทำแนวทางขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกัน” จุฑากล่าว

จุฑา กล่าวว่า หลังจากมีการสำรวจพบว่า ถังแก๊สในจังหวัดสงขลาทั้ง 16 อำเภอมีพบว่า ร้อยละ 20 เป็นถังแก๊สที่หมดอายุ เช่นเดียวกับที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบว่าถังแก๊สในตลาดส่วนใหญ่หมดอายุ จึงนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กำกับดูแลและจะขับเคลื่อนในเชิงนโยบายว่าไม่ควรจะมีถังแก๊สหมดอายุถูกนำมาใช้งานเพื่อความปลอดภัย

“ควรจะมีการสำรวจถังแก๊สที่หมดอายุ และนำไปตรวจสอบว่ายังสามารถใช้งานอีกต่อไปได้หรือไม่ เพราะถังแก๊สมีอายุการใช้งาน 5 ปี เมื่อครบอายุแล้วถังเหล่านี้จะถูกนำกลับไปตรวจสอบว่ายังใช้งานได้หรือไม่ ถ้ายังใช้ได้จะติดสติ๊กเกอร์กำหนดวันหมดอายุใหม่ แต่ขณะนี้ถังแก๊สที่หมดอายุแล้วไม่ได้ถูกนำกลับไปให้ตรวจสอบแต่ยังมีการใช้งาน ซึ่งอันตรายอาจจะเกิดขึ้นได้ทำให้จังหวัดสงขลาและสุราษฏร์ธานี นำปัญหานี้มาขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อให้มีการกำกับมาตรฐานความปลอดภัย”

ขณะที่ปัญหาผู้บริโภคในภาคตะวันตก อมาวสี หนองพรมมา เจ้าหน้าที่รับเรื่องราวร้องเรียน สภาผู้บริโภค จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ผู้บริโภคใน จังหวัดกาญจนบุรี ได้ขับเคลื่อนในการสร้างมาตรฐานในการตรวจสอบทุเรียนอ่อน หลังจากมีผู้บริโภคร้องเรียนว่า ซื้อทุเรียนทองผาภูมิไปแล้วพบปัญหาทุเรียนอ่อน และร้องมาที่สภาผู้บริโภค เมื่อเราไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นทุเรียนอ่อนจริง ๆ โดยไกลเกลี่ยจนผู้บริโภคได้รับเงินคืนจำนวน 400 บาท

อย่างไรก็ตามหลังพบทุเรียนอ่อน สภาผู้บริโภค จ.กาญจนบุรี ได้โพสต์แจ้งเตือนผู้บริโภค และมีสื่อมวลชน เช่น ไทยพีบีเอสสนใจและนำไปเผยแพร่กระทั่งรัฐวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกทุเรียนติดต่อเข้าเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันเนื่องจากว่าส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของทุเรียทองผาภูมิ กระทั่งนายอำเภอทองผาภูมิได้สำรวจตลาดและมีนโยบายให้ผู้ขายทุเรียนทองผาภูมิทุกรายติดสติ๊กเกอร์ ว่ามาจากสวนไหน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ผู้บริโภคติดต่อได้

ส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลดา บุญเกษม กรรมการสภาองค์กรของผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ผู้บริโภคในจังหวัดอยุธยากำลังขับเคลื่อนเรื่องขนส่งสาธารณะปลอดภัยเป็นธรรมในเมืองมรดกโลก เนื่องจากอยุธยาเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ไม่มีสถานีขนส่งประจำจังหวัดทำให้นักท่องเที่ยวไม่รู้ต้องไปขึ้นรถสาธารณะที่ไหน จึงเห็นร่วมกันว่าจะพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ รอบเมืองท่องเที่ยวให้ดีขึ้น 

นอกจากนี้จะพัฒนาจุดจอดรถมีป้าย อัจฉริยะ สามารถตรวจสอบเวลาเดินรถได้ รวมถึงเรื่องของการทำรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยและทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเมืองทองเที่ยวที่ทุกคนขึ้นได้ ทั้งผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส โดยผลักดันโครงการเมืองไม่ทิ้งใคร นำเอารถสาธารณะชานต่ำมาทดลองวิ่งเพื่อให้รับคนได้ทุกประเภท

