เสนอยกเลิก “ดัชนีบะหมี่กึ่งฯ” ใช้ “ดัชนีซีพีไอ” คุมทุกราคาสินค้า

สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอรัฐบาล จัดทำค่า ‘ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภค’ หรือ ‘ซีพีไอ’ ให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมราคาสินค้า และควบคุมราคาพลังงานในประเทศ หวังแก้ปัญหาสินค้าแพงในระยะยาว

จากกรณีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยื่นหนังสือถึงกรมการค้าภายใน ขอให้พิจารณาเร่งรัดการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจาก 6 บาทต่อซอง เป็น 8 บาทต่อซอง และกรมการค้าภายในได้ออกมาตอบกลับกรณีดังกล่าวว่า จะมีการพิจารณาอนุญาตปรับราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นราย ๆ ไปนั้น

วันนี้ (19 สิงหาคม 2565) ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นเรื่องมาตรการจัดการปัญหาดังกล่าวในระยะยาว โดยมีข้อเสนอ   2 ข้อคือ 1) เสนอให้กรมการค้าภายใน ทำ ‘ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภค’ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมราคาสินค้าจำเป็นต่าง ๆ และ 2) ควบคุมราคาพลังงานภายในประเทศให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนในการผลิตและขนส่งสินค้าต่าง ๆ

ดร.ไพบูลย์ อธิบายว่า ‘ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภค’ หรือ “ซีพีไอ” (CPI : Consumer price index) เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงราคาอาหารและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวม ซึ่งหลาย ๆ ประเทศใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาราคาสินค้าที่แพงขึ้น

เช่น ในประเทศเยอรมนี จะมีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เฝ้าระวังและจัดทำซีพีไอ เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประกอบในการพิจารณารวมกับเรื่องอัตราเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อออกนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดความชอบธรรมต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

ประธานคณะอนุฯ ด้านสินค้าและบริการ กล่าวอีกว่า การทำดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมการค้าภายใน สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นต้น รวมถึงข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภค และองค์กรภาคเอกชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลจากหลายส่วนมาวิเคราะห์ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยใช้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นเหมือนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในเรื่องราคาสินค้า ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อีกทั้งในความเป็นจริงมีสินค้าหลายรายการที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นรายเดือนหรืออาจจะต้องเฝ้าระวังรายภูมิภาค

“การมีซีพีไอจะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่ทันสมัยทุกเดือนในการดูแลค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าจะมีช่วงที่ค่าซีพีไอลดลง และเมื่อดัชนีลดลงราคาสินค้าก็ควรจะปรับลงตาม แต่ที่ผ่านมา ราคาสินค้าเมื่อขึ้นไปแล้วไม่เคยลดลง เลยเป็นจุดอ่อนของการเฝ้าระวังราคาสินค้าภายในประเทศ” ดร.ไพบูลย์กล่าว

นอกจากข้อเสนอเรื่องค่าซีพีไอแล้ว ประธานคณะอนุฯ ด้านสินค้าและบริการ ระบุว่า เรื่องการควบคุมราคาพลังงานภายในประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากการติดตามข่าวจากต่างประเทศพบว่า ปัจจุบันมีประเด็นที่บริษัทพลังงานอาศัยสภาวะของตลาดขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นการค้ากำไรเกินควร เอาเปรียบผู้บริโภค

จึงเสนอว่ารัฐบาลควรเข้าไปกำกับดูแลบริษัทพลังงานด้วย เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนในการผลิตและขนส่งสินค้า ซึ่งหากสามารถควบคุมราคาพลังงานได้ก็จะทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งในเรื่องการเดินทาง และจะโยงไปถึงเรื่องราคาขนส่งและสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย และรัฐบาลอาจจะมีมาตรการมาช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้า ราคาพลังงานที่แพงขึ้น

สำหรับมาตรการในระยะสั้น ดร.ไพบูลย์ มองว่า กรมการค้าภายในต้องเปิดเผยตัวเลขต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการและพิจารณาการขึ้นราคาดังกล่าวโดยอ้างอิงต้นทุนที่แท้จริง เช่น กรณีที่ระบุเหตุผลในการขึ้นราคาว่าข้าวสาลีปรับราคาสูงขึ้น แปลว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทำจากวัตถุดิบอื่นๆ ก็ไม่ควรปรับราคาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ควรเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ว่าการผลิตสินค้ามีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจริงหรือไม่ โดยไม่ใช่การขึ้นราคาเพื่อเพิ่มกำไรของผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการระยะสั้นได้ที่ : ขึ้นราคา “บะหมี่กึ่งฯ” ต้องโปร่งใส ตรวจสอบที่มาของ “ต้นทุนขึ้นราคา” ได้)

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค