Getting your Trinity Audio player ready... |

อีกแล้ว! ผู้บริโภคร้อง ถูกหลอกขาย บ้านมือสอง ติดจำนอง สภาผู้บริโภคแนะตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ
จากกรณีข่าวที่มีผู้บริโภคถูกหลอกขาย บ้านมือสอง ติดจำนอง ซึ่งเป็นบ้านประมูลของกรมบังคับคดี โดยมีการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และมีเงื่อนไขการซื้อขายที่ดึงดูดความสนใจ เช่น ดาวน์ต่ำ ดอกเบี้ยถูก และใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวก็สามารถซื้อบ้านได้ โดยไม่มีการตรวจสอบประวัติทางการเงินใด ๆ ทำให้ผู้หลงเชื่อจำนวนมาก และมีผู้เสียหายกว่า 100 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท นั้น
ล่าสุด โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งพบว่าบริษัท โฮมเอ็มเอ็มเอ็ม จำกัด บริษัทสตาร์แอทโฮม จำกัด และบริษัท เจแซดดี จำกัด มีพฤติกรรมทำนองเดียวกันกับ บริษัท อีซี่โฮม (ประเทศไทย) จำกัด ที่สภาผู้บริโภคเคยออกข่าวเตือนภัยเมื่อปี 2564
ทั้งนี้ พฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกับบริษัท อีซี่โฮม คือ บริษัทฯ จะประมูลบ้านที่ถูกขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี โดยเป็นบ้านที่ติดจำนอง ซึ่งตามหลักแล้วหลังจากบริษัทประมูลแล้วควรจะชำระหนี้ค่าบ้านที่เหลือให้เรียบร้อยก่อน และเปลี่ยนชื่อหลังโฉนดเป็นของบริษัท แล้วจึงนำมาขายให้กับผู้บริโภครายอื่น ๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ บริษัทประมูลบ้านติดจำนองมาและไม่ได้ชำระหนี้ค่าบ้านส่วนที่เหลือ แต่กลับนำบ้านหลังดังกล่าวมาขายต่อให้ผู้บริโภค โดยมีทั้งกรณีที่ขายให้กับเจ้าของเดิมที่ถูกยึดทรัพย์ และขายให้กับเจ้าของใหม่ พร้อมกับข้อเสนอต่าง ๆ เช่น วางเงินดาวน์เพียง 10% สามารถเข้าอยู่ได้เลย สามารถผ่อนจ่ายรายวันได้ และขั้นตอนการซื้อบ้านนั้นใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่เช็กเครดิตบูโร และประวัติใด ๆ นอกจากนี้ ยังเปิดให้มีการ “เช่าออม” แบ่งจ่ายเป็นค่าเช่าครึ่งหนึ่งและเงินออมครึ่งหนึ่ง โดยสัญญาดังกล่าวจะระบุเงื่อนไขว่า จะโอนกรรมสิทธิ์บ้านให้แก่ผู้บริโภคเมื่อชำระเงินครบถ้วนตามสัญญา
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทฯ ไม่ได้ชำระหนี้ค่าบ้านส่วนที่เหลือ (หนี้จำนอง) แปลว่าหนี้ก้อนเดิมที่เจ้าของเก่ากู้ยืมจากธนาคารยังคงอยู่ และชื่อหลังโฉนดจะยังเป็นชื่อของธนาคาร เมื่อบริษัทนำบ้านหลังดังกล่าวมาขายต่อให้ผู้บริโภค แม้ผู้บริโภคจะจ่ายเงินให้บริษัททุกเดือนแต่บริษัทไม่ได้นำเงินก้อนนั้นไปชำระหนี้กับธนาคาร เมื่อผู้บริโภคได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้จริง ในท้ายที่สุดบ้านหลังดังกล่าวจะถูกธนาคารยึดและขายทอดตลาดอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นสาเหตุที่ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านต่อจากบริษัทจะถูกฟ้องขับไล่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีกรณีที่ผู้บริโภคถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องร้องฐานผิดสัญญา ซึ่งสภาผู้บริโภคได้เข้าไปช่วยเหลือด้านคดีความจนกระทั่งผู้บริโภคชนะคดี
ซื้อ บ้านมือสอง อย่าลืมตรวจสอบ
โสภณให้ข้อแนะนำว่า สำหรับผู้บริโภคที่สนใจจะซื้อบ้านมือสองจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อควรตรวจสอบว่า บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านติดจำนองหรือไม่ โดยสิ่งที่ผู้บริโภคควรทำก่อนตัดสินซื้อบ้านมือสอง คือ การขอสำเนาโฉนดที่ดินจากผู้ขายเพื่อนำมาตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ด้านหน้าโฉนด ตรวจสอบชื่อ-นามสกุลของเจ้าของกรรมสิทธิ์ว่าเป็นบุคคลเดียวกับผู้ขายหรือไม่ หากเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น ต้องตรวจสอบเอกสารการมอบอำนาจ
ส่วนด้านหลังโฉนด (สารบัญจดทะเบียน) ต้องระบุรายการจดทะเบียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับที่ดินแปลงนั้น ๆ หากมีรายการ “จำนอง” หรือ “ขายฝาก” จะปรากฏอยู่บนหลังโฉนด โดยจะระบุชื่อผู้รับจำนอง (เช่น ธนาคาร) และวงเงินจำนองไว้ด้วย อีกวิธีหนึ่งที่ปลอดภัยที่สุด คือการตรวจสอบข้อมูลที่สำนักงานที่ดิน เพราะข้อมูลที่สำนักงานที่ดินจะเป็นข้อมูลล่าสุดและเป็นทางการ
เอกสารที่ต้องเตรียม
เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อขอตวรจสอบข้อมูลที่สำนักงานที่ดิน ได้แก่ 1. สำเนาบัตรประชาชนของคุณ 2. สำเนาทะเบียนบ้านของคุณ 3. สำเนาโฉนดที่ดินที่ได้จากผู้ขาย ในกรณีที่ผู้ขายไม่สามารถไปด้วยตัวเอง ควรขอหนังสือมอบอำนาจจากผู้ขาย พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขายและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขาย ทั้งนี้ หากไม่มีเอกสารมอบอำนาจ ผู้บริโภคสามารถไปขอตรวจสอบข้อมูลโฉนดได้ แต่จะไม่ได้ข้อมูลเชิงลึกบางอย่าง เช่น รายละเอียดวงเงินจำนองทั้งหมด หรือรายละเอียดสัญญา
ขั้นตอนการตรวจสอบ
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบที่สำนักงานที่ดิน มีดังนี้ 1. ไปที่สำนักงานที่ดินประจำจังหวัดหรือสาขาที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ 2. ยื่นคำขอ “ขอตรวจเอกสารสิทธิ์ที่ดิน” หรือ “ขอคัดสำเนารายการจดทะเบียนโฉนดที่ดิน” 3. แจ้งเลขที่โฉนด และ/หรือเลขที่ดิน ที่ต้องการตรวจสอบ 4. เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลในสารบบ (ทะเบียนที่ดิน) ให้คุณ 5. คุณจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ ภาระผูกพันต่าง ๆ เช่น การจำนอง การขายฝาก ภาระจำยอม หรืออายัด ซึ่งจะแสดงวันที่จดทะเบียน และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีการจำนอง บนเอกสารจะระบุชื่อผู้รับจำนอง เช่น ธนาคาร A และวงเงินจำนองที่ระบุไว้ ซึ่งจะช่วยให้คุณทราบว่าที่ดินแปลงนี้ยังติดจำนองอยู่หรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด
โสภณกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมที่ดินมีบริการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นผ่านช่องทางออนไลน์ได้แก่ เว็บไซต์กรมที่ดิน สามารถกรอกเลขที่โฉนดเพื่อค้นหาข้อมูลที่ดินเบื้องต้น เช่น ที่ตั้ง ขนาด และรูปแปลงที่ดิน แต่ข้อมูลภาระผูกพันอาจไม่ละเอียดเท่าการไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินโดยตรง หรือแอปพลิเคชัน LandsMaps (ของกรมที่ดิน) สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android ช่วยให้ค้นหาแปลงที่ดินจากเลขที่โฉนด หรือพิกัด GPS ได้ เพื่อดูข้อมูลรูปแปลงที่ดินและข้อมูลเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันนี้อาจไม่ได้แสดงข้อมูลภาระผูกพันอย่างละเอียดเช่นกัน
ข้อควรระวังและคำแนะนำเพิ่มเติม
1. นอกจากสำเนาแล้ว ผู้บริโภคควรขอดูโฉนดตัวจริงจากผู้ขายด้วย เพื่อเปรียบเทียบกับสำเนาที่ได้มาและตรวจสอบความถูกต้อง หากผู้ขายบ่ายเบี่ยง อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดี
2. แม้ผู้ขายจะยืนยันว่าไม่มีภาระผูกพันใด ๆ ผู้บริโภคก็ควรตรวจสอบด้วยตนเองทุกครั้ง
สำหรับผู้บริโภคที่พบปัญหาในการซื้อบ้าน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถแจ้งเบาะแส ปรึกษา หรือร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภคได้ที่สายด่วน 1502 (วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) หรือร้องเรียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์สภาผู้บริโภค www.tcc.or.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อยากมีบ้าน แต่ไม่ได้บ้าน รวมมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท
เตือนภัยผู้บริโภค หลงเช่าซื้อบ้านไม่ปิดจำนอง เสียหายกว่า 32 ล้านบาท
ผู้บริโภคชนะคดี หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง กรณีอีซี่โฮมฟ้องผู้บริโภคผิดสัญญา
ผู้บริโภคชนะ หลังโดน “อีซี่โฮม” ฟ้องคดีเช่าซื้อ ศาลชี้บริษัทไม่สุจริต