“ขณะนี้มีเรื่องรถไฟความเร็วสูงซึ่งเรากำลังจะหาจุดต่อสถานีที่ได้ประโยชน์กับชุมชนทั้งหมดเนื่องจากที่ผ่านมาการกำหนดจุดจอดมีผลกระทบต่อชุมชนและจัดรับฟังความเห็นประชาชนก็มีความเห็นทั้งสองฝ่ายจึงกำลังหาทางออกว่าจุดจอดรถไฟความเร็วสูงอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างไร”ชลดากล่าว

ขณะที่ปัญหาของผู้บริโภคภาคใต้ ธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบครีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภคอยู่ในขณะนี้คือโครงการเรื่องร้องเรียนบ้านหัวหิน  เนื่องจากมีผู้เสียหายมากกว่า 13 ราย และมูลค่าความเสียหาย 32 ล้านบาท โดยผู้บริโภคร้องเรียนมาให้เข้าไปช่วยเจรจา หมู่บ้านจัดสรรที่เลี่ยงจดทะเบียนซื้อบ้านพัง รั้วร้าว บ้านรั่วทรุด สิ่งแวดล้อมเหม็นน้ำเน่า 

ธนพร กล่าวว่า หลังจากรับเรื่องร้องเรียนก็เข้าไปช่วยเจรจาหลายครั้งให้ซ่อมบ้านแต่ก็เกิดปัญหาซ้ำอีก จนในที่สุดสภาผู้บริโภคได้ฟ้องร้องแทนผู้บริโภค โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยยกฟ้องเนื่องจากปัญหาเอกสาร ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นอุทธรณ์ คาดว่าจะสามารถอุทธรณ์ได้ภายในเดือนมีนาคม 2567 นี้

 “เราได้สำรวจข้อมูล กรณี หมู่บ้านจัดสรรสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานซึ่งพบว่ามีจำนวนมาก ตั้งแต่ป้ายโฆษณาไม่ตรง สร้างบ้านรั่ว ซึม ทรุด ซึ่งเราเปิดรับเรื่องร้องเรียน ผู้บริโภคที่มีปัญหาในเรื่องนี้เพื่อช่วยเหลือและหาทางออกในทางนโยบายต่อไป”ธนพรกล่าว

ด้าน กมลชนก ชาวศรี เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน สภาผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคจ.สมุทรสงครามพบคือเรื่องของ การขายยา อาหารเสริม ไม่ปลอดภัย ไม่มีฉลากภาษาไทย และ ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยพบว่ามีผู้บริโภคได้รับผลกระทบรุนแรง กินอาหารเสริมทำให้ไม่สามารถเดินได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งอาหารเสริมดังกล่าวให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบว่ามีสเตียรอยด์เป็นส่วนผสมหรือไม่ และถ้าตรวจสอบพบสารดังกล่าวจะพิจารณาว่าฟ้องแทนผู้บริโภครายดังกล่าว

ส่วนเชิงนโยบายได้ทำงานร่วมกับ สาธารณสุขจังหวัด เพื่อสำรวจตลาดนัดว่าขายผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอางที่อันตรายหรือไม่ โดยจะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกนโยบายตลาดปลอดภัยไม่มีผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพวางขายในตลาดอีกต่อไป

ส่วนสถานการณ์ภาคเหนือ ลาภิศ ฤกษ์ดี หน่วยงานเขตพื้นที่ผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า ปัญหาของผู้บริโภคภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการซื้อสินค้า และ บริการออนไลน์ ทั้งปัญหาซื้อของไม่ตรงปก ถูกมิจฉาชีพหลอก ผู้บริโภคภาคเหนือ จึงเห็นว่าต้อง ขับเคลื่อนเรื่องการเปิดก่อนจ่ายเนื่องจากเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้ดูสินค้าก่อนจ่าย เราจึงใช้คำว่า เปิดก่อนจ่ายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

“เวลาเราไปซื้อในร้านทั่วไป เราสามารถดูสินค้าก่อนได้ แต่ซื้อของออนไลน์ เราควรจะสามารถเปิดกล่องดูได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องขอเปิดดูของก่อน อยากย้ำให้ผู้บริโภคใช้สิทธิขอเปิดก่อนจ่ายเพื่อสะท้อนไปยังบริษัทขนส่งให้ยอมรับสิทธินี้” ลาภิศกล่าว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเขตพื้นที่ผู้บริโภคภาคเหนือมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำคือขยายเครือข่ายให้มีองค์กรที่เป็นหน่วยประจำจังหวัด 5 หน่วยและหน่วยประสานอีก 2 หน่วยงาน และมีองค์กรสมาชิกระจายได้ 18 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ซื้อของไม่ตรงปก #คอลเซนเตอร